อ.จุฬาฯ งัดข้อกฎหมาย แย้ง ‘วิษณุ’ ปมหยุดปฏิบัติหน้าที่ ยกเคส ‘ธนาธร’ เทียบ ชี้ รธน.60 ไม่ได้กำหนดคุณสมบัตินายกฯ ต้องเป็น ส.ส.

กรณี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เผยถึงประเด็นหากแคนดิเดตนายกฯ คนใดถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ จากกรณีถูกร้องว่ามีลักษณะต้องห้ามการเป็นส.ส. และแคนดิเดตนายกฯ จะนำรายชื่อนั้นไปโหวตนายกรัฐมนตรีไม่ได้ เพราะเมื่อถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่แล้วก็เข้าไปทำหน้าที่ไม่ได้

วันที่ 14 มิ.ย.2566 ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความคิดเห็น ความว่า หลายท่านสอบถามมากรณีของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กับกลไกการตรวจสอบสมาชิกภาพ ส.ส. และการเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี (แคนดิเดตนายกฯ) ว่าเป็นเช่นไร

เพื่อให้ทุกท่านเข้าใจข้อกฎหมาย (รัฐธรรมนูญ) และข้อเท็จจริงที่ถูกต้องไม่คลาดเคลื่อน ผมจึงขออธิบายโดยสรุปเป็นข้อๆ ดังนี้ครับ

1. ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (2560) ไม่ได้มีการกำหนดคุณสมบัติว่าผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (แตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนอย่างฉบับปี 2540 และ 2550)

2. จากข้อ 1. หากปรากฏว่ามีการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพของคุณพิธาว่าสิ้นสมาชิกภาพไปแล้วหรือไม่ (เพราะถือหุ้น itv) และศาลเห็นควรให้มีการหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย (ม.82) จึงย่อมไม่ส่งผลทางกฎหมายกับการเสนอชื่อคุณพิธาต่อรัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกฯ (ม.159)

3. กรณีตามข้อ 2. เคยเกิดขึ้นแล้วกับกรณีคุณธนาธร ขณะนั้นศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่โดยมีการอ่านคำสั่งในวันแรกของการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อลงมติเลือกประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร (25 พ.ค.2562)

ต่อมามีการนัดประชุมรัฐสภาในวันที่ 5 มิ.ย. 2562 เพื่อลงมติเลือกนายกฯ ขณะนั้นมีการเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์และคุณธนาธรในฐานะแคนดิเดตนายกฯ หาได้มีปัญหาทางกฎหมายใดๆ โดยผลการลงมติของรัฐสภา พล.อ.ประยุทธ์ ชนะจนได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ

ดังนั้น ทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงกรณีคุณพิธาหากเกิดขึ้นจึงพึงต้องเป็นเช่นนี้ครับ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน