สนธิญา ร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน ชงศาลรธน. กรณี สส.-สว. ดื้อส่งชื่อ ‘พิธา’ โหวตเป็นนายกฯ แม้รู้แก่ใจว่า ขาดคุณสมบัติ พร้อมระบุเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ ม.159 และ 160 (6)

เมื่อเวลา 11.20 น. วันที่ 9 ส.ค. ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายสนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษากรรมาธิการกฎหมายการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ยื่นหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้พิจารณาและส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยกรณี สส.พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล และพรรคร่วมจำนวน 8 พรรค รวมถึงสว. จำนวน 314 คน เสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล รับการโหวตเป็นนายกรัฐมนตรี ต่อที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 13 ก.ค. และ 19 ก.ค. เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 159 และ 160 (6) หรือไม่

นายสนธิญา กล่าวว่า ที่ต้องมายื่นเนื่องจากก่อนหน้านี้ นายพรชัย เทพปัญญา และนายบุญส่ง ชเลธร นักวิชาการ ได้มายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน และผู้ตรวจฯ ได้มีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา 2563 ข้อที่ 41 ที่ทำให้ไม่สามารถเสนอชื่อนายพิธา เพื่อรับการโหวตเป็นนายกฯ รอบ 2 เพราะเป็นญัตติซ้ำ ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

ตนจึงเห็นว่า เพื่อความเสมอภาค เท่าเทียม จึงขอให้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 4 ขอให้ผู้ตรวจฯ ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย ว่าการที่สมาชิกรัฐสภาทั้ง 314 คน เสนอชื่อนายพิธาเพื่อเข้ารับการโหวตเป็นนายกฯ ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะก่อนหน้านั้น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้มีมติแล้วว่า นายพิธา มีลักษณะต้องห้าม ไม่ให้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสส. ตามมาตรา 98 (3) และเป็นเหตุให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลงตามมาตรา 101(6)

โดยส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และประธานสภาได้แจ้งเรื่องดังกล่าวต่อที่ประชุม นายพิธาก็รับทราบและเดินออกจากห้องประชุม แต่ยังคงเสนอชื่อนายพิธา และดำเนินการโหวต ซึ่งเห็นว่าการกระทำดังกล่าว รัฐธรรมนูญมาตรา 160 (6) เขียนไว้ชัดเจนว่า ผู้ที่จะเป็นรัฐมนตรีต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา 98 จึงเห็นว่าการกระทำของสส.เหล่านี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 159 ประกอบ 160

ประเด็นนี้ร้องเพื่อความเป็นธรรมของทั้ง 2 ฝ่าย เพราะก่อนหน้านี้นักวิชาการ ทั้งนายพรชัย และนายบุญส่ง ร้องว่า การกระทำของสมาชิกรัฐสภา โดยเฉพาะ สว. ที่มีมติว่า การเสนอชื่อนายพิธา รอบสองเป็นญัตติซ้ำ ทำไม่ได้ ตนก็ต้องมาร้องอีกฝ่ายหนึ่ง ที่เสนอชื่อนายพิธา ทั้งที่ขณะนั้นรู้กันหมดแล้วว่า กกต.ประกาศและส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยสถานภาพของนายพิธา แต่ทั้ง สส. และสว.ก็ยังคงเสนอชื่อนายพิธาโหวตในการประชุมทั้งวันที่ 13 และวันที่ 19 ก.ค.

“ดังนั้น ในเมื่อผู้ตรวจฯ ส่งศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับข้อบังคับที่ 41 ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ผมต้องการให้ผู้ตรวจฯ พิจารณาและส่งเรื่องการเสนอชื่อนายพิธา ซึ่งรัฐสภารู้อยู่แล้ว นายพิธา ก็เดินออกไปแล้ว แต่สมาชิกรัฐสภายังตั้งหน้าตั้งตาโหวตอยู่ เหตุการณ์เหล่านี้จึงขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ นับเป็นการตรวจสอบทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งนี้ ตามคำร้องได้ขอให้ผู้ตรวจฯ ขอต่อศาล สั่งให้สส.และสว. ทั้ง 314 คนหยุดปฏิบัติหน้าที่ด้วย ถือว่าเป็นเรื่องปกติของการยื่นร้องในเรื่องลักษณะนี้” นายสนธิญา กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน