เศรษฐา มอบนโยบายงบฯปี 67 เชื่อเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิ วางกรอบบริหารงบประมาณให้เป็นประโยชน์กับประชาชน-ประเทศ และรักษาวินัยการเงินการคลัง

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 2 ต.ค.2566 ที่ห้องรอยัล จูบิลี่ บอลรูม อาคารชาเลนเจอร์ ชั้น 1 อิมแพ็ค เมืองทองธานี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวเปิดโครงการประชุมสัมมนาการมอบนโยบายและแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ว่า รัฐบาลเข้ามาบริหารในช่วงที่ประเทศเผชิญกับความท้าทาย ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ได้รับผลกระทบทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ ปัญหาโควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้า

ในระยะสั้น รัฐบาลให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูรายได้ ด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 67 อัดฉีดเม็ดเงิน 5.6 แสนล้านบาท เข้าไปในระบบกระตุ้นทั้งอุปสงค์-อุปทาน ในวลา 6 เดือนทำให้เกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจ ซึ่งครม.ได้ตั้งคณะกรรมการที่มาดูแลทุกด้าน ทั้งการพัฒนาแอพพลิเคชัน การหาแหล่งเงิน การกำหนดกฎระเบียบและได้ใช้แน่นอนภายใน ก.พ.นี้

นายกฯกล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2567 การใช้จ่ายภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการดำเนินนโยบายของรัฐให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และแผนต่างๆ ให้บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนด รัฐบาลจะมีเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เป็นวงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท ตนตั้งใจที่จะบริหารจัดการการคลังด้วยความรอบคอบ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และรักษาวินัยและเสถียรภาพทางการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้ ได้วางแผนใช้จ่ายงบประมาณปี 67 วางกรอบความสำคัญ 5 ข้อ 1.ขอให้จัดทำงบและเบิกจ่ายงบประมาณตามนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงต่อสภาไป และคำนึงถึงกรอบกฎหมายและวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด ขอให้ทุกหน่วยงานพิจารณา อะไรที่ทำได้ขอให้ทำไปก่อน แต่อย่าลืมเรื่องความถูกต้องตามกระบวนการ

2.ขอให้ทุกหน่วยงานทำงานกันอย่างบูรณาการ วางแผนงบไม่ให้ซ้ำซ้อนกัน หลายโครงการในอดีตที่เคยทับซ้อนกัน อย่าให้เกิดภาพแบบนั้นอีกภายในรัฐบาลนี้ 3.ขอให้วางแผนและจัดทำงบอย่างมีประสิทธิภาพ และมีประสิทธิผล คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของรัฐ และคำนึงถึงวินัยการเงินการคลัง การทำแผนงานหรือโครงการ ทำตามความจำเป็นเร่งด่วน และสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน คำนึงถึงวินัยการเงินการคลังด้วย นโยบาย แผนงานใดที่ทำได้โดยไม่ต้องใช้งบประมาณ ก็เริ่มดำเนินการได้เลย

ขอให้ทำงบแบบฐานศูนย์ หรือ Zero-based โดยเฉพาะรายจ่ายลงทุนที่จะต้องมีรายละเอียดให้ชัดเจน และตนขอให้ทุกหน่วยงานนำระบบดิจิทัลมาใช้ทำงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิผล และเพิ่มความโปร่งใสในการทำงาน ทำให้ประชาชนเห็นว่าเงินภาษีของพวกเขา ถูกใช้จ่ายอย่างคุ้มค่าทุกบาท ทุกสตางค์

4.โครงการ แผนงาน ต่างๆ จะต้องมีตัวชี้วัด (KPI) หรือมีเป้าหมาย ที่ก่อให้เกิดผลดีกับประชาชน หรือเกิดผลเชิงบวกทางเศรษฐกิจ ตนไม่สนับสนุนการทำงานที่ไม่ก่อให้เกิดผลให้ประเทศ ประชาชน เพราะจะนำภาษีประชาชนไปละลายแม่น้ำซะเปล่าๆ ไม่สนับสนุนการนำงบไปทำอะไรที่ไม่มีเป้าหมาย ไม่มีจุดประสงค์ที่จับต้องได้ ไม่มีความชัดเจน

ฉะนั้น ขอให้พิจารณาลดแผนงานหรือโครงการต่างๆ ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป หรือถ้าเป็นไปได้ก็ยกเลิกแผนงานหรือโครงการ ที่ไม่มีความชัดเจนไป เพื่อให้การใช้งบอย่างตรงเป้าหมายและประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ นำงบประมาณไปใช้ทำโครงการอื่นที่เกิดผลเชิงบวกต่อไป

5.ขอให้จัดทำแผนการใช้จ่ายโดยพิจารณาให้ครบทุกแหล่งเงินทุน ทั้งเงินนอกงบ และเงินงบ หลายหน่วยงานที่มีเงินนอกงบประมาณ เช่น รายได้ เงินสะสม ขอให้นำมาใช้ดำเนินภารกิจก่อน และขอให้ช่วยกันลดภาระงบประเทศ โดยพิจารณาการใช้เงินแหล่งอื่นๆ เช่น การร่วมมือกับภาคเอกชน หรือเครื่องมือทางการเงินอื่นๆ เป็นต้น

นายกฯ กล่าวด้วยว่า ทุกท่านที่อยู่ในที่นี้ล้วนเป็นตัวแทนจากภาครัฐทั้งหมด เราทุกคนมีส่วนร่วมที่จะต้องช่วยกันดูแลสถานะ ความมั่นคงของการเงินการคลังในระยะยาว ถึงแม้งบปี 67 จะล่าช้า แต่ขอให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดการเบิกจ่าย โดยอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย มีความระมัดระวัง อย่าให้เศรษฐกิจสะดุด

ฉะนั้น ในการทำงบปีนี้ ขอให้ทุกหน่วยงาน พิจารณาประเด็นสำคัญทั้ง 5 ข้อ ได้แก่ 1.ทำงบตามนโยบายที่สัญญากับประชาชน 2.ทำอย่างบูรณาการ ลดความซ้ำซ้อน 3.ทำอย่างมีประสิทธิภาพและรักษาวินัยการเงินการคลัง 4.ทำอย่างมีตัวชี้วัดและเป้าหมาย 5.ทำให้ครบทุกแหล่งเงินทุน และยึดวินัยการเงินการคลัง

ขอให้จัดส่งให้สำนักงบประมาณภายในวันที่ 6 ต.ค.นี้ ขอให้ทุกท่านวางแผนงบให้มีสิทธิภาพ เพื่อจะได้ใช้ภาษีของประชาชนทุกบาท ทุกสตางค์ อย่างคุ้มค่า เกิดประโยชน์ต่อคนไทยทุกคน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน