ก้าวไกล เปิดแคมเปญ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน จ่อเข้าสภาฯ 28 ก.พ.นี้ ทำงาน 40 ชม./สัปดาห์ พักร้อน 10 วัน/ปี ปรับค่าแรงตามเงินเฟ้อโดยอัตโนมัติ

วันที่ 23 ก.พ. 2567 ที่บริเวณสกายวอล์ก สถานีรถไฟฟ้าช่องนนทรี เครือข่ายแรงงานพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย สส.พรรคก้าวไกล นำโดย นายสหัสวัต คุ้มคง สส.ชลบุรี น.ส.พุธิตา ชัยอนันต์ สส.เชียงใหม่ น.ส.ธิษะณา ชุณหะวัน สส.กทม. นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สส.กทม. น.ส.ทิสรัตน์ เลาหพล สส.กทม. และ น.ส.วรรณวิภา ไม้สน สส.บัญชีรายชื่อ ร่วมแจกเอกสารและรณรงค์สร้างความเข้าใจต่อร่างแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ที่พรรคก้าวไกลได้ยื่นต่อสภาผู้แทนราษฎรและจะเข้าสู่การพิจารณาในวันที่ 28 ก.พ.นี้

บรรยากาศการรณรงค์เป็นไปอย่างคึกคัก สส.พรรคก้าวไกลและทีมงานร่วมกระจายตัวกันไปแจกเอกสาร พูดคุยกับประชาชนที่สัญจรผ่านไปมาหลังเลิกงานตามจุดต่างๆ บนสกายวอล์ก พร้อมทั้งปราศรัยประชาสัมพันธ์เนื้อหาของกฎหมายและสิทธิแรงงานที่จะได้รับการคุ้มครองมากขึ้น โดยมีประชาชนที่สนใจรับเอกสารไปอ่านจำนวนมาก บ้างก็เข้ามาพูดคุยซักถาม สส.และทีมงานถึงรายละเอียดในร่างฯ ดังกล่าวน.ส.วรรณวิภา กล่าวว่า ร่างแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครอบแรงงานฉบับพรรคก้าวไกลกำลังจะเข้าสู่วาระการพิจารณาในวันที่ 28 ก.พ.นี้ ซึ่งเป็นการแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ที่ไม่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมานานกว่า 20 ปี โดยสาระสำคัญหลักคือการปรับเงื่อนไขต่างๆ ให้สอดคล้องกับรูปแบบการจ้างงานที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนนิยามการจ้างงานให้ครอบคลุมคนทำงานทุกคน

“การลดชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์ที่กฎหมายอนุญาตจาก 48 ชั่วโมงเป็น 40 ชั่งโมง การเพิ่มวันลาพักร้อนเป็น 10 วันต่อปี การปรับเงื่อนไขการจ้างงานจากรายวันให้เป็นแบบรายเดือน การไม่เลือกปฏิบัติตามเชื้อชาติ และการปรับค่าแรงขั้นต่ำตามเงินเฟ้อทุกปีโดยอัตโนมัติ เป็นต้น”น.ส.วรรณวิภา กล่าวอีกว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้จะยกระดับคนทำงานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตอบโจทย์กับรูปแบบการทำงานในปัจจุบันมากขึ้น จึงขอเชิญชวนประชาชนให้ร่วมกันติดตามการอภิปรายของ สส.พรรคก้าวไกล และ สส.ทุกคนในสภาฯ วันพุธหน้า โดยหวังว่าสภาฯ จะรับหลักการร่างกฎหมายฉบับนี้ เพื่อพี่น้องคนทำงานทุกคน

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับก้าวไกล มีสาระสำคัญ 9 ข้อ ได้แก่

1. คนทำงานทุกคนคือแรงงาน: เปลี่ยนนิยาม “ลูกจ้าง” ให้ครอบคลุมทุกรูปแบบการจ้างงาน รวมถึงอาชีพไรเดอร์ ฟรีแลนซ์ และแรงงานอิสระ เพื่อให้แรงงานทุกคนได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน

2. รายเดือน = 30 วัน: “การจ้างงานรายเดือน” ลูกจ้างต้องได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน รวมถึงค่าจ้างในวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณี วันหยุดพักผ่อนประจำปี และวันลาป่วยตามกฎหมายกำหนด ทั้งนี้ หนึ่งเดือนหมายถึงเวลา 30 วัน

3. เปลี่ยนรายวันเป็นรายเดือน: ในสถานประกอบการที่มีทั้งการจ้างงานรายวันและรายเดือน ผู้จ้างจะต้องจ้างเป็นรายเดือนทั้งหมด โดยไม่เลือกปฏิบัติ

4. เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำทุกปีอัตโนมัติ: กำหนดหลักเกณฑ์การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยต้องไม่ต่ำกว่าอัตราค่าเงินเฟ้อ เช่น หากได้รับค่าแรง 400 บาท อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 3% จะได้รับค่าแรง 412 บาทอัตโนมัติ โดยไม่ต้องรอการประชุมไตรภาคี

5. ทำงาน 40 ชั่วโมง หรือ 5 วันต่อสัปดาห์: เวลาทำงานรวมทั้งสิ้นของลูกจ้างต้องไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หากเกินต้องได้เงินค่าทำงานนอกเวลา (OT) และนายจ้างต้องจัดให้มีวันหยุดประจำสัปดาห์ไม่น้อยกว่า 2 วัน

6. ลาหยุด 10 วันต่อปี สะสมได้: ให้ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาแล้วครบ 120 วัน มีสิทธิ์ลาหยุดพักผ่อนประจำปีได้ปีหนึ่งไม่น้อยกว่า 10 วันทำงาน

7. ลาดูแลผู้ป่วย: ลูกจ้างมีสิทธิ์ลาไปดูแลบุคคลในครอบครัว หรือบุคคลที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดปีละไม่เกิน 15 วันทำงาน

8. พื้นที่ปั๊มนมในที่ทำงาน: สถานที่ทำงานต้องมีพื้นที่ที่เหมาะสมและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จำเป็นในการให้นมบุตร หรือบีบเก็บน้ำนมในที่ทำงาน

9. ห้ามเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน: นายจ้างต้องปฏิบัติต่อลูกจ้างอย่างเท่าเทียม ไม่กีดกัน แบ่งแยก จำกัดสิทธิ์ ทั้งจากความแตกต่างทางถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ความพิการ หรือความเห็นทางการเมือง

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน