ชี้‘ปู’ขู่ฟ้องเป็นสิทธิ คลังโยน‘วิษณุ’แจง โรงสีพิจิตรยันทุกโรงรับซื้อข้าว โต้ลั่นข่าวไม่รับซื้อ บิ๊กป้อมปลื้มผลโพล ระบุประชาชน เชื่อมั่นรัฐบาล วอนทุกฝ่ายเชื่อมั่นด้วย สนช.สัมมนาเตรียมร่างกม.ลูก กรธ.ย้ำอีกไม่คิดรีเซ็ตองค์กรอิสระ ส่วนคุณสมบัติกกต.ต้องเป็นไป ตามรธน.

201611121440262-20041020141203

โรงสีพิจิตรลั่นรับซื้อข้าวทุกโรง

เมื่อวันที่ 14 พ.ย. ที่จ.พิจิตร นางมิ่งขวัญ พุกเอี่ยม ประธานโรงสีข้าวจังหวัดพิจิตร เปิดเผยว่า กรณีมีกระแสข่าวว่าโรงสีในจังหวัดพิจิตรไม่รับซื้อข้าวนั้น ยืนยันว่าโรงสีข้าวในพิจิตรเปิดรับซื้อข้าวทุกโรง ซึ่งข้าวหอมมะลิเกวียนละ 6,500 บาท ข้าวกข.15 เกวียนละ 6,000 บาท โดยโรงสีรับซื้อตามสภาพข้าว ส่วนเรื่องตาชั่งของโรงสีในพิจิตร ตอนนี้ไม่มีปัญหา ทุกโรงสีมีการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ ชั่ง ตวง วัด ของพาณิชย์จังหวัดทุกโรงสี ส่วนที่มีชาวนาจะมาฝากข้าวกับโรงสีนั้น ไม่สามารถรับฝากข้าวได้ เพราะผิดระเบียบ ซึ่งเกษตรกรคนไหนมียุ้งฉาง ก็จะเก็บเอาไว้ ชาวนาคนไหนไม่มี ก็จะขายสด ซึ่งส่วนใหญ่ชาวนาจะขายสดกันทั้งนั้น

นางมิ่งขวัญกล่าวว่า หากท่าข้าวจุดไหนไม่รับซื้อข้าวจากชาวนา หรือชาวนาไม่มีที่ขาย ให้มาขายที่โรงสีโดยตรงเลย อย่าไปฟังคนนั้นคนนี้ว่าโรงสีไม่รับซื้อข้าว ตนในฐานะประธานโรงสีข้าวยืนยันว่าโรงสีในพิจิตรยังเปิดรับซื้อข้าวตลอดเวลา ซึ่งปีนี้ชาวนาในพิจิตรทำข้าวหอมมะลิกันเยอะมาก ข้าว กข.15 ทำกันน้อย

ชาวนายังเรียกร้องช่วยเหลือ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การรับซื้อข้าวในพื้นที่พิจิตร ขณะนี้รับซื้อข้าวตามสภาพข้าว ซึ่งแต่ละท่าข้าวกับโรงสี ราคารับซื้อข้าวจะแตกต่างกัน เช่น ท่าข้าวที่ อ.สากเหล็ก รับซื้อเกวียนละ 5,400-5,800 บาท ในเขต อ.เมืองพิจิตร 5,400-5,600 บาท ส่วนบางพื้นที่ที่เกิดปัญหา ทราบว่ามีการเก็บเกี่ยวแล้ว และขายได้ในราคาเกวียนละ 6,000 บาท ขึ้นอยู่ตามสภาพข้าวที่เกษตรกรขาย

ด้านนายปิยะ วงศ์ลือชา รองผู้ว่าฯพิจิตร รับหนังสือเรียกร้องจากนายอำนาจ เถียรอ่ำ กำนันต.เนินมะกอก พร้อมตัวแทนเกษตรกร 4 คน ที่ขอให้ช่วยเหลือชาวนา เนื่องจากมีรายชื่อซ้ำซ้อนในการช่วยเหลือรอบที่ 2 เกษตรกรบางคนจึงยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ โดยนายปิยะรับปากจะตรวจสอบอีกครั้ง

201611121440263-20041020141203

เดียร์จี้ทหาร-ปชป.ช่วยชาวนา

น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ถึงการขายข้าวของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯว่า สิ่งที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทำเป็นเพียงส่วนเล็กๆ เพื่อช่วยระบายข้าว ให้ชาวนาได้เจอกับผู้บริโภคโดยตรงโดยไม่ผ่านคนกลาง ปริมาณข้าวที่นำมาขายถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณข้าวทั้งหมดที่มีอยู่ในตลาด จึงไม่ทำให้กลไกราคาตลาดเสีย ทำเพื่อชาวนา อีกทั้งหลังจากน.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อช่วยเหลือชาวนาแล้ว เหมือนเป็นแรงผลักดันให้หลายๆ ภาคส่วนที่กลัวน้อยหน้า ต้องรีบหาวิธีเพื่อช่วยเหลือชาวนาเช่นกัน ไม่เว้นแม้แต่รัฐบาลทหารหรือพรรคประชาธิปัตย์

“คนที่วิพากษ์วิจารณ์น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถ้ามีวิธีที่ช่วยชาวนาได้ดีกว่านี้ และชาวนาได้รับประโยชน์สูงสุด ก็ให้รีบทำ หรือแท้จริงที่วิพากษ์วิจารณ์นั้นเพราะต้องการแสดงถึงความอิจฉาริษยาที่มีต่อนายกฯที่มาจากประชาชนและยังคงเป็นที่รักของคนไทยจำนวนมาก” น.ส.ขัตติยากล่าว

คลังโยน‘วิษณุ’แจงปม‘ปู’ขู่ฟ้อง

วันเดียวกัน นายประภาศ คงเอียด รองปลัดกระทรวงการคลัง หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านรายได้ ให้สัมภาษณ์ถึงทีมทนายของน.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ระบุในท้ายคำร้องที่จะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองจะยื่นฟ้องนายกฯ รองนายกฯ รมว.คลัง และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการออกคำสั่งปกครองเรียกค่าเสียหายโครงการจำนำข้าวจากน.ส. ยิ่งลักษณ์ 3.5 หมื่นล้านบาท ว่า ถือเป็นสิทธิ์ในการฟ้องกรณีดังกล่าว แต่ยืนยันว่าการดำเนินงานของกระทรวงการคลังทำตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างถูกต้องแล้ว

นายประภาศกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา อดีต นายกฯ เคยส่งหนังสือให้ส่วนราชการ รวมทั้งกระทรวงการคลังให้เพิกถอนคำสั่งเรียกค่าเสียหาย โดยกระทรวงการคลังไม่ได้ดำเนินการตาม เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่าน.ส. ยิ่งลักษณ์ได้ส่งหนังสือให้กับหลายหน่วยงาน โดยกระทรวงการคลังได้รวบรวมข้อมูล พร้อมความเห็นทางกฎหมายให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯพิจารณาแล้ว ซึ่งเรื่องทั้งหมดรองนายกฯ จะเป็นผู้ให้ข้อมูล

ก.เกษตรฯเตรียมรับ‘ตู่’บุกเยี่ยม

รายงานข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แจ้งว่า จากกรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เดินทางไปตรวจเยี่ยมกระทรวงต่างๆ โดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และมีข่าวว่าจะมาตรวจเยี่ยมกระทรวงเกษตรฯ ตั้งแต่เวลา 08.30 น. วันที่ 14 พ.ย. ข้าราชการระดับสูงทุกกรม ตั้งแต่ปลัดกระทรวง รองปลัดกระทรวง หัวหน้าผู้ตรวจราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์การมหาชนในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ได้เดินทางมาเตรียมความพร้อมเพื่อต้อนรับพล.อ. ประยุทธ์ ตามหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 10 พ.ย.2559 จากพล.อ.ประสาท สุขเกษตร เลขานุการรมว.เกษตรฯ เรื่องการตรวจราชการของนายกฯ เพื่อตรวจเยี่ยมความคืบหน้าของงาน ขอบคุณและให้กำลังใจข้าราชการ และทบทวนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รวมถึงเรื่องกฎหมาย โดยให้ข้าราชการเตรียมพร้อมรายงานความคืบหน้า และให้เจ้าหน้าที่เคลียร์สถานที่จอดรถไว้ ทั้งในวันที่ 14 พ.ย., 16 พ.ย. และ 17 พ.ย.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับวันนี้ พล.อ. ประยุทธ์ไม่ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมแต่อย่างใด ขณะที่พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรฯ ปฏิเสธที่จะตอบคำถามถึงการเดินทางมาตรวจเยี่ยมกระทรวงเกษตรฯ ของนายกฯ

ป้อมปลื้มโพลชี้คนเชื่อมั่นรบ.

ที่กระทรวงแรงงาน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังไปตรวจเยี่ยมกระทรวงแรง งาน และมอบนโยบายแก่ผู้บริหารระดับสูง ถึงซูเปอร์โพลที่สำรวจพบประชาชนเชื่อมั่นรัฐบาล ว่า ผลโพลออกมาก็ชัดเจนว่าประชาชนยังเชื่อมั่นในรัฐบาล ขณะนี้ตนและนายกฯ ลงพื้นที่ไหนก็พบว่าประชาชนต้อนรับดี ประชาชนต้องการความสงบสุข อยากให้บ้านเมืองสงบ

“อยากให้ทุกฝ่ายร่วมกันทำให้บ้านเมืองสงบ อยากให้สื่อมวลชนมีความคิดเหมือนประชาชนคือเชื่อมั่นในรัฐบาล อะไรที่ไม่จริงก็อย่าไปโยงหรือเขียนให้เป็นประเด็น ต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่เพื่อบ้านเมือง อะไรดีก็ดี อะไรไม่ดีก็ว่าไม่ดี แต่ขอให้เป็นเรื่องจริง” พล.อ. ประวิตรกล่าว

ร้อง‘ตู่’ชะลอแผนคุ้มครองศาสนา

ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) สมาชิกสมาคมสหพันธกิจคริสเตียนไทยจำนวน 60 คน นำโดยนายสุรพล บุญประถัมภ์ นายกสมาคมพร้อมด้วยนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. เพื่อขอความเป็นธรรมกรณีคสช. มีคำสั่งที่ 49/2559 เรื่อง มาตรการอุปถัมภ์และคุ้มครองศาสนาต่างๆ ในประเทศไทย โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และองค์กรศาสนาต่างๆ ร่วมกำหนดมาตรการและกลไกส่งเสริมความเข้าใจอันดีและความสมานฉันท์ของศาสนิกชนของทุกศาสนา

นายสุรพลกล่าวว่า กรมการศาสนาซึ่งเป็นหน่วยงานต้นเรื่อง ได้เชิญผู้แทนองค์กรศาสนาคริสต์เพียง 5 องค์กร เข้าร่วมประชุมเพื่อจัดทำร่างดังกล่าว และไม่ได้เชิญองค์กรศาสนาคริสต์อื่น อ้างว่าทางราชการไม่ได้รับรอง จึงเห็นว่าไม่เป็นธรรมและไม่ถูกต้อง ขอให้นายกฯ สั่งการให้กรมการศาสนาเชิญหรือเรียกให้องค์กรศาสนาคริสต์อื่นที่ทางราชการรับรองตามกฎหมายนอกเหนือจาก 5 องค์กรได้มีส่วนร่วมจัดทำร่างแผนหรือมาตรการ และกลไกส่งเสริมความเข้าใจอันดี และความสมานฉันท์ของศาสนิกชนทุกศาสนา ตามเจตนารมณ์ของคำสั่ง คสช.ที่ 49/2559 และชะลอการนำร่างแผนการอุปถัมภ์คุ้มครองศาสนาต่างๆ เข้าสู่การพิจารณาของครม.ในวันที่ 15 พ.ย.ไว้ก่อน พร้อมขอให้ภาครัฐเชิญองค์กรศาสนาคริสต์อื่นที่ราชการให้การรับรองตามกฎหมาย ได้เข้าร่วมประชุมเพื่อจัดทำร่างแผน ซึ่งกลุ่มเห็นว่าหากที่ประชุม ครม.มีมติพิจารณาไปแล้วจะทำให้แก้ไขได้ยากยิ่งขึ้น

วิษณุชี้กกต.ต้องยึดตามกม.ระบุ

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ระบุคุณสมบัติคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ยึดตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกกต.ฉบับใหม่ว่า ตนไม่ทราบรายละเอียด ทราบจากสื่อเท่านั้น ซึ่งไม่ได้ยกเว้นสำหรับใคร ใครที่คุณสมบัติไม่ครบตามที่เขียนไว้ก็อยู่ไม่ได้

เมื่อถามว่าหากกกต.ชุดเดิมมาด้วยคุณสมบัติที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญปี 2550 จะทำอย่างไร นายวิษณุกล่าวว่า “ไม่ได้สำคัญตรงส่วนนั้น แต่ต้องดูในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และกฎหมายลูกขององค์กรนั้นๆ ว่าเป็นอย่างไร ซึ่งตามกฎหมายเขียนได้ 2 แบบ คือ ที่แล้วมาให้แล้วไป ไม่ย้อนหลัง หรือใช้บังคับทันที”

เมื่อถามว่าหากให้ยึดของใหม่ กกต.ชุดเดิมจะต้องพ้นไปหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ตนไม่ทราบว่าเป็นใครและคุณสมบัติข้อไหน และรัฐธรรมนูญไม่มีบทเฉพาะกาลเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ บอกเพียงว่าผู้ที่อยู่ในองค์กรอิสระให้ดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะมีกฎหมายลูกออกมา ซึ่งกฎหมายลูกมี 2 ส่วน คือ ยึดรัฐธรรมนูญโดยเคร่งครัด ไม่ว่ามาจากไหนหากคุณสมบัติไม่ครบก็ต้องพ้น กับยกเว้นไว้ให้หากมาโดยถูกต้องตามของเก่า ก็อยู่จนครบเทอม แต่คนจะมาเพิ่มเติมต้องยึดตามของใหม่

สนช.สัมมนาร่างกม.ลูก

ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญพิจารณาศึกษา เสนอแนะและรวบรวมความเห็น เพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่หนึ่ง เป็นประธาน จัดสัมมนาเรื่องการเตรียมความพร้อมพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 1/3 โดยมีนายอภิชาต สุขัคคานนท์ รองประธานกรธ. คนที่สอง และนายนรชิต สิงหเสนี โฆษกกรธ. ชี้แจงเจตนารมณ์ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยกกต.และร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง ให้สนช.รับทราบข้อมูล

นายอภิชาตกล่าวถึงรายละเอียดร่างพ.ร.บ.ว่าด้วย กกต.ว่า มี 67 มาตรา มีของใหม่คือกำหนดให้คุณสมบัติกกต.เข้มข้นขึ้น เช่น ต้องดำรงตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ เทียบเท่าระดับอธิการบดี อัยการ ผู้พิพากษา ติดต่อกัน 10 ปี ในทางวิชาการต้องอยู่ในระดับศาสตราจารย์ไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือมีประสบการณ์บริหารงานการเลือกตั้งมาไม่น้อยกว่า 20 ปี โดยประสบการณ์แต่ละด้านสามารถนับรวมเวลากันได้ ส่วนอำนาจหน้าที่ที่ปรับใหม่ เช่น ให้กกต.เพียง 1 คนสามารถสั่งนับคะแนนใหม่ หรือสั่งระงับการเลือกตั้งได้ทันที หากพบว่าไม่สุจริตยุติธรรม นายทะเบียนพรรคให้เปลี่ยนจากกกต. เป็นเลขาธิการกกต. สำหรับผู้ตรวจการเลือกตั้งจังหวัด จะมี 5-7 คน แล้วแต่ความจำเป็นในแต่ละพื้นที่ โดย 2 คน มาจากคนในพื้นที่ ส่วนที่เหลือมาจากการสุ่มว่า ใครจะต้องลงพื้นที่ใดบ้าง มีอำนาจเฉพาะช่วงมีเลือกตั้ง ไม่มีเงินเดือน มีแต่เบี้ยเลี้ยงและค่าเดินทาง

กรธ.ยันไม่คิดรีเซ็ตองค์กรอิสระ

นายนรชิตกล่าวว่า ในร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง กรธ.ไม่มีแนวคิดการรีเซ็ต เช่นเดียวกับคณะกรรมการองค์กรอิสระ กรธ.ก็ไม่มีแนวคิดเรื่องนี้ ภาพรวมของกฎหมายพรรคคือ ทำให้จัดตั้งง่ายขึ้น สำหรับเจตนารมณ์ ขอให้สนช.ดูในบทเฉพาะกาลคือ ให้พรรคจดทะเบียนตามกฎหมายพรรค การเมืองปี 2550 ยังอยู่ แต่ต้องมีจำนวนสมาชิก สาขาพรรค และตัวแทนสมาชิกประจำจังหวัด ครบตามที่กฎหมายกำหนด และมีทุนประเดิมแรกเริ่มคือ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคลงขันคนละอย่างน้อย 2,000 บาท แต่รวมแล้วไม่เกิน 500,000 บาท ให้เสร็จภายใน 90 วัน นับแต่กฎหมายบังคับใช้ หากไม่ดำเนินการ หรือไม่ทัน มีโทษยุบพรรค

จากนั้นสมาชิกสนช.ได้ซักถาม โดยนาย ทวีศักดิ์ สูทกวานทิน ถามถึงเจตนารมณ์ของ กรธ. เมื่อส่งตัวร่างอย่างเป็นทางการมาจะมีการระบุให้ชัดหรือไม่ว่าส่วนไหนแก้ได้หรือแก้ไม่ได้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจ จะได้ไม่เกิดปัญหาจนต้องตั้งกมธ.ร่วม และกรณีคุณสมบัติของ กกต.ชุดปัจจุบันจะชี้ขาดอย่างไร ซึ่งกกต. บางคนมาทางวิชาการ ตามรัฐธรรมนูญฉบับเดิม แต่ไม่ตรงกับหลักของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่มีคุณสมบัติด้านอื่น คือประสบการณ์จาก ภาคประชาสังคม จะโอนมาแทนเพื่ออยู่ต่อได้หรือไม่

คุณสมบัติ‘กกต.’ต้องไม่ขัดรธน.

นายนรชิตชี้แจงว่า จะนำข้อสังเกตไปให้ที่ประชุมกรธ.พิจารณาว่าการส่งมอบร่างกฎหมายลูกจะกำหนดประเด็นหลักการสำคัญมาให้สนช.ด้วยหรือไม่ เพื่อให้เข้าใจตรงกัน ส่วนคุณสมบัติกกต. ส่วนตัวเห็นว่า ถ้าขัดกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ต้องพ้น โดยกรธ.กำหนดให้คณะกรรมการสรรหากรรมการองค์กรอิสระตามมาตรา 203 ทำหน้าที่สรรหาเพิ่มอีก 2 คน ให้ครบ 7 คน แล้ววินิจฉัยว่ากกต.เดิมมีใครขัดคุณสมบัติหรือไม่ ถ้าชี้ว่าขัด ก็อยู่ทำหน้าที่จนกว่าจะสรรหากกต.คนใหม่มาแทน หากจะโอนคุณสมบัติ เข้าใจว่าอาจทำได้ แต่จะกระทบสัดส่วนที่มีการโอนมาแทน

ส่วนายอภิชาตกล่าวว่า บทเฉพาะกาล กฎหมายกกต.กำหนดให้ กกต.ที่มีอยู่ตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 กำหนดให้ อยู่ต่อสำหรับผู้ที่มีคุณสมบัติไม่ขัดกับฉบับใหม่ ยืนยันว่าร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับจะถึงมือสนช.ในวันรุ่งขึ้นหลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้แน่นอน

สนช.ซักยิบอำนาจถอดถอน

ขณะที่พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร ถามในประเด็นอำนาจยุบพรรค การถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตลอดจนมติถอดถอนอดีตส.ส.และอดีตรัฐมนตรีของสนช. ที่ดำเนินการตามสำนวนของป.ป.ช.จะมีผลอย่างไร

โดยนายนรชิตกล่าวว่า อำนาจถอดถอนจะไม่มีในสภาสูงสภาล่าง แต่เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนมติของสนช. จะนำไปหารือหาข้อชัดเจนกับกรธ.อีกครั้ง ตนนึกไม่ถึงว่า สนช.จะถามละเอียดขนาดนี้

สุรชัยชี้ 3 ข้อจำกัดสนช.

ต่อมาเวลา 11.30 น. นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย บรรยายหัวข้อ “กระบวนการตราพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ” ว่า สนช.ต้องดำเนินการตามมาตรา 267 ของรัฐธรรมนูญ โดยมีข้อสังเกตให้สมาชิกสนช.เตรียมความพร้อมต่อเวลา 60 วันซึ่งเป็นข้อจำกัด 3 ข้อคือ 1.คณะกมธ.วิสามัญต้องมี 10 คณะ สำหรับกฎหมายลูก 10 ฉบับ

2.องค์ประกอบของกมธ. ให้แต่ละคณะมี 30-35 คน มาจาก สนช. แบ่งเป็นสมาชิกที่แสดงเจตจำนง โดยกมธ.รวบรวมความเห็นฯ จะให้สมาชิกเลือกว่ามีส่วนร่วมกับกมธ.กฎหมายลูกฉบับไหนในวันที่ 17 พ.ย.นี้ ตัวแทนจากกมธ.รวบรวมความเห็นฯ และตัวแทนจากวิปสนช. ส่วนครม. สปท. กรธ. ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนจากองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง เบื้องต้นจะให้มีสัดส่วนรวมกันคิดเป็น 1 ใน 5 ของจำนวนกมธ.วิสามัญ หรือ 6-7 คน แต่ต้องรอความชัดเจนจากการแก้ไขข้อบังคับการประชุมสนช.ฉบับใหม่ ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติอีกครั้ง

ขาดประชุมเท่ากับไม่เห็นชอบ

นายสุรชัยกล่าวว่า 3.การทำงานที่มีเวลาจำกัด กมธ.วิสามัญแต่ละคณะ จะทำหน้าที่เหมือนกันคือ จะให้แปรญัตติและเชิญผู้มาชี้แจง ทำในระหว่างการลงพื้นที่เก็บตัวของ กมธ.แต่ละคณะ เพื่อให้การทำงานต่อเนื่อง ส่วนสถานที่และเวลาจะแจ้งให้ทราบต่อไป ทั้งนี้ กระบวนการพิจารณากฎหมายลูกจะแตกต่างจากกฎหมายทั่วไปคือ มติที่จะใช้เห็นชอบวาระ 3 ต้องมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ ไม่ใช่สมาชิกที่อยู่ในการประชุม คือ 126 เสียง จาก 250 เสียง หากสมาชิกคนใดขาดหรือลาในวันนั้น ก็เสมือนกับการไม่เห็นชอบร่างกฎหมายที่สนช.พิจารณา

นายสุรชัยกล่าวว่า แต่หาก กรธ. ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง เห็นว่า สนช.ปรับแก้ขัดเจตนารมณ์ของกรธ. ก็ต้องตั้งกมธ.ร่วม ระหว่างสนช. กรธ. และประธานองค์กรที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสนอความเห็นว่ากฎหมายลูกฉบับนั้นควรเป็นอย่างไร หากสนช.จะตีตกความเห็นกมธ.ร่วม จะต้องใช้เสียง 2 ใน 3 หรือ 167 เสียงขึ้นไป แต่หลังจากนั้นจะให้กลับไปใช้กฎหมายตามที่สนช.เห็นชอบวาระ 3 หรือไม่ กรธ.ไม่ได้กำหนดไว้ในบท เฉพาะกาล แต่ตนเห็นว่าเมื่อสนช.ตีตกความเห็นกมธ.ร่วม ก็ต้องกลับไปขอมติของกฎหมายตัวที่ผ่านการพิจารณาวาระ 2 ชั้นกมธ.อีกครั้ง

สพม.จัดถก-รับฟังร่างกม.ลูก

ที่สำนักงานสภาพัฒนาฯการเมือง ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ นายธีรภัทร เสรีรังสรรค์ ประธานสภาพัฒนาการเมือง (สพม.) แถลงผลสำรวจและรับฟังความคิดเห็นการจัดทำพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ ประกอบด้วย พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. พ.ร.บ.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. พ.ร.บ.ว่าด้วยกกต.และพ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง จากกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ 2,502 คน และจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นโดยคณะทำงานเครือข่ายภาคประชาสังคมจังหวัดภาคต่างๆ นอกจากนั้นยังจัดสนทนากลุ่ม ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการและกลุ่มบุคคลสำคัญที่เกี่ยวข้อง อาทิ นายภุชงค์ นุตราวงศ์ อดีตเลขาธิการ กกต. นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา แกนนำพรรคเพื่อไทย นายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายโคทม อารียา ผอ.ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ม.มหิดล ฯลฯ

โดยนายธีรภัทรสรุปผลเบื้องต้น ดังนี้ 1.กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวทางส่งเสริมภาคประชาสังคม ประชาชน และพรรค ให้มีส่วนร่วมในกระบวนการก่อนเลือกตั้ง เช่น มีส่วนกำหนดเขตเลือกตั้งร่วมกับกกต., ให้สมาชิกพรรคแต่ละจังหวัดเป็นผู้คัดเลือกส.ส., จัดทำฐานข้อมูลภูมิหลังประวัตินักการเมือง, ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องแสดงหลักฐานการเสียภาษีเงินได้, เพิ่มช่องทางรับสมัครรับเลือกตั้งที่ง่ายขึ้น ลดค่าธรรมเนียมการสมัครรับเลือกตั้งทำให้เกิดการเมืองต้นทุนต่ำ เพื่อป้องกันการเมืองต่างตอบแทนหรือการทุจริตหลังเข้าสู่อำนาจ

ค้านลดภาษีจูงใจใช้สิทธิ

2.ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวทางส่งเสริมให้ประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เพิ่มช่องทางและวิธีการลงคะแนน แต่ไม่เห็นด้วยกับการจูงใจให้ไปใช้สิทธิ เช่น ให้ส่วนลดในการจ่ายภาษี การให้รางวัล การให้คูปองใช้เป็นส่วนลดซื้อสินค้า 3.ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการประสานระหว่าง กกต. หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนในการฝึกอบรมและสลับสับเปลี่ยนบุคลากรมาทำหน้าที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4.ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการให้ภาคประชาสังคม พรรค มีตัวแทนร่วมสังเกตการณ์การลงคะแนนและการนับคะแนนเสียงเลือกตั้ง รวมทั้งตรวจสอบการเลือกตั้งในทางลับได้

5.ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการลดต้นทุนการโฆษณาหาเสียง และกำหนดรูปแบบการโฆษณานโยบายพรรค รวมทั้งการให้ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ ในลำดับที่ 1 ของพรรคนั้นต้องอภิปรายนโยบาย 3 ครั้ง ผ่านสถานีโทรทัศน์ 6.ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการกำหนดให้ความผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้งของผู้สมัครหรือพรรค เป็นความผิดฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เช่น ให้กกต.มีอำนาจส่งเรื่องให้ปปง.ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ได้ และลงโทษให้กรรมการบริหารพรรคพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะและมิให้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคเป็นเวลา 5 ปี

เสียงแตกเซ็ตซีโร่พรรค

7.ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการลงโทษสมาชิกพรรค ที่เป็นผู้บกพร่องด้านคุณธรรม จริยธรรม หรือกระทำผิดวินัยของพรรค เช่น สมาชิกพรรคอาจเข้าชื่อร้องขอให้พรรคมีมติให้สมาชิกภาพของผู้นั้นสิ้นสุดลง ส.ส.ที่ถูกมติพรรคให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลง ก็ให้สมาชิกภาพส.ส.ของผู้นั้นสิ้นสุดลงด้วย 8.ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวทางสอบบัญชีของพรรค รวมทั้งแนวทางป้องกันและปราบปรามการทุจริตทุกประเภทของผู้ดำรงตำแหน่งในพรรค หรือผู้สมัคร เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารพาณิชย์ หรือสถาบันการเงิน ต้องแจ้งรายงานการทำธุรกรรมทางการเงินตามที่กกต.ร้องขอ

9.ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการให้พรรคในปัจจุบันสิ้นสภาพไป (เซ็ตซีโร่) เมื่อมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.พรรคการเมืองฉบับใหม่ แต่กลุ่มตัวอย่างอีกส่วนหนึ่งเห็นว่า ปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นมิได้มีสาเหตุมาจากพรรคแต่เพียงอย่างเดียว รวมทั้งปัญหาของพรรคไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการเซ็ตซีโร่ และการดำเนินการดังกล่าวจะยิ่งส่งผลให้ระบบพรรคอ่อนแอ

เสนอเลือกตั้งวันธรรมดา

10.ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการให้ กกต.ชุดปัจจุบันสิ้นสุดลง (เซ็ตซีโร่) เพื่อปรับปรุงโครงสร้าง กระบวนการทำงาน และสรรหากกต.ชุดใหม่ แต่ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการให้กระทรวงมหาดไทยมีส่วนร่วมบริหารจัดการเลือกตั้ง เพราะกกต.มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย งบประมาณ บุคลากร มีประสบการณ์จัดการเลือกตั้ง และสิ่งอำนวยความสะดวกที่เพียงพอต่อการดำเนินการอยู่แล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการสัมมนายังมีข้อ เสนออื่นๆจากผู้เข้าร่วม เช่น ให้เปลี่ยนมาจัดเลือกตั้งในวันธรรมดา โดยประกาศเป็นวันหยุดเพื่อไปเลือกตั้ง เพราะวันอาทิตย์เป็นวันพักผ่อนของประชาชน และเสนอให้เปลี่ยนสถานที่นับคะแนนจากหน่วยเลือกตั้ง มารวมที่จุดเดียว เพื่อให้ประชาชนร่วมจับตากรรมการนับคะแนน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน