ม.หอการค้าไทยจับมือหอการค้าจ.สกลนคร เผยผลวิจัยผ้าย้อมคราม สร้างอัตลักษณ์สินค้าธรรมชาติแท้ สู่ประตูการค้าโลก

สร้างอัตลักษณ์สินค้าธรรมชาติแท้ – นายจิรภัทร เริ่มศรี นักศึกษาปริญญาเอก สาขาวิชานิเทศศาสตร์การตลาด คณะนิเทศศาสตร์ ม.หอการค้าไทย(ซ้าย), คุณเศกสรร ชนาวิโชติ ประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดสกลนคร และรศ.ดร.จันทิมา เขียวแก้ว ผู้อำนวยการหลักสูตรนิเทศศาสตรดุษฎีบัณฑิต คณะนิเทศศาสตร์ ม.หอการค้าไทย

ปัจจุบันรัฐบาลได้กำหนดกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560- 2579) เพื่อใช้เป็นแนวทางพัฒนาสังคมให้ยั่งยืน ทำให้รัฐบาลได้มีการส่งเสริมและพัฒนาทักษะองค์วามรู้ของผู้ประกอบการไทย สามารถแข่งขันและสามารถสร้างสรรค์สินค้าและบริการรูปแบบใหม่ให้มีจุดเด่น เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดจังหวัดสกลนครจึงได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดสกลนคร (2561 – 2565) ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ

เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนในจังหวัดให้มีคุณภาพมาตรฐานระดับอาเซียน สนับสนุนแหล่งท่องเที่ยว 3 ธรรม ของจังหวัดสกลนครเป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลายมากขึ้น และเพิ่มศักยภาพในการคมนาคมขนส่งทั้งทางบกและทางอากาศสู่อาเซียนและจีนตอนใต้ ตลอดจนการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนให้สามารถบริหารจัดการตนเองได้อย่างยั่งยืน ที่สำคัญมีการวางแผนพัฒนาแผนกลยุทธ์การสื่อสารอัตลักษณ์ผ้าย้อมครามสกลนครให้เป็นสินค้าประจำจังหวัดและสร้างชื่อเสียงระดับโลก

ล่าสุดคณะนิเทศศาสตร์ ม.หอการค้าไทย ร่วมกับ หอการค้าจังหวัดสกลนคร, พาณิชย์จังหวัด, อุตสาหกรรมจังหวัด, พัฒนาชุมชนจังหวัด,ผู้ผลิตผ้าย้อมคราม และผู้ประกอบการผ้าย้อมครามระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนเพื่อตอบโจทย์งานวิจัยภายใต้หัวข้อ “กลยุทธ์การสื่อสารอัตลักษณ์ผ้าย้อมครามสกลนค”

โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยสำหรับแผนงานเสริมสร้างศักยภาพและพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ตามทิศทางยุทธศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม ประเภทบัณฑิตศึกษา ระดับปริญญาเอก ประจำปี 2562 ของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ

นายจิรภัทร เริ่มศรี นักศึกษาปริญญาเอก สาขาวิชานิเทศศาสตร์การตลาด คณะนิเทศศาสตร์ ม.หอการค้าไทย เปิดเผยว่า “จากผลงานวิจัย”กลยุทธ์การสื่อสารอัตลักษณ์ผ้าย้อมครามสกลนค” ครั้งนี้พบว่า อัตลักษณ์ผ้าย้อมครามสกลนคร 4 ด้าน

ได้แก่ ด้านผลิตภัณฑ์ (Brand as Product) พบว่า เป็นผลิตภัณฑ์ทำมือ (Hand made) ที่ต้องเอาใจใส่ทุกขั้นตอนของการผลิต โดยใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications หรือ GI) หรือการใช้ฝ้ายและครามจากธรรมชาติที่อยู่ในจังหวัดสกลนครเท่านั้น มีคุณสมบัติระบายอากาศได้ดี ทำให้สวมใส่สบาย และไม่ทำให้เกิดกลิ่นอับชื้น เนื้อผ้ามีความนุ่มนวลในเวลาใช้ ซับน้ำได้ดี ใช้เทคนิคมัดหมี่ให้เกิดลวดลาย ที่สามารถถ่ายทอด และสื่อสารอัตลักษณ์แต่ละชุมชนได้

ด้านองค์กร (Brand as Organization) พบว่า สะท้อนให้เห็นถึงองค์กรที่มีการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น มีความซื่อสัตย์ จริงใจ ใส่ใจผู้บริโภค ดำเนินงานสอดคล้องกับการดำเนินชีวิตของคนในชุมชน และสอดคล้องกับภูมิปัญญาดั้งเดิมของบรรพบุรุษเพื่อสืบทอดให้คงอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน

ด้านบุคคล (Brand as Person) พบว่า บุคคลที่สวมใส่ หรือใช้ผ้าย้อมครามสกลนคร เป็นคนที่ใส่ใจวัฒนธรรมท้องถิ่น ช่วยเสริมให้มีความสมาร์ท ดูดี มีเสน่ห์ มีความอ่อนโยน ร่าเริง สดใส เป็นคนเข้มแข็ง และอดทน

ด้านสัญลักษณ์ (Brand as Symbol) พบว่า สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นธรรมชาติ เช่น สีครามธรรมชาติ และแนวคิดการสร้างลวดลายจากธรรมชาติที่อยู่รอบ ๆ ตัว มีความเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นของแต่ละชุมชน สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นธรรมะ เช่น การย้อมครามต้องเป็นคนที่มีสมาธิ ใจเย็น และผ้าย้อมครามสกลนครสะท้อนให้เห็นถึงความซื่อสัตย์ และจริงใจ

รศ.ดร.จันทิมา เขียวแก้ว ผู้อำนวยการหลักสูตรนิเทศศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชานิเทศศาสตร์การตลาด คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า “จากการร่วมมือกับสภาหอการค้าจังหวัดสกลนครและหน่วยงานรัฐ เอกชนต่างๆมากมายทำให้ผลงานวิจัยมีเนื้อหาน่าสนใจ การสื่อสารการตลาดผ้าย้อมครามของผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจังหวัดสกลนคร ได้เลือกใช้เครื่องมือการสื่อสารการตลาดที่หลากหลาย

เพื่อสื่อสารถึงผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย ด้วยผลิตภัณฑ์ผ่านสีคราม เส้นใย และลวดลาย ในงานแสดงและจำหน่ายสินค้าของภาครัฐและเอกชน มีการจัดทำของที่ระลึก เปิดให้เข้าชมกลุ่มผ้าย้อมคราม มีการจัดกิจกรรมชุมชน จัดทำแผ่นผับแนะนำกลุ่ม และผลิตภัณฑ์

นอกจากนี้ยังมีการซื้อขายผ้าย้อมครามในหมู่บ้าน โดยมีศูนย์จำหน่ายสินค้าของชุมชนเป็นจุดศูนย์กลาง มีการนำเสนอการผลิตผ้าย้อมครามผ่านทางรายการวิทยุโทรทัศน์ การจัดทำสารคดีผ้าย้อมครามของสถาบันอุดมศึกษา และหน่วยงานในจังหวัดสกลนคร เพื่อนำเสนอผ่านยูทูป (YouTube)

การจัดทำคู่มือ หนังสือ นิตยสารหรือวารสารเกี่ยวกับผ้าย้อมครามของหน่วยงาน และการใช้ตลาดออนไลน์ประเภทเฟสบุ๊คในการนำเสนอและซื้อขายผ้าย้อมคราม ในบางกลุ่มสร้างแรงจูงใจและส่งเสริมการตลาดโดยอาศัยพ่อค้าคนกลางทั้งตลาดในระดับท้องถิ่น ตลาดในระดับจังหวัด ตลาดต่างประเทศ หรือส่งไปขายกับร้านค้าที่รู้จักกันในจังหวัดใหญ่หรืองานแสดงสินค้าที่หน่วยงานต่าง ๆ จัดขึ้น”

นายเศกสรร ชนาวิโชติ ประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดสกลนคร กล่าวว่า “หอการค้าจังหวัดเริ่มสนับสนุนทำเรื่องผ้าย้อมครามย้อนหลังกลับไปเมื่อ 20 ปีที่แล้วตั้งแต่ในช่วงที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงได้เดินทางมายังจังหวัดสกลนคร

ในส่วนมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้เข้ามาทำวิจัยตรงนี้มองว่าเป็นส่วนที่น่าจะมาช่วยกันผลักดันและส่งเสริมด้วยประสบการณ์มุมมองความรู้เชิงธุรกิจ ทั้งในเรื่องวิชาการที่เข้ามาเติมเต็มหรือเปิดมุมมองใหม่ๆ ให้มีการยกระดับผ้าย้อมครามให้ขึ้นไปอีกในระดับหนึ่ง ที่สำคัญเอกลักษณ์ต้องอบกว่าตัวครามที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการย้อมถ้าเป็นของจังหวัดสกลนคร

เนื่องจากว่าด้วยสภาพของภูมิประเทศที่ประกอบไปด้วยภูพานและลุ่มน้ำเลยทำให้ครามสกลนครมีคุณลักษณะที่แตกต่างจากที่อื่นเช่น คุณภาพของการให้สี ภูมิปัญญาในการแปรรูปที่นำมาเป็นสีย้อม ตรงนี้จะเป็นเอกลักษณ์ที่บ่งชี้ว่าเป็นของจังหวัดสกลนคร

ตอนนี้ทางหอการค้าจังหวัดสกลนครก็ได้มีการดำเนินการในเรื่องของการเสนอให้ภูมิปัญญาการย้อมครามเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของโลก ประเทศไทยเราตอนนี้ที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้วคือเรื่องโขน เราก็เลยมองว่าภูมิปัญญาของการย้อมครามเป็นภูมิปัญญาของชาติพันธุ์ของไทย

ถ้าเราหยิบเอาตรงนี้ขึ้นมาขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม “Intangible Cultural Heritage” ประเทศไทยเราก็จะได้นำมาเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของประเทศ การย้อมครามนี้เป็นภูมิปัญญาที่อยู่ในประเทศไทย”


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน