“เราทุกคนไม่เหมือนกันและไม่ควรมีใครโดนล้อเพราะความแตกต่าง”

คือประโยคกระแทกใจที่กำลังเป็นกระแสจากบทภาพยนตร์ “บูลลี่ไม่ใช่เรื่องตลก” ที่ ดีแทค Safe Internet จัดทำขึ้น ชวนให้เราฉุกคิดถึงการกระทำของตัวเองที่อาจไปล้อใครเข้าโดยไม่รู้ตัว หรือคิดถึงสิ่งที่เราเคยเจอมา

หลายปีมานี้ ประเด็นการบูลลี่ (bully) ได้รับการหยิบยกมาพูดถึงอยู่บ่อยครั้ง เช่นที่ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค (DTAC) ทำโครงการ Safe Internet ที่ให้ความรู้และสร้างภูมิคุ้มกันเรื่องภัยบนโลกออนไลน์ต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 ทำให้คนในสังคมตระหนักถึงประเด็นการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ หรือ “ไซเบอร์บูลลี่” มากขึ้น

อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ในบทบาทการเป็นผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคม ถือเป็นความรับผิดชอบของดีแทคในการดูแลผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ ซึ่งปัญหาไซเบอร์บูลลี่เป็นปัญหาใน 3 อันดับแรก ที่เด็กรุ่นใหม่ให้ความสนใจ และได้รับผลกระทบมากที่สุด ดีแทคจึงให้ความสำคัญกับเรื่องไซเบอร์บูลลี่โดยเฉพาะ

“ที่ผ่านมา ดีแทคได้ให้ความรู้และวิธีการรับมือกับไซเบอร์บูลลี่มาโดยตลอด ทั้งการสร้างความตระหนักรู้ และการรับฟังความเห็นของคนบนโลกออนไลน์ แต่ครั้งนี้ดีแทคจะขอขยับไปอีกขั้นด้วยการลงมือปฏิบัติจริง รื้อบรรทัดฐานเดิมๆ ที่สังคมได้กำหนดมา เพื่อสร้างสังคมแห่งความเท่าเทียมและเข้าใจ ด้วยการทำ ‘สัญญาใจวัย Gen Z’ #ให้ไซเบอร์บูลลี่จบที่รุ่นเรา” อรอุมา กล่าว

งานนี้ ดีแทคเปิดแพลตฟอร์มให้ทุกคนมาระดมความคิดและข้อเสนอแนะในรูปแบบ Jam Ideation เป็นเวลา 72 ชั่วโมง ระหว่างวันที่ 25-27 มิถุนายน 2564 โดยนำเทคโนโลยี Crowdsourcing มาเป็นเครื่องมือในการระดมความคิดเห็น เพื่อนำมาปรับใช้ในการแก้ไขปัญหาไซเบอร์บูลลี่ และเพื่อประโยชน์ในการกำหนดแนวทางปฏิบัติในสังคมที่เทียบเท่ากับระดับนานาชาติ

กิจกรรมนี้ของดีแทคดึงดูดความสนใจจากคนบนโลกออนไลน์ได้อย่างล้นหลาม เพราะสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้กว่า 1.44 ล้านคน รวบรวมความเห็นของคนรุ่นใหม่ได้กว่า 2 เเสนคน มียอดการมีส่วนร่วมกับแคมเปญกว่า 34,500 ครั้ง และมีไอเดียเกี่ยวกับการหยุดไซเบอร์บูลลี่ทั้งหมดถึง 782 ไอเดีย

“ความงาม-เพศ” ประเด็นหลักไซเบอร์บูลลี่

จากการรับฟังและติดตามความคิดเห็นของคนในสังคมออนไลน์ ดีแทคพบว่า ประเด็นที่คนถูกกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์มากสุด 3 ประเด็นหลัก คือ มาตรฐานความงาม การคุกคามทางเพศทางออนไลน์ และความเท่าเทียมทางเพศ

สัดส่วนของการบูลลี่บนโลกออนไลน์ที่มากสุดคือ การวิพากษ์วิจารณ์รูปร่างหน้าตาผู้อื่น ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 56% เนื่องจากทุกวันนี้ทั้งสื่อออนไลน์และสื่อต่างๆ ให้ความสนใจกับรูปร่างหน้าตา ซึ่งเป็นการสร้างทัศนคติที่ผิดๆ ให้คนในสังคม การสร้างความตระหนักและความเคารพเรื่อง “ความหลากหลาย” (diversity) จึงถูกยกเป็นประเด็นหลัก ที่คนในสังคมต้องให้ความสำคัญ สร้างโอกาสอย่างเท่าเทียมโดยไม่ตัดสินจากหน้าตา

ประเด็นต่อไปคือ การคุกคามทางเพศทางออนไลน์ ซึ่งไม่ได้มีแต่ผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อการคุกคามทางเพศ แต่เพศชายก็เป็นเหยื่อเช่นกัน สังคมจึงต้องส่งเสริมการสร้างทัศนคติต่อต้านการคุกคามทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นใคร เพศอะไร ต้องไม่ตกเป็นเหยื่อ ทั้งยังต้องสอนให้เด็กรู้จักสิทธิส่วนบุคคล และเคารพในร่างกายของผู้อื่นเช่นกัน

ประเด็นสุดท้าย ความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งเด็กรุ่นใหม่มองว่า ควรสร้างทัศนคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ เปลี่ยนเป็นสังคมที่เปิดกว้างและให้โอกาสทุกคน ทุกเพศ อย่างเท่าเทียมกัน ลบล้างทัศนคติชายเป็นใหญ่

จาก 3 ประเด็นหลักนี้ นำสู่การเปลี่ยนแปลงอีกระดับ นั่นคือ การสร้างบรรทัดฐานสังคมครั้งใหม่ ที่เกิดขึ้นจากความต้องการของคนออนไลน์เจเนอเรชั่นใหม่ ที่ต้องการสร้างสรรค์และผลักดันทัศนคติและพฤติกรรมผ่านค่านิยมชุดใหม่ สัญญาใจวัย Gen Z #ให้ไซเบอร์บูลลี่จบที่รุ่นเรา

สัญญาใจวัย Gen Z #ให้ไซเบอร์บูลลี่จบที่รุ่นเรา

เพราะการรับฟังเสียงของคนในสังคมเป็นเรื่องสำคัญ ดีแทคจึงร่วมมือกับชาว Gen Z อาสาทำสัญญาใจเพื่อแก้ปัญหาไซเบอร์บูลลี่ หยุดยั้งทัศนคติและบรรทัดฐานที่เป็นพิษต่อสังคมไทย โดยออกแบบให้เหมือนกับกฎหมายจริงๆ มีเนื้อหาสาระเข้าใจง่าย ทุกคนสามารถปฏิบัติตามได้ทันที

สัญญาใจวัย Gen Z นี้ แบ่งเป็น 4 หมวด รวม 23 ข้อ

หมวดที่ 1 บทนิยามคำศัพท์การบูลลี่ทุกรูปแบบ เป็นการรวบรวมความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่ (Gen Z) ถึงความหมายและรูปแบบพฤติกรรมการไซเบอร์บูลลี่ เพื่อสร้างความเข้าใจให้ผู้อ่านได้รู้ถึงความหมาย และการกระทำใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับไซเบอร์บูลลี่ก่อนอ่านข้อตกลงต่างๆ

หมวดที่ 2 บทหลักทั่วไป “ห้ามไซเบอร์บูลลี่ผู้อื่น” การไซเบอร์บูลลี่เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนในสังคมขาดความมั่นใจในตนเอง บางรายถึงขั้นซึมเศร้าและฆ่าตัวตาย อันตรายจากไซเบอร์บูลลี่เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม ดังนั้น บทนี้จึงให้ความสำคัญกับการห้ามไซเบอร์บูลลี่ ไม่ว่าจะทำไปเพียงเพราะความตลก หยอกล้อ หรือมีรสนิยมต่างกัน

หมวดที่ 3 บทเฉพาะ “เจาะลึกพฤติกรรมต้องห้ามการไซเบอร์บูลลี่” บทนี้จะรวบรวมความคิดเห็นของเด็กรุ่นใหม่ต่อพฤติกรรมการไซเบอร์บูลลี่ที่ไม่ควรทำ หากทำจะถือว่ามีความผิด เช่น การบูลลี่เรื่องหน้าตาหรือน้ำหนัก

หมวดสุดท้าย บทมาตรการป้องกันการไซเบอร์บูลลี่ เป็นการรวบรวมวิธีการรับมือการถูกไซเบอร์บูลลี่ และมีมาตรการการแก้ไขปัญหาจากการถูกไซเบอร์บูลลี่ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรับผิดชอบ

อรอุมาเผยว่า ขั้นตอนถัดไป ดีแทคจะนำสัญญาใจนี้ไปยื่นต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักเลขาธิการคุรุสภา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา เเละ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) เพื่อให้ได้รับฟังเสียงของเด็กรุ่นใหม่ และนำไปแก้ปัญหาต่อไป

“ดีแทคหวังอย่างยิ่งว่า หน่วยงานและองค์กรต่างๆ จะนำสัญญาใจที่มาจากความเห็นของคนรุ่นใหม่ไปปฏิบัติใช้ อย่างกระทรวงศึกษาธิการ ที่บอกว่า จะต้องมีบทเรียนที่สอนเกี่ยวกับเรื่องนี้ หรือปรับปรุงวิชาเพศศึกษา เพื่อให้นักเรียนทุกคนเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศและรูปลักษณ์ พร้อมทั้งสอนวิธีการรับมือกับคำพูดหรือการถูกบูลลี่ในโลกออนไลน์ ทั้งยังต้องมีการอบรมครูผู้สอนว่า ควรรับมืออย่างไร และควรปฏิบัติตัวอย่างไร เพราะโรงเรียนควรเป็นพื้นที่ปลอดภัย” ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน ดีแทค กล่าว

สร้างภูมิคุ้มกันภัยบนโลกออนไลน์

สัญญาใจวัย Gen Z #ให้ไซเบอร์บูลลี่จบที่รุ่นเรา เป็นโครงการที่ดีแทคร่วมมือกับหลายภาคส่วน อาทิ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ฯลฯ ด้วยมุ่งหวังสร้างสังคมที่ลดการไซเบอร์บูลลี่ และสร้างภูมิคุ้มกันภัยบนโลกออนไลน์

ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้ดำเนินงานวิจัย เปิดเผยว่า จากความเห็นของเด็กรุ่นใหม่ทำให้พบว่าสังคมไทยเกิดช่องว่างระหว่างวัยในมิติทางสังคมมากขึ้น ซึ่งข้อเรียกร้องที่นำมาสู่สัญญาใจวัย Gen Z ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ ด้วยเช่นกัน

“สัญญาใจวัย Gen Z จะสามารถนำมาปฏิบัติจริงได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู ผู้บริหารโรงเรียนและกระทรวงศึกษาธิการ ภาคเอกชน สื่อ และหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่โดยตรงในการกำหนดและกำกับนโยบาย ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม ในการเปลี่ยนผ่านดิจิทัลในมิติทางสังคม ร่วมสร้างสรรค์วัฒนธรรมออนไลน์ชุดใหม่ให้สังคมก้าวไกล เทียบเท่านานาชาติ”

อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน ดีแทค กล่าวเพิ่มเติมว่า “ไซเบอร์บูลลี่คงไม่หมดไปในเวลาอันรวดเร็ว เพราะต้องใช้เวลาผลักดันและรณรงค์เรื่องนี้อย่างจริงจังต่อเนื่อง

ดังนั้น สิ่งที่ดีแทคทำควบคู่กันไป คือ การพยายามทำให้เด็กรุ่นใหม่มีภูมิคุ้มกันภัยบนโลกออนไลน์มากขึ้น เคารพในความแตกต่างของกันและกันทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ รู้ว่าเมื่อตัวเองมีความเสี่ยงถูกบูลลี่บนโลกออนไลน์ต้องทำอย่างไร รับมืออย่างไร หรือแม้แต่ช่วยเหลือคนอื่นรับมืออย่างไร และสอนให้ทุกคนไม่เป็นต้นทางในการบูลลี่คนอื่นด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ดีแทคจะหาช่องทางในการนำสัญญาเหล่านี้มาทำให้ปฏิบัติได้จริง ซึ่งต้องประสานความร่วมมือกับภาครัฐ เพื่อขับเคลื่อนการทำงานอย่างยั่งยืน“

แต่ตอนนี้ ทุกคนสามารถเริ่มต้นเองได้ง่ายๆ ด้วยการหยุดบูลลี่บนโลกออนไลน์หรือแม้แต่ในชีวิตจริง เพราะการบูลลี่ไม่ใช่…และไม่เคยเป็นเรื่องตลก

สำหรับผู้ที่สนใจ “ฟัง” เสียงของคนรุ่นใหม่ฉบับเต็ม สามารถอ่านความคิดพวกเขาได้ที่ www.safeinternetlab.com/brave/agreement เข้าใจง่าย นำไปปฏิบัติได้ทันที ไม่ต้องตีความ ร่วมส่งเสียงต่อได้ เพื่อสร้างสังคมออนไลน์แบบที่รุ่นเราอยากเห็น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน