เมื่อวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) จัดแถลงข่าวเปิดตัวดาวเทียม“แนคเซท” ดาวเทียมดวงแรกของประเทศไทย สร้างโดยทีมอาจารย์และนักศึกษามจพ. เตรียมปล่อยสู่วงโคจรกลางเดือนสิงหาคมนี้ ตอกย้ำความเป็นเลิศด้านวิศวะการบินและอวกาศ มั่นใจไทยมีศักยภาพพร้อมเข้าสู่อุตสาหกรรมอวกาศที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ศ.ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เปิดเผยว่า ดาวเทียมแนคแซท (KNACKSAT) เป็นดาวเทียมดวงแรกของประเทศไทยที่ออกแบบและสร้างโดยคนไทย โดยนักศึกษาและอาจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล และการบิน-อวกาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจพ. ร่วมกับภาควิชาวิศวกรรมสื่อสาร บัณฑิตวิทยาลัยวิศกรรมศาสตร์นานาชาติสิรินธร ไทย-เยอรมัน (TGGS) เป็นโครงการออกแบบและจัดส่งดาวเทียมขนาดเล็กเพื่อการศึกษาในรูปแบบคิวแซท (CubeSat) มีขนาด 10x10x10 ลูกบาศก์เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 1 กิโลกรัม ใช้คลื่นความถี่วิทยุสมัครเล่นในการสื่อสาร โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนวิจัย สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ขณะนี้การสร้างแล้วเสร็จและผ่านการทดสอบการทำงานในสภาพจำลองบนอวกาศ เป็นที่เรียบร้อย พร้อมติดตั้งระบบสื่อสารและสร้างศูนย์ควบคุมภาคพื้นดินซึ่งตั้งอยู่ภายในอาคาร TGGS ขณะนี้ตัวดาวเทียมเก็บอยู่ในห้องสุญญากาศของคณะวิศวกรรมศาสตร์ เดือนมีนาคมนี้จะจัดส่งไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อทดสอบอีกครั้งก่อนจะปล่อยสู่วงโคจรในเดือนสิงหาคม 2561 นี้

“แนคแซทเป็นดาวเทียมสัญชาติไทยดวงแรกที่สร้างโดยคนไทย เป็นการนำความรู้ ทักษะและประสบการณ์จากการเรียนการสอนมาพัฒนาต่อยอดงานวิจัยและสร้างสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรมที่สามารถใช้งานได้จริงตามแนวทางการผลิตบัณฑิตของมจพ. ที่เน้นสร้างบัณฑิตให้เป็นนักปฏิบัติ นักวิจัย และสร้างนวัตกรรมเพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ” อธิการบดี มจพ.กล่าว

ศ.ดร.สุวัฒน์ กุลธนปรีดา ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและการบิน-อวกาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจพ. หัวหน้าโครงการวิจัยแนคแซท กล่าวว่า โครงการนี้ใช้เวลาศึกษาวิจัยกว่า 6 ปี จนกระทั่งปี 2558 ได้รับทุนจาก กสทช. จำนวน 9.6 ล้านบาท รวมกับเงินสมทบจากมหาวิทยาลัยส่วนหนึ่ง ทำให้การจัดสร้างแล้วเสร็จ แม้ว่าที่ผ่านมาประเทศไทยมีการส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรมาแล้วกว่า 10 ดวง แต่เป็นการซื้อจากต่างประเทศ แต่ดาวเทียมแนคแซทเป็นดาวเทียมสัญชาติไทยดวงแรกที่ออกแบบและสร้างโดยคนไทย ภายในรั้วมหาวิทยาลัยไทยโดยนักศึกษาทั้งปริญญาตรี โท เอกและอาจารย์กว่า 20 ชีวิตที่ทุ่มเทเวลาและความยากลำบากร่วมกันสร้างดาวเทียมดวงนี้ขึ้นมาจนสำเร็จ ศ.ดร.สุวัฒน์กล่าวว่า มหาวิทยาลัยทั่วโลกสร้างดาวเทียมในรูปแบบคิวแซทมานานแล้ว ส่วนประเทศไทยถือว่าเป็นเรื่องใหม่ แสดงให้เห็นว่าคนไทยมีความสามารถในการออกแบบและสร้างดาวเทียม รวมไปถึงผลงานทางด้านวิศวกรรมอวกาศที่มีขนาดเล็กและต้นทุนต่ำได้ และมีศักยภาพพร้อมที่จะเข้าสู่อุตสาหกรรมอวกาศที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้

ด้านดร.พงศธร สายสุจริต ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและการบิน-อวกาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจพ. ผู้จัดการโครงการ กล่าวว่า การทำงานของดาวเทียมแนคแซทไม่ต่างจากดาวเทียมดวงใหญ่และสร้างยากกว่าดวงใหญ่ ภาระกิจคือการถ่ายภาพส่งลงมา แต่เป้าหมายหลักของโครงการนี้ไม่ได้อยู่แค่การสร้างดาวเทียมเพื่อเอาไปใช้งาน แต่เป็นการพิสูจน์ว่าความสามารถของนักศึกษาและเทคโนโลยีที่มหาวิทยาลัยมีอยู่สามารถสร้างดาวเทียมเองได้ ปัจจุบันมีดาวเทียมคิวแซทอยู่ในวงโคจรร่วม 1,000 ดวง โดย 100 มหาวิทยาลัยทั่วโลกส่งดาวเทียมเข้าร่วมโครงการแต่ส่วนใหญ่ไม่ทำงาน และไม่สามารถสื่อสารกับศูนย์ควบคุมบนโลกได้ แต่แนคแซทเป็นดาวเทียมที่มีระบบการสื่อสารที่สมบูรณ์และเป็นระบบเดียวกับที่ใช้ในองค์การอวกาศนาซา และได้รับการตรวจสอบมาตรฐานในการจัดสร้างจากผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมอวกาศของประเทศญี่ปุ่นและยืนยันว่าดาวเทียมแนคแซทสามารถใช้งานบนอวกาศได้แน่นอน

ส่วนผศ.ดร.สุเมธ เฉลิมวิสุตม์กุล ภาควิชาวิศวกรรมสื่อสาร บัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ นานาชาติสิรินธร ไทย-เยอรมัน ผู้จัดการระบบสื่อสารดาวเทียมแนคแซท กล่าวว่า ขณะนี้วงการอวกาศกำลังถูกยึดทรัพย์เนื่องจากเทคโนโลยีการสร้างดาวเทียมเปลี่ยนไป จากที่เคยสร้างดาวเทียมดวงใหญ่ที่ใช้งบประมาณสูงเปลี่ยนมาสร้างดาวเทียมดวงเล็กที่เกิดจากการวิจัยและพัฒนาด้านวิศวกรรมอวกาศ ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเขาสู่อุตสาหกรรมอวกาศ ดังนั้นจึงเป็นโอกาสดีสำหรับประเทศไทยที่จะได้ใช้ข้อมูลจากดาวเทียม และยังเป็นการกระตุ้นให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และภาคการศึกษาที่จะได้ร่วมกันสร้างบุคลากรด้านอวกาศที่ยังขาดแคลน และร่วมกันพัฒนาต่อยอดการสร้างดาวเทียมโดยคนไทยให้สามารถใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้ในอนาคต

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน