ร้อยเอก รชฏ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวภายหลังจากการลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหาหญ้าทะเลเสื่อมโทรม บริเวณเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรังว่า จากสถานการณ์หญ้าทะเลเสื่อมโทรมในจังหวัดตรัง วันนี้ (19 มีนาคม 2567) ตนได้รับมอบหมายจากพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำคณะผู้บริหารกระทรวงฯ ลงพื้นที่จังหวัดตรังอีกครั้ง เพื่อติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหญ้าทะเลเสื่อมโทรม บริเวณเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง รวมถึงตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ภาคสนาม ร่วมกับนายนิติพล ผิวเหมาะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และนายทรงกลด สว่างวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง โดยมีคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ในสังกัดกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล ร่วมลงพื้นที่ในครั้งนี้เพื่อติดตามความคืบหน้า ภายหลังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งหาสาเหตุที่ชัดเจนของความเสื่อมโทรม รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศหญ้าทะเลและผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งในเชิงระบบนิเวศและทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนเร่งการศึกษาวิจัยด้านการฟื้นฟูและเสริมความแข็งแรงของหญ้าทะเลได้มีโอกาสฟื้นฟูตัวเองได้โดยธรรมชาติ แต่ระหว่างการพักฟื้นเราก็สามารถช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวได้โดยไม่สร้างมลพิษหรือภัยคุกคามเพิ่มเติม ดังนั้น จึงขอความร่วมมือไปยังชาวบ้านในพื้นที่ ประมงชายฝั่ง ผู้ประกอบการเดินเรือและโรงแรม ให้เดินเรือหรือสัญจรทางน้ำอย่างระมัดระวัง ไม่ทำประมงในแหล่งหญ้าทะเล งดปล่อยน้ำเสียลงในทะเล และไม่ก่อสร้างที่จะก่อให้เกิดตะกอนชะล้างลงสู่ทะเล นอกจากนี้ ต้องขอขอบคุณทีมงานทุกท่านที่สละเวลาอันมีค่ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิบัติภารกิจพิทักษ์รักษาทรัพยากรทางทะเล แหล่งหญ้าทะเล และพะยูน อันเป็นสมบัติล้ำค่าของประเทศชาติ ให้คงอยู่คู่กับท้องทะเลตรังสืบไป

ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ตนในฐานะที่ปรึกษาคณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินงานและแก้ไขปัญหาการเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเลในบริเวณจังหวัดตรังและจังหวัดกระบี่ ได้จัดทำแผนการดำเนินงานแก้ไขปัญหาหญ้าทะเลเสื่อมโทรมเป็นการเร่งด่วน พร้อมทั้งประชุมหารือและลงพื้นที่เก็บข้อมูลภาคสนาม เบื้องต้นพบการเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเลในจังหวัดตรังที่เกิดจากสาเหตุหลายประการร่วมกัน ได้แก่ ระดับน้ำทะเลลดต่ำกว่าปกติ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักทำให้หญ้าทะเลอ่อนแอลงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลต่อเนื่องต่อสภาพอากาศที่รุนแรงและแปรปรวนมากขึ้น แน่นอนว่าหญ้าทะเลซึ่งเป็นระบบนิเวศหนึ่งในทะเลย่อมได้รับผลกระทบ การทับถมและการเปลี่ยนสภาพของตะกอนในแหล่งหญ้าทะเล จากการศึกษาตะกอน ในเบื้องต้นบริเวณท่าเทียบเรือเกาะมุก พบว่าลักษณะตะกอนชั้นบนเป็นทรายละเอียดปนเลนและเปลือกหอย มีสีขาวปนเทา มีลักษณะอัดแน่นทำให้พื้นค่อนข้างแน่นแข็งไม่มีการจมตัว ตะกอนชั้นกลางเป็นชั้นทรายละเอียดอัดแน่นมีสีดำเล็กน้อยของไฮโดรเจนซัลไฟด์ พบเศษเหง้าหญ้าทะเลตายเล็กน้อย ตะกอนชั้นล่างเป็นทรายละเอียดอัดแน่น คล้ายกับตะกอนดินที่พบหญ้าทะเลตายที่เกาะลิบง ทั้งนี้การระบาดของโรคในหญ้าทะเล หรือปัจจัยอื่นๆ ทางทีมวิจัยมีการศึกษา โรคระบาดในหญ้าทะเล หรือประเด็นเรื่องสารพิษ จากการศึกษาด้านโรคในหญ้าทะเล มุ่งเน้นการตรวจหาโรคที่เกิดจากเชื้อราเมือก ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้หญ้าทะเลตายเป็นบริเวณกว้างในหลายประเทศ ตัวอย่างหญ้าคาทะเลที่มีลักษณะใบกุดจากจังหวัดกระบี่และเกาะมุกด์ จังหวัดตรัง พบเชื้อราแท้จริงที่พบได้ทั่วไปในแหล่งหญ้าทะเลและบนใบหญ้าทะเล เนื่องจากเชื้อราที่พบมีหน้าที่สลายใบที่เน่าเสียรวมถึงซากพืชซากสัตว์ในแหล่งหญ้าทะเลตามธรรมชาติอยู่แล้ว ในภาพรวมถึงแม้จะพบว่ามีราเมือก แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าการเกิดการตายของหญ้าทะเลเป็นบริเวณกว้างนี้ เกิดจากเชื้อรา ทั้งนี้ อาจมาจากปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลให้หญ้าทะเลอ่อนแอมีโอกาสติดเชื้อ ได้ง่าย เช่น อุณหภูมิน้ำสูงขึ้น การผึ่งแห้งนานขึ้นในขณะน้ำลง จึงอาจเป็นอีกหนึ่งสาเหตุของวิกฤติดังกล่าว ด้านประเด็นเรื่องสารพิษ มีการตรวจสอบแหล่งมลพิษแล้วพบว่าไม่มีการทิ้งลงแหล่งน้ำทะเล

นอกจากนี้ กรมฯ ได้กำหนดแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาหญ้าทะเลเสื่อมโทรม โดยจำเป็นต้องทราบสาเหตุที่ชัดเจนก่อน หากเป็นเรื่องของการทับถมของตะกอนจากการขุดลอกร่องน้ำ ก็ต้องมีแนวทางลดผลกระทบจากการขุดลอกให้ได้ก่อนทั้งในระยะดำเนินการ และการป้องกันผลกระทบในระยะยาว อย่างไรก็ตาม จากสภาพปัญหาที่แผ่ขยายเป็นพื้นที่กว้าง โดยเริ่มมีรายงานพบหญ้าทะเลที่ใบขาดในประเทศอื่นๆ ทำให้สมมุติฐานที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศความเป็นไปได้สูง ทั้งนี้การแก้ไขปัญหาระยะแรกอาจจะเป็นการคัดเลือกและสะสมพันธุ์หญ้าทะเลที่มีความทนทานสูง โดยรวบรวมจากหลายพื้นที่เพื่อคงไว้ซึ่งความหลากหลายทางพันธุกรรมของหญ้าทะเล การพัฒนาเทคนิคการลงปลูกในแหล่งธรรมชาติ เพื่อสร้างความพร้อมในการนำไปปลูกเสริมในสภาพธรรมชาติต่อไป “ดร.ปิ่นสักก์ กล่าวในที่สุด”

ด้าน นายนิติพล ผิวเหมาะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล กล่าวว่า การลงพื้นที่เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาหญ้าทะเลเสื่อมโทรมในวันนี้นับเป็นครั้งแรกที่ สส.ฝ่ายค้านพูดในสภาแล้วมีการตอบรับจากฝ่ายรัฐบาล โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จนได้มีส่วนร่วมในวันนี้ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ฝ่ายค้านได้ร่วมลงพื้นที่กับฝ่ายรัฐบาล นำโดยผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี ที่เรามีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือการแก้ไขปัญหาร่วมกันโดยไม่มีการแบ่งฝ่าย และหลังจากนี้ ตนจะนำข้อมูลในการลงพื้นที่ครั้งนี้ไปสื่อสารกับฝ่ายค้านถึงการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ว่ามีความก้าวหน้าไปไกลมากแล้ว








Advertisement

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน