คอลัมน์ เจ๊าะแจ๊ะวิทยาศาสตร์

ศาสตราจารย์สกอต ฟิลลิปส์ ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเพนน์สเตต สหรัฐอเมริกา เปิดเผยโครงการพัฒนาพลาสติกที่สามารถทำลายตัวเองได้ เพื่อลดปัญหาขยะพลาสติกล้นโลก

โดยใช้สารพิเศษที่มีความอ่อนไหวต่ออุณหภูมิ แทรกระหว่างโครงสร้างโมเลกุลที่เป็นสายโซ่ยาวของ “โพลิเมอร์” เมื่ออยู่ในอุณหภูมิร้อนจัด หรือเกินกว่าความสามารถในการรับความร้อนของสารพิเศษ โมเลกุลจะแตกตัวและพลาสติกจะค่อยๆ หลอมละลาย และสลายไปในที่สุด

อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยยังวางเป้าหมายพัฒนาให้พลาสติกชนิดพิเศษสามารถทิ้งลงชักโครกและสลายตัวจากการสัมผัสกับแบคทีเรียในระบบท่อระบายน้ำ รวมถึงทำปฏิกิริยากับกรดในปัสสาวะ

ทั้งนี้ มีขยะพลาสติกมากกว่า 275 ล้านตันในมหาสมุทรทั้ง 5 แห่งทั่วโลก ได้แก่ มหาสมุทรอาร์กติก แอตแลนติก อินเดีย แปซิฟิก และมหาสมุทรใต้

ซ้ำร้ายมนุษย์ยังทิ้งขยะพลาสติกมากถึง 8 ล้านตันลงแหล่งน้ำทุกๆ ปี

ส่งผลให้ร้อยละ 54 ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 120 ชนิดในน้ำ เสี่ยงได้รับภัยคุกคามจากการกินขยะพลาสติก นำมาซึ่งการลดจำนวนประชากร และอาจทำให้ สูญพันธุ์ได้

ขณะที่นกทะเล โดยเฉพาะนกนอร์เทิร์นฟูลมาร์ เป็นหนึ่งในสัตว์ที่ได้รับผลกระทบจากขยะพลาสติกมากที่สุด จากการศึกษาซากนกนอร์เทิร์นฟูลมาร์ พบว่ากว่าร้อยละ 92.5 มีขยะพลาสติกอยู่ในระบบย่อยอาหาร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน