รพ.ราชบุรี เฮ! ปลูกถ่ายไต สำเร็จรายแรก ชวนบริจาคอวัยวะ ต่อลมหายใจผู้ป่วย

เมื่อวันที่ 21 พ.ย. ที่ห้องประชุมปฐมจักรี โรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี นพ.ปานเนตร ปางพุฒิพงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 5, นพ.สุริยะ คูหะรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดราชบุรี, นพ.พิเชียร วุฒิสถิรภิญโญ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชบุรี, นพ.สมบูรณ์ อภิชัยยิ่งยอด รองประธานปลูกไต โรงพยาบาลราชบุรี และคุณนพมาศ สุทธิวิรัช รองผู้อำนวยการด้านการพยาบาล พร้อมผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาและผู้บริจาคไต ร่วมกันแถลงข่าวกรณีแพทย์สามารถผ่าตัดปลูกถ่ายไตรายแรกเป็นผลสำเร็จของโรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี และเขตสุขภาพที่ 5

ภายหลังทีมแพทย์ได้ทำการรักษาและผ่าตัดปลูกถ่ายไต ให้ผู้ป่วยเป็นผลสำเร็จและสามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติผ่านไป 20 วัน โดยทำงานร่วมกับทีมงานคณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี นำทีมโดย ทีมผ่าตัด ศัลยแพทย์ระบบปัสสาวะ ศัลยแพทย์หลอดเลือด และทีมวิสัญญี ซึ่งผลจากการเฝ้าติดตามผู้ป่วยไม่พบอาการแทรกซ้อน มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่ต้องกลับมาฟอกไตเหมือนดังเดิม

นพ.ปานเนตร ปางพุฒิพงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 5 กล่าวว่า วันนี้โรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี มีความพร้อมที่จะทำการรักษาผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายไตให้กับผู้ป่วยในสภาวะไตวายเฉียบพลัน เนื่องจากโรงพยาบาลศูนย์ราชบุรีได้มีการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์มาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีอุปกรณ์ที่ทันสมัย ห้องผ่าตัดที่สามารถทำงานและใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงมั่นใจว่าภายในกลุ่ม 8 จังหวัดในเขตสุขภาพที่ 5 โรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี สามารถให้บริการได้และพร้อมที่จะรับผู้ป่วย ส่วนในผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไตรายนี้นับเป็นผลสำเร็จ จากการเฝ้าติดตามของทีมแพทย์พบว่าสามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ไม่มีผลบแทรกซ้อนใดๆ จึงอยากเชิญชวนประชาชนผู้มีจิตรศรัทธาร่วมกันทำบุญด้วยการบริจาคอวัยวะ เพื่อนำมาต่อลมหายใจผู้ป่วย

ด้าน นพ.สมบูรณ์ อภิชัยยิ่งยอด กล่าวว่า โรคไตวายเรื้อรังเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่สำคัญ หากประชาชนขาดความรู้ ความเข้าใจและขาดการตระหนักในการดูแลสุขภาพ จากกลุ่มเสี่ยงจะกลายเป็นความเจ็บป่วยเรื้อรัง อันได้แก่เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และมีภาวะแทรกซ้อน กลายเป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ซึ่งผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายรายใหม่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบัน จ.ราชบุรี มีผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้อง จำนวน 573 ราย ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม จำนวน 613 ราย

นพ.สมบูรณ์ อภิชัยยิ่งยอด

นพ.สมบูรณ์ กล่าวต่อว่า การปลูกถ่ายไตเป็นการบำบัดทดแทนไตที่ดีที่สุด โดยนำเอาไตที่ยังทำงานได้ดีของผู้อื่นมาปลูกถ่ายใส่ร่างกายของผู้ป่วย เพื่อให้ไตใหม่ที่ทำงานได้ดี สามารถประกอบกิจกรรมต่างๆ ได้เหมือนคนปกติ ปัญหาที่พบคือระยะเวลาการรอรับอวัยวะยาวนาน เนื่องจากมีผู้บริจาคอวัยวะจำนวนน้อย และต้องเดินทางไปเข้าคิวการผ่าตัดที่โรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร ทำให้เสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปรักษา

นพ.สมบูรณ์ กล่าวอีกว่า โรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี สามารถผ่าตัดปลูกถ่ายไตแก่ผู้ป่วยรายแรกสำเร็จ เมื่อวันที่ 31 ต.ค. โดยคนไข้ชื่อนางพนิดา งามเผือก อายุ 35 ปี ชาว จ.สมุทรสงคราม ก่อนการรักษาป่วยเป็นโรคไตวายจากสาเหตุไตอักเสบเรื้อรัง ต้องล้างไตมา 6 เดือน โดยตรวจพบเมื่อเดือน เม.ย. 2561 แต่ก่อนหน้านี้เป็นโรคไตมาประมาณ 20 ปี หลังจากที่ทางแพทย์แจ้งว่าจะต้องทำการรักษาโดยการผ่าตัดเปลี่ยนไต ด้วยการปลูกถ่ายไต

“ทางผู้ป่วยก็ยินดีและมีความประสงค์ที่จะทำการรักษา จึงแจ้งกับทางผู้ป่วยในการหาไตที่สามารถเข้ากับตัวผู้ป่วยได้ จนได้การรับบริจาคจากนายทวีศักดิ์ งามเผือก อายุ 37 ปี ซึ่งเป็นพี่ชาย ยินยอมที่จะบริจาคไต และให้ทางแพทย์ได้ทำการผ่าตัดนำไตไปปลูกถ่ายให้กับนางพนิดา ซึ่งเป็นน้องสาว ปัจจุบันสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขภาพแข็งแรงภายหลังการผ่าตัด” นพ.สมบูรณ์ กล่าว

ด้านนางพนิดา งามเผือก ผู้ป่วย เปิดเผยว่า ตนป่วยเป็นโรคไตมา 20 ปี และมาทราบว่าเป็นโรคไตวายเมื่อประมาณเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา และเข้าสู่ขั้นตอนการรักษาด้วยการฟอกไต ประมาณ 7 เดือน โชคดีที่ได้รับสิทธิ์ในการปลูกถ่ายไตเมื่อเดือน ต.ค. หลังจากที่ได้รับการผ่าตัด ตอนนี้ต้องดูแลตัวเองพอสมควรเพราะต้องควบคุมอาหาร และต้องควบคุมตัวเองให้ดีที่สุด ทานยากดภูมิ และยาตัวที่ทางหมอให้ ตอนนี้ก็ยังถือว่าใช้ชีวิตไม่เหมือนคนปกติทั่วไป เพราะต้องควบคุมทุกอย่าง

นางพนิดา งามเผือก ผู้ป่วย-นายทวีศักดิ์ งามเผือก พี่ชายซึ่งเป็นผู้บริจาคไต

นางพนิดา กล่าวต่อว่า ระหว่างเดินทางไปตามสถานที่ต่างต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ตอนนี้ยังไม่สามารถออกไปเจอคนเยอะๆ ได้ แต่ต่อไปในอนาคตก็สามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติทั่วไปเหมือนได้ชีวิตใหม่ จึงอยากขอเชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปมาทำบุญบริจาคอวัยวะให้กับผู้ป่วยที่ยังคงรอความหวังในการรักษา เหมือนกับที่ตนเองเป็นผู้รับที่กำลังรักษา นับว่าทำบุญ 1 ครั้งสามารถช่วยผู้ป่วยได้อีก 2 ราย

ขณะที่นายทวีศักดิ์ งามเผือก พี่ชายซึ่งเป็นผู้บริจาคไต กล่าวว่า หลังจากที่ผ่าตัดมาได้ประมาณ 20 กว่าวัน ตอนนี้ก็สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ สามารถทำงานได้สุขภาพร่างกายก็ปกติ ไม่มีผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน และดีใจที่สามารถช่วยเหลือน้องสาวของตนเองได้ ขอบคุณทางทีมแพทย์ที่ดูแลพวกเราเป็นอย่างดี

นพ.สมบูรณ์ กล่าวอีกว่า ผลการผ่าตัดผู้ป่วยรายแรกนี้นับว่าประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดี ไตของคนไข้กลับมาทำงานได้เป็นปกติ ไม่ต้องเฝ้าระวังร่างกายหรือฟอกไตอีกต่อไป และผู้ที่ให้ไตที่เป็นพี่ชายก็แข็งแรงดี สามารถกลับไปทำงานได้ตามปกติ ส่วนการเตรียมความพร้อมก่อนการรักษาในรายนี้ ทางแพทย์ได้มีการเตรียมความพร้อม เนื่องจากทีมงานของโรงพยาบาลราชบุรี ไม่เคยทำกันมาก่อน ต้องมีการไปศึกษาดูงานที่คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นสถาบันที่มีการปลูกถ่ายไตมากที่สุดในประเทศไทย ซึ่งเรายกทีมแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ไปดูงาน และเข้าไปเป็นผู้ช่วยผ่าตัดในห้องผ่าตัดที่โรงพยาบาลรามาธิบดี

นพ.สมบูรณ์ ยังได้แนะนำการดูแลตนเองสำหรับผู้ป่วยโรคไตและคนทั่วไปด้วยว่า ผู้ป่วยโรคไตควรพบแพทย์สม่ำเสมอ ควบคุมน้ำตาลในเลือดและคุมความดันโลหิต ให้น้อยกว่า 130/80 มิลลิเมตรปรอท ควบคุมการกินอาหารรสเค็ม จำกัดอาหารประเภทโปรตีน หลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ปวด ยาหม้อ ยาชุด โดยไม่ปรึกษาแพทย์ เลิกบุหรี่ งดดื่มสุรา และออกกำลังกายสม่ำเสมอ

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อน


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน