ซัมซุง กาแล็กซี เอส20+

ศักยภาพเทียบเคียงอัลตรา 5จี

คอลัมน์ หลากหลายไอที

ซัมซุง กาแล็กซี เอส20+ – กาแล็กซี เอส 20 พลัส เป็นเรือธงของซีรีส์ 20 ที่อาจจะถูกบดบังไปเล็กน้อยในปีนี้ หลังซัมซุงวางจำหน่ายรุ่นเหนือเรือธงอย่าง กาแล็กซี เอส 20 อัลตรา 5 จี (ที่รีวิวไปแล้ว) มาพร้อมกัน

แต่เมื่อมีโอกาสทดลองใช้ กาแล็กซี เอส 20 พลัส จากค่ายผู้พัฒนาเทคโนโลยีชื่อดังนี้จากประเทศเกาหลีใต้ บอกได้คำเดียวว่า เอส 20 พลัส นั้นไม่ได้มีศักยภาพย่อหย่อนไปกว่าเอส 20 อัลตรา แถมในราคาที่ถูกกว่า ที่ประมาณ 3 หมื่นบาท

ซัมซุง กาแล็กซี เอส20+

ถาดซิมการ์ดอยู่ขอบบน

 

ซัมซุง กาแล็กซี เอส20+

เซ็นเซอร์ลายนิ้วมือในจอ และยูเอสบี-ซี

 

ไฮไลต์แรกของเครื่องกาแล็กซี เอส 20 พลัสอยู่ที่หน้าจอความถี่ 120 เฮิร์ตซ์ (Hz) ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายคนเรียกร้องกันมานาน ความถี่ดังกล่าวส่งผลให้ภาพที่แสดงออกมานั้นสูงถึง 120 ภาพต่อวินาที ทำให้การเคลื่อนไหวบนจอภาพนั้นแลดู ลื่นไหลนุ่มตาน่ามอง ตั้งแต่การเคลื่อนไหวของ แอนิเมชั่นต่างๆ การเปิดปิดแอพพลิเคชั่น การเปลี่ยนภาพไปมา ไปจนถึงการเล่นเกม และชมภาพยนตร์ที่สนับสนุนความถี่นี้

อย่างไรก็ดี หากต้องเลือกระหว่างความถี่สูง หรือความละเอียดของจอภาพ ซัมซุงอนุญาตให้เลือกได้ระหว่างความละเอียดสูงสุดแบบ QHD+ บนความถี่ 60Hz หรือ FHD+ บนความถี่ 120Hz เท่านั้น อาจเป็นเพราะความถี่สูงนั้นใช้พลังงานจากแบตเตอรี่สูง หากใช้ความละเอียดสูงสุดด้วยอีกก็จะทำให้แบตฯ หมดเร็วเกินไป แต่ในอนาคต

ถ้าซัมซุงควรอนุญาตให้ผู้ใช้เลือกเปิดใช้งานแบบดังกล่าวได้ ก็น่าจะดี นอกจากนี้ หน้าจอแสดงผลของสมาร์ตโฟนรุ่นนี้ยังมีความไวในการตอบสนองถึง 240Hz ด้วย ช่วยให้หน้าจอตอบสนองได้ฉับไว

ซัมซุง กาแล็กซี เอส20+

อัตราส่วนใหม่(เอส 20 พลัสล่าง)

 

ซัมซุง กาแล็กซี เอส20+

จอความถี่สูง

 

ทั้งหมดตรงนี้เป็นสิ่งที่กาแล็กซี เอส 20 พลัส มีเหมือนกันกับกาแล็กซี เอส 20 อัลตรา 5 จี

หน้าจอแสดงผลของกาแล็กซี เอส 20 พลัส มีขนาด 6.7 นิ้ว ใช้เทคโนโลยี Dynamic AMOLED 2X ความละเอียดสูงสุด 1,440 x 3,200 พิกเซล ความหนาแน่นพิกเซล 525 พิกเซลต่อตารางนิ้ว (ppi) อัตราส่วนภาพแบบ 20:9 สัดส่วนภาพต่อตัวเครื่องร้อยละ 90.5

สนับสนุนภาพแบบ HDR10+ ถือว่าใกล้เคียงมากกับรุ่นกาแล็กซี เอส 20 อัลตรา 5 จี แตกต่างกันเพียงแค่มีขนาดเล็กกว่าเล็กน้อย (แทบมองไม่ออก) แต่มีรูกล้องเซลฟี่อยู่ด้านบน และเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือใต้จอภาพแบบระบบอัลตราโซนิกเหมือนกัน มีความแม่นยำ แต่ก็ยังช้ากว่าคู่แข่งอย่างหัวเว่ยอยู่เล็กน้อย

ซัมซุง กาแล็กซี เอส20+

ทดสอบเลนส์ละลายย้อนแสง

 

จุดที่ต้องกล่าวถึง

จุดที่ต้องกล่าวถึง คือ อัตราส่วนภาพแบบใหม่ของซัมซุง 20:9 นั้นจะส่งผลให้ตัวเครื่องมีความค่อนไปทางยาว รู้สึกว่าเครื่องนั้นมีความแคบเล็กน้อยหากชินกับอัตราส่วน 21:9 ซึ่งใช้ในสมาร์ตโฟนหลายรุ่นของซัมซุง แต่ขนาดที่เปลี่ยนไปของเครื่องจากอัตราส่วนภาพใหม่นั้นทำให้สามารถกำไว้ในมือได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม

าแล็กซี เอส 20 พลัส มีขนาดกว้าง 73.7 ยาว 161.9 และหนา 7.8 มิลลิเมตร น้ำหนัก (รวมแบตฯ) 186 กรัม ถือว่ามีน้ำหนักเบากว่า กาแล็กซี เอส 20 อัลตรา 5 จี (222 กรัม) อย่างรู้สึกได้ ว่าการกระจายน้ำหนักจะดีกว่าเล็กน้อยด้วย สามารถนอนหงายเล่นบนเตียงหรือโซฟาได้ยาวนาน (อาจตรงกับพฤติกรรมใครหลายคน)

นอกจากนี้ ทางซัมซุงยังปรับเปลี่ยนดีไซน์ขอบโค้งที่จอทั้งสองด้านให้มีองศาความโค้งน้อยลง ทำให้พื้นที่ใช้สอยบนจอมากขึ้นและจอดูกว้างขึ้น แต่ยังรักษาความโค้งเล็กน้อยไว้จนแทบไม่เห็นขอบ เป็นการออกแบบที่ผู้ทดสอบชื่นชอบและเห็นด้วยว่าเป็นจุดสมดุลใหม่ที่ทางซัมซุงควรนำไปใช้ในรุ่นต่อๆ ไป

ซัมซุง กาแล็กซี เอส20+

ทดสอบภาพแสงน้อย

 

ซัมซุง กาแล็กซี เอส20+

ทดสอบภาพมาโคร

 

จากการทดสอบใช้งานพบว่า หากใช้ความละเอียดแบบ FHD+ บนความถี่ 120Hz จะส่งผลให้แบตฯ หมดเร็วกว่า QHD+ บนความถี่ 60Hz จริง โดยผู้ทดสอบเริ่มใช้งานตั้งแต่ 08.00-20.00 น. พบว่าแต่เหลือประมาณร้อยละ 10 จากการใช้งานตลอดวัน ส่วนแบบหลังนั้นเหลือประมาณร้อยละ 20 ตามลำดับ เป็นการใช้งานเรื่อยๆ ทั่วไป

ดังนั้นแนะนำว่า หากเป็นผู้ที่ใช้งานสมาร์ตโฟนหนักหน่วงและต้องการใช้ความถี่ 120Hz ตลอดเวลานั้นอาจจะต้องพกเพาเวอร์แบงก์ หรือชาร์จสักครั้งในช่วงบ่ายแก่ๆ แต่หากงานแบบเบาๆ บนความถี่ 60Hz นั้นอาจอยู่ได้เกิน 1 วันเลยทีเดียว

ถือเป็นจุดที่กาแล็กซี เอส 20 พลัส ด้อยกว่าเอส 20 อัลตรา 5 จี ซึ่งเป็นผลโดยตรงมาจากขนาดแบตฯ ที่แตกต่างกัน โดยรุ่นแรกนั้นมีขนาด 4,500 ส่วนรุ่นหลังนั้นให้มาถึง 5,000 มิลลิแอมป์ชั่วโมง (mAh)

แต่กาแล็กซี เอส 20 พลัส นั้นชดเชยข้อด้อยนี้ด้วยประสิทธิภาพที่สูงพอๆ กันกับเอส 20 อัลตรา 5 จี โดยใช้ขุมพลังจากชิพประมวลผล (SoC) รุ่น Exynos 990 ภายในประกอบด้วยหน่วยประมวลผลกลาง (CPU) จากสถาปัตยกรรมการผลิตขนาด 7 นาโนเมตร (nm) แบบ 8 หัว (Octa-core)

ซัมซุง กาแล็กซี เอส20+

ทดสอบภาพซูม 64MP

 

ความถี่สัญญาณนาฬิกา แบ่งเป็น 3 คลัสเตอร์ ได้แก่ 2.73 จำนวน 2 คอร์ 2.50 จำนวน 2 คอร์ และ 2.0 กิกะเฮิร์ตซ์ (GHz) จำนวน 4 คอร์ มีหน่วยประมวลผลกราฟิก (GPU) รุ่น Mali-G77 หน่วยความจำแรม (RAM) 8 กิกะไบต์ (GB) พื้นที่เก็บข้อมูลภายใน (ROM) 128GB บนมาตรฐานการโอนถ่ายข้อมูลแบบ UFS 3.0

และสนับสนุนการ์ดเก็บข้อมูลเสริม microSDXC บนถาดใส่ซิมแบบไฮบริดสล็อต (เลือกใส่ 2 ซิม หรือ 1 ซิมกับการ์ดเสริม) ทั้งหมดแบบเดียวกันกับรุ่นเอส 20 อัลตรา 5 จี แตกต่างกันเพียงที่มีแรมน้อยกว่าเท่านั้น (เอส 20 อัลตรา 5 จี มีแรม 12 และ 16 GB)

แต่ด้านการทำงานแบบมัลติ-ทาสก์ ไม่พบปัญหาการสะดุด และความร้อนใดๆ เช่นเดียวกัน

ารทดสอบเบนช์มาร์กผ่านแอพพลิเคชั่น Geekbench 5 พบว่า ได้คะแนนประมวลผลคอร์เดียวเฉลี่ย 924 แต้ม และประมวลผลแบบหลายคอร์เฉลี่ย 2,709 แต้ม ถือว่าอยู่ในระดับเดียวกันกับ กาแล็กซี เอส 20 อัลตรา 5 จี จึงมั่นใจได้ว่าสมาร์ตโฟนรุ่นนี้จะรันทุกแอพฯ และรองรับการใช้งานทุกประเภทได้อย่างรวดเร็วว่องไวสมราคาเรือธงแน่นอน

สิ่งที่กาแล็กซี เอส 20 พลัส ถอดด้ามเอามาจากเอส 20 อัลตรา ยังเป็นการออกแบบภายนอกที่แทบจะเหมือนกันทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นปุ่มปรับระดับเสียง ปุ่มเปิดปิด ซึ่งเรียงตัวอยู่ที่ขอบขวาของเครื่อง ตำแหน่งของถาดใส่ซิมการ์ดที่ขอบบน และขอบล่างเป็นที่อยู่ของช่องลำโพง

รวมทั้งยูเอสบี ไทป์-ซี ไม่มีช่องมินิสเตอริโอ หรือมินิแจ๊กขนาด 3.5 ม.ม. สำหรับหูฟังเหมือนกัน โดยทางซัมซุงจะแถมหูฟังที่เป็นยูเอสบี ไทป์-ซี มาให้ ปรับแต่งเสียงโดยค่าย AKG ประเทศสหรัฐอเมริกา

เช่นเดียวกันกับมาตรฐานกันน้ำกันฝุ่นแบบ IP68 การเชื่อมต่อ Wi-Fi 802.11 a/b/g/n/ac/ax (รวม Wi-Fi 6 ซึ่งก็คือ 802.11ax) แบบ dual-band และบลูทูธ 5.0 บนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 10 จากกูเกิ้ล

สิ่งเดียวที่แตกต่าง

 

สิ่งเดียวที่แตกต่างกันตรงจุดนี้มีเพียงการสนับสนุนสัญญาณสื่อสารยุคที่ 5 (5G)

รุ่นที่วางจำหน่ายในประเทศไทยนั้นมีเพียง กาแล็กซี เอส 20 อัลตรา 5 จี เท่านั้นที่จะรองรับ 5G ส่วนเอส 20 พลัส และเอส 20 (ที่ขายใน ไทย) จะไม่รองรับ

อย่างไรก็ตาม เอส 20 พลัส นั้นมีตัวเลือกของสีที่มากกว่า เอส 20 อัลตรา 5 จี ที่มีเพียงสีเทา คอสมิก เกรย์ และสีดำ คอสมิก แบล็ก แต่จะเพิ่มเติมมาอีก ได้แก่ สีฟ้า คลาวด์ บลู สีขาว คลาวด์ ไวต์และสีแดง ออร่า เรด

อีกหนึ่งความแตกต่างที่ชัดเจน และเป็นจุดหลักในการแบ่งแยกระหว่าง เอส 20 พลัส กับอัลตรา 5 จี ออกจากกัน คือ กล้องถ่ายภาพด้านหลัง โดยโมดูลของเอส 20 พลัสที่ด้านหลังเครื่องนั้นมีขนาดเล็กกว่าอย่างเห็นได้ชัดเจน

โมดูลกล้องถ่ายภาพของเอส 20 พลัส ใช้คอนเซ็ปต์การออกแบบแบบเดียวกัน เรียกว่า โดมิโน ดีไซน์ ประกอบด้วยเลนส์ 4 ตัว ได้แก่ เลนส์หลักที่เป็นเลนส์วายความละเอียด 12 ล้านพิกเซล (MP) ขนาดช่องรับแสง f/1.8 มีระบบต่อต้านภาพสะเทือนแบบออพติคัล (OIS) ถัดมาเป็นเลนส์ซูม

หรือเทเลโฟโต้ ความละเอียด 64MP ขนาดช่องรับแสง f/2.0 พร้อม OIS สามารถซูมผสมออพติคัลได้สูงสุด 3X และ 6X แบบดิจิตอล ต่อมาเป็นเลนส์พิเศษอัลตราวายความละเอียด 12MP ขนาดช่องรับแสง f/2.2 พร้อมระบบกันภาพสะเทือนขณะถ่ายคลิปแบบ Super Steady video และสุดท้ายเป็นเซ็นเซอร์ Time-of-Flight (TOF) ความละเอียด 0.3MP ช่องรับแสง f/1.0 ทำหน้าที่เพิ่มมิติทางลึกให้ภาพ

จุดที่แตกต่างมากที่สุด

จุดที่แตกต่างมากที่สุดคือ การตัดเอาเลนส์หลักความละเอียด 108MP และระบบซูมดิจิตอล 100 เท่า หรือสเปซ ซูมออกไป นอกนั้นเอส 20 พลัส ยังรองรับการถ่ายคลิปละเอียด 8K@24fps ได้เหมือนกับเอส 20 อัลตรา ส่วนกล้องเซลฟี่นั้นลดสเป๊กลงมาเป็นความละเอียด 10MP ขนาดช่องรับแสง f/2.2 (40MP f/2.2 ในรุ่นอัลตรา)

ผลการทดสอบพบว่า คุณภาพที่ได้จาก กล้องของ เอส 20 พลัสนั้นไม่ย่อหย่อนไปกว่าเอส 20 อัลตรา ไม่ว่าจะเป็นรายละเอียดของ ภาพที่คมชัด สีที่ค่อนข้างสมดุล (แต่แอบติด เหลืองเล็กๆ) แต่มีข้อติติงตรงที่คุณภาพจากการซูมที่ด้อยกว่าที่คาด ส่วนการถ่ายภาพในที่มืดนั้นอยู่ในเกณฑ์ดี ภาพที่ได้มีความสว่างชัดพอๆ กับเอส 20 อัลตรา 5 จี

สรุปแล้ว กาแล็กซี เอส 20 พลัส เป็นภาคต่อเรือธงที่ซัมซุงต่อยอดมาได้ถูกทางทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นหน้าจอความถี่สูง การปรับปรุงดีไซน์ขอบโค้ง คุณภาพเสียงที่ยังคงไว้จาก AKG ประสิทธิภาพการทำงาน และแบตฯ ที่อึดขึ้นกว่าเรือธงรุ่นก่อน เรียกว่า เพลย์เซฟสุดๆ เพียงแต่หากเทียบกับ เอส 20 อัลตรา 5 จี แล้วอาจจะดูไม่หวือหวาเท่า

แต่ด้วยราคาที่ถูกกว่าถึงหมื่นบาท ผู้ที่ต้องการสุดยอดเรือธงแอนดรอยด์ที่ต้องการความคุ้มเงิน ไม่ต้องมองหาตัวเลือกอื่นอีกแล้ว

จันท์เกษม รุณภัย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน