รพ.รามาธิบดี ขอบคุณโตโยต้า

ร่วมสร้างนวัตกรรมสู้ภัยโควิด-19

ร่วมสร้างนวัตกรรมสู้ภัยโควิด-19 – การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย แม้จะไม่ได้รุนแรงเท่ากับประเทศอื่น แต่ในเรื่องลักษณะของการแพร่ระบาดและการติดต่อของโรค

ทำให้ขั้นตอนของการรักษาจำเป็นต้องแยกผู้ป่วยออกจากสิ่งแวดล้อมปัจจุบัน เพื่อประสิทธิภาพในการรักษาสูงสุด และลดความเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อให้กับผู้อื่น

โรงพยาบาลรามาธิบดี ภายใต้การดูแลของคณะทำงานกลุ่มซิสเต็มส์ (CISTEMS) ศูนย์พัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ MIND CENTER จึงได้พัฒนานวัตกรรมหุ่นยนต์ทางการแพทย์ที่ควบคุมด้วยระบบ IoT (Internet of Things) ในชื่อ “ซิสเต็มส์” (CISTEMS) ขึ้น

เพื่อช่วยในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 และลดความเสี่ยงให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ โดยทำการคิดค้นและวางแผนดำเนินการผลิตเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ก่อนจะสร้างหุ่นยนต์ต้นแบบแล้วเสร็จในปลายเดือนมีนาคม และล่าสุดสามารถผลิตหุ่นยนต์ซิสเต็มส์เพิ่มเติมได้อีก 8 ตัว ด้วยการสนับสนุนจากบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด โดยทำการรับมอบอย่างเป็นทางการเมื่อ 15 พ.ค. ที่ผ่านมา

ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สืบเนื่องจากการที่โรงพยาบาลรามาธิบดี มีพันธกิจหลัก 3 ประการ

คือ 1.สร้างองค์ความรู้ใหม่จากการวิจัย ทำให้เกิดนวัตกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ 2.ฝึกอบรมและสร้างบุคลากรทางการแพทย์เพื่อช่วยเหลือประชาชนทั่วประเทศ 3.ให้การรักษาพยาบาลกับประชาชน

ประกอบกับในปัจจุบันที่สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์ รามาฯ เป็นศูนย์ดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ขนาดใหญ่ ทำให้มองเห็นถึงความสำคัญของการนำเทคโนโลยีมาใช้ดูแลผู้ป่วย เพื่อลดโอกาสสัมผัสผู้ป่วย แต่ยังคงให้การรักษาพยาบาลได้อย่างถูกต้องครบถ้วน จึงได้ประดิษฐ์หุ่นยนต์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ป่วยขึ้น ภายใต้การควบคุมดูแลของรศ.นท.ดร.นพ.สรยุทธ ชำนาญเวช ผู้อำนวยการกลุ่มซิสเต็มส์

เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการดูแลผู้ป่วยด้านการส่งอาหาร ยาเวชภัณฑ์ การส่งอุปกรณ์ตรวจวัดสัญญาณชีพ และการสื่อสารกับบุคลากรทางการแพทย์ ผ่านจอที่ติดตั้งกับหุ่นยนต์ โดยใช้ระบบอินเทอร์เน็ต (IoT) ในการควบคุม ทำให้สามารถควบคุมหุ่นยนต์ได้จากระยะไกล

ปัจจุบันได้ผลิตหุ่นยนต์ต้นแบบและทดลองใช้ในพื้นที่หอพักผู้ป่วยแล้ว พบว่าใช้ได้งานจริง จึงทำการขยายผลสำเร็จไปสู่ 4 โรงพยาบาลในจังหวัดทางภาคใต้ ได้แก่ รพ.ป่าตอง รพ.ยะลา รพ.ปัตตานี และรพ.สตูล โดยได้รับการสนับสนุนจากบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ในการช่วยประกอบหุ่นยนต์ รวมถึงให้คำแนะนำด้านความปลอดภัยตามมาตรฐานของโตโยต้า ทำให้สามารถประกอบหุ่นยนต์ที่มีความสมบูรณ์จำนวน 8 ตัว ในเวลาเพียง 7 วันเท่านั้น

ด้านนายมิจิโนบุ ซึงาตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า โตโยต้า ได้เข้ามาร่วมพัฒนาหุ่นยนต์ซิสเต็มส์ หลังจากที่รามาฯ ได้ทดลองใช้ไประยะหนึ่งแล้ว โดยนำองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีในสายการผลิตรถยนต์ มาประยุกต์ใช้ให้หุ่นยนต์มีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานมากขึ้น

ทั้งในด้านคุณภาพ ความปลอดภัย การติดตั้งใช้งานและบำรุงรักษา การติดตั้งระบบสื่อสารด้วยอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และเซนเซอร์ตรวจจับเส้นทาง เพื่อใช้ควบคุมการทำงานให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถสื่อสารกับผู้ป่วยได้ในระยะไกลแทนการปฏิสัมพันธ์โดยตรง เป็นการลดความเสี่ยงในการติดเชื้อระหว่างการตรวจและติดตามอาการ ตลอดจนช่วยลดการใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ อาทิ ชุด PPE หน้ากากอนามัย และถุงมือยาง เป็นต้น

อีกทั้งยังได้ร่วมสนับสนุนงบประมาณในการจัดสร้างและขยายผลการใช้งานไปยังโรงพยาบาลอีก 4 แห่งในภาคใต้ ดังที่ศ.นพ.ปิยะมิตรได้กล่าวไปแล้วข้างต้น เพื่อนำไปใช้ในการดูแลผู้ป่วยในโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ ตลอดจนร่วมศึกษาและปรับปรุงต้นทุนในการผลิตและติดตั้ง ให้สามารถนำหุ่นยนต์ซิสเต็มส์นี้ไปช่วยเหลือด้านการปฏิบัติการของบุคลากรทางแพทย์ในวงกว้างต่อไป

ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการสนับสนุนนวัตกรรมเพื่อช่วยเหลือผู้คนและยืดหยัดเคียงข้างสังคมไทย ในโครงการ Toyota stay with you โดยเชื่อว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการต่อยอดนวัตกรรมเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ตอบสนองวิถีชีวิตและขับเคลื่อนความสุขของชาวไทยในอนาคต

รศ.นท.ดร.นพ.สรยุทธ์ ชำนาญเวช ประสาทศัลยแพทย์ รองหัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้อำนวยการกลุ่มซิสเต็มส์ เปิดเผยว่า หุ่นยนต์ซิสเต็มส์เกิดจากความต้องการของคณะทำงาน ที่ต้องการพัฒนาหุ่นยนต์บริการทางการแพทย์ที่สามารถเคลื่อนที่ได้ด้วยตัวเองอย่างเสถียร

และสามารถดัดแปลงให้เหมาะกับการใช้งานหลากหลายพื้นที่ได้ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระงาน และลดการสัมผัส ลดความเสี่ยงในการที่จะติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 รวมถึงทลายข้อจำกัดของอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลที่กำลังขาดแคลนในขณะนี้

โดยเริ่มสร้างหุ่นยนต์ต้นแบบขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม และทำการทดลองใช้ที่วอร์ดผู้ป่วยศัลยกรรมชาย ซึ่งหลังจากที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โรงพยาบาลในพื้นที่ภาคใต้จึงได้แจ้งความต้องการหุ่นยนต์ซิสเต็มส์มายังรามาฯ โอกาสนี้โตโยต้า เลยเอื้อเฟื้อสถานที่โรงงานประกอบรถยนต์โตโยต้า (เกตเวย์) จ.ฉะเชิงเทรา ให้กับคณะทำงาน และช่วยประกอบหุ่นยนต์ รวมถึงแบ่งปันองค์ความรู้ด้านยานต์ยนต์ตามมาตรฐานสากล ทำให้สามารถประกอบหุ่นยนต์ได้ทันเวลาและเพียงพอต่อ

หุ่นยนต์ทั้ง 2 เวอร์ชันนี้ มีคุณสมบัติเหมือนกันทุกประการ คือ สามารถลดการสัมผัสผู้ป่วยได้เกือบ 90% ใช้ทดแทนชุด PPE หรืออุปกรณ์ป้องกันที่มีราคาสูงได้ เพราะใช้งบประมาณเพียง 100,000 บาทต่อ 1 ตัว ซึ่งถูกมากเมื่อเทียบกับราคาในท้องตลาด และสามารถใช้งานได้ยาวนาน แต่แตกต่างกันในเรื่องของรูปลักษณ์ภายนอก ที่เวอร์ชัน 2 มีขนาดกะทัดรัดมากขึ้น

“หุ่นยนต์ทางการแพทย์ “ซิสเต็มส์” นับเป็นอีกก้าวที่สำคัญของวงการแพทย์ ที่จะช่วยแบ่งเบาภาระของบุคลากรทางการแพทย์ ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ทำให้กระบวนการรักษาโควิด-19 มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ช่วยสร้างความสบายใจให้กับทั้งผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ โดยโรงพยาบาลรามาธิบดีหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหุ่นยนต์ซิสเต็มส์จะสร้างประโยชน์ให้แก่ผู้ป่วยทั่วประเทศไทยได้” รศ.นท.ดร.นพ.สรยุทธ์ กล่าวทิ้งท้าย


ทั้งนี้หุ่นยนต์ซิสเต็มส์ มีคุณสมบัติที่สำคัญหลายด้าน อาทิ

1.เสถียรภาพ (Stability and Performance)

หุ่นยนต์มีจุดศูนย์ถ่วงต่ำ สามารถทรงตัวได้ดี เพราะใช้ล้อและฐานจากรถเข็นไฟฟ้าเป็นต้นแบบ สามารถข้ามสายไฟ ธรณีประตู และขึ้นทางลาดเอียงเล็ก ๆได้โดยไม่คว่ำ อีกทั้งมีที่วางของ 2 ชั้น รับน้ำหนักได้มากถึง 10 กิโลกรัม แต่ใช้แรงไม่มากเวลาเข็น

2.การเคลื่อนที่ (Mobility)

ควบคุมการทำงานโดยระบบ IoT ทำให้ควบคุมในระยะไกล ข้ามจังหวัดได้ โดยสามารถเลือกตั้งค่าให้หุ่นยนต์เคลื่อนที่ด้วยระบบอัตโนมัติ (ตาม Track เส้นสีดำ) หรือเคลื่อนที่ด้วยระบบบังคับด้วยมนุษย์ (Telecontrol) อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือสลับโหมดคำสั่งได้ตลอดเวลา (Shift on the fly) และมีความพิเศษอยู่ที่จอแสดงผล ที่สามารถเคลื่อนไหวในหลายทิศทาง เช่น หมุน, ขึ้น-ลง, ซ้าย-ขวา ทำให้ควบคุมง่าย เพราะมองเห็นเป้าหมายในมุมกว้าง

3.ระบบความปลอดภัย (Safety)

มีปุ่ม Emergency stop อยู่ในที่ชัดเจน เข้าถึงง่าย ใช้งานง่าย และหากไม่สามารถเชื่อมต่อสัญญาณอินเทอร์เน็ตได้ หุ่นยนต์จะหยุดการเคลื่อนที่ทันที เพื่อรักษาความปลอดภัยในเบื้องต้น

4.การติดต่อสื่อสาร (Communication)

ใช้ IoT หรือการพึ่งพาอินเทอร์เน็ตจากสัญญาณมือถือ ทำให้ควบคุมได้จากทุกที่ ทุกเวลา อีกทั้งยังสามารถเก็บข้อมูลและมอนิเตอร์การใช้งานแบบเรียลไทม์ได้ เช่น ดูปริมาณพลังงานที่เหลืออยู่ของแบตเตอรี่ ในส่วนของการติดจ่อสื่อสารระหว่างผู้ควบคุมและผู้ป่วยจะใช้ “Skype” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ใช้งานได้ง่าย ทุกคนสามารถใช้ได้

5.ควบคุมหุ่นยนต์ในลักษณะขับเคลื่อนกึ่งอัตโนมัติ (semi-autonomous) ได้

6.ฮาร์ดแวร์หาง่าย

เนื่องจากหุ่นยนต์นี้ออกแบบและขึ้นรูปใหม่บนพื้นฐานรถเข็นไฟฟ้าที่หาง่ายภายในประเทศ มีความแข็งแรงและมั่นคงสูง


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน