เมื่อวันที่ 5 พ.ย. อินดิเพนเดนต์รายงานโดยอ้างผลวิจัยชิ้นใหม่จากวารสารแอนิมอล คอกนิชัน (Animal Cognition) ที่ระบุว่าวาฬที่เคยอยู่อาศัยใกล้ชิดกับกลุ่มปลาโลมาสามารถเรียนรู้ภาษาในการสื่อสารระหว่างกันได้

เมื่อสองเดือนมานี้ โคกเตเบล ศูนย์เลี้ยงปลาโลมาในสาธารณรัฐไครเมียนำวาฬเบลูกา หรือ วาฬขาว มาอยู่ร่วมกับบรรดาโลมา พบว่าพวกมันเริ่มสื่อสารระหว่างกัน โดยการทำเสียงผ่านการเป่าปาก

นอกจากนี้ทางนักวิทยาศาสตร์ยังพบอีกว่าวาฬขาวที่เรียนรู้ภาษาของโลมาก็กำลังจะลืมภาษาของตัวมันเอง

“สองเดือนหลังจากวาฬเบลูกาเข้าไปอยู่ในบ้านใหม่ พบว่ามันเริ่มเลียนแบบการเป่าปากเป็นจังหวะของโลมา ส่วนการสื่อสารเรียกแบบหนึ่งของมันเองกลับหายไป” เอเลนา ปานาโอวา นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิทยาศาสตร์รัสเซีย ในกรุงมอสโก ผู้วิจัยการส่งภาษาระหว่างโลมากับวาฬ กล่าว

บรรดานักวิทยาศาสตร์ใช้เวลาบันทึกเสียงเพื่อการวิจัยมากกว่า 90 ชั่วโมงเพื่อดูการสื่อสารระหว่างวาฬกับโลมา โดยปกติแล้วโลมาจะใช้วิธีการสื่อสารสองรูปแบบคือการเป่าปาก และทำเสียงคลิก โดยการทำเสียงคลิกสร้างเสียงสะท้อนให้เกิดขึ้นรอบๆ บริเวณ และจะใช้ขณะที่มันเป่าปากเพื่อสื่อสารกับสมาชิกโลมาอื่นๆ

ทั้งนี้ วาฬขาวถือว่าเป็นวาฬที่มีความฉลาดมาก งานวิจัยหนึ่งที่ทำช่วงปี 2555 พบว่า วาฬขาวพยายามเลียนแบบการพูดคุยให้เหมือนมนุษย์มากที่สุด ส่วนการวิจัยครั้งนี้ถือว่าเป็นการนำร่องครั้งสำคัญเนื่องจากวาฬขาวทิ้งภาษาของตัวเองเพื่อเรียนรู้ในการอยู่กับกลุ่มโลมา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน