เมื่อพูดถึงประเทศจีน คนไทยหลายคนอาจจะยังติดภาพจีนจากสมัยสงครามเย็น เมื่อ 30-40 ปีก่อน โดยเฉพาะใครที่เคยเดินทางไปเยือนประเทศจีนในช่วงนั้น อาจจะยังจำภาพความยากจนภายในการปกครองของระบอบคอมมิวนิสต์อย่างติดตา

แต่ประเทศจีนยุคปัจจุบัน เปลี่ยนแปลงไปอย่างแทบจำไม่ได้ จากที่คนจีนปั่นจักรยานกันเต็มเมือง (เพราะไม่มีเงินซื้อรถ) ตอนนี้มหานครอย่างปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ เต็มไปด้วยรถยนต์ จนรถติดเป็นเรื่องปกติ (ฮา) ส่วนจักรยานนั้น ก็ยังมีคนปั่นกันอยู่ แต่จักรยานจีนสมัยใหม่ มาพร้อมระบบ QR Code ใครอยากขี่ ก็สแกนผ่านมือถือเอาเลย แล้วคิดเงินตามระยะทาง

นี่เป็นเพียงตัวอย่างเดียวของความเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดของจีน และในเดือนต.ค.ที่ผ่านมา China Report ASEAN ซึ่งเป็นสำนักข่าวเกี่ยวกับประเทศจีน ประจำภูมิภาคอาเซียน ได้จัดกิจกรรมพาคณะสื่อมวลชนไทย เดินทางไปยังกรุงปักกิ่งเพื่อศึกษาดูงานหน่วยงานต่างๆ ของประเทศจีนในปัจจุบัน เพื่อสร้างความเข้าใจและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ

โดยในกิจกรรมนี้ คณะผู้จัดงานได้พาสื่อมวลชนไทยไปเยี่ยมชมสำนักข่าวในประเทศจีนด้วย จะได้เห็นกับตากันว่า สื่อจีนทำงานอย่างไร แตกต่างกับสื่อไทยตรงไหนบ้าง?

สื่อจีนที่เราไปเยี่ยมชมคือ สำนักงานใหญ่ของ China International Publishing Group (CIPG) ซึ่งเป็นหนึ่งในสื่ออันดับต้นๆ ของจีน ปัจจุบัน CIPG มีสำนักงานอยู่ใน 12 ประเทศทั่วโลก รวมถึงสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และรัสเซีย มีวารสาร 30 หัว เช่น Beijing Review, China Today และ China Report ซึ่งเป็นแม่งานของการเยือนครั้งนี้

นอกจากนี้ ยังมีเว็บไซต์ในสังกัดกว่า 30 แห่ง ที่โด่งดังที่สุดคือ www.china.org.cn

และที่สำคัญ สื่อในเครือ CIPG มีเพจบน Facebook ด้วย!

เพจ China Today

เพจ China Report ASEAN

เพจ China Report ASEAN ภาคภาษาไทย

มาถึงตรงนี้ คณะผู้สื่อข่าวไทยประหลาดใจกันมาก เพราะอย่างที่รู้กัน รัฐบาลจีนบล็อกไม่ให้ Facebook และโซเชียลมีเดียอื่นๆอย่าง Twitter หรือ Google ใช้งานได้ในประเทศจีน เนื่องจากเกรงว่าอาจจะเป็นช่องทางเผยแพร่ข่าวสารที่กระทบต่อความมั่นคง

แต่สื่อของทางการจีน กลับใช้ Facebook เสียเอง แบบนี้จะเข้าข่ายกระทำผิดหรือไม่?

คุณ Zhao Jun บรรณาธิการใหญ่ของ China Report อธิบายว่า สื่อในเครือ CIPG ได้รับอนุญาตให้ใช้เว็บไซต์ Facebook ได้ โดยเข้าผ่านเครือข่ายที่สามารถลอดผ่านระบบเซนเซอร์ของทางการจีน หรือที่เรียกว่า VPN

นิตยสาร China Report ASEAN

ทั้งนี้ก็เพื่อเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับประเทศจีน ให้ชาวโลกได้รับรู้ ผ่านข่องทางที่คนส่วนใหญ่ในโลกใช้

บรรณาธิการ Zhao กล่าวว่า ตนคิดว่า การใช้ VPN ไม่ได้ผิดเสมอไป แต่ขึ้นอยู่กับว่า ใช้ทำอะไรมากกว่า ข่าวที่บอกว่าทางการจีนจับกุมผู้เปิดบริการ VPN อาจเป็นเพราะคนเหล่านั้นใช้ VPN ทำสิ่งที่ผิด

“ถ้าใช้ VPN ในการเผยแพร่สิ่งที่ผิดกฎหมาย ผิดแน่นอน แต่เราไม่ได้ทำเช่นนั้น” Zhao กล่าวผ่านล่าม

บรรณาธิการท่านนี้ ยังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า คนไทยบางคนอาจจะมองจีนในเชิงลบ เพราะเป็นการมองผ่านมุมมองภายนอก จึงอยากให้คนไทยลองติดตามข่าวสารผ่าน China Report เพื่อจะได้เข้าใจประเทศจีนมากขึ้น

Zhao Jun บรรณาธิการ China Report (ขวา)

จากหลักการดังกล่าว เห็นได้ว่า ทางการจีนไม่ได้ปิดกั้นเทคโนโลยีในด้านข้อมูลข่าวสารอย่างสิ้นเชิง แต่ยังอนุญาตให้สื่อในสังกัดของตน เข้าถึงเทคโนโลยีอย่าง Facebook ได้ เนื่องจากยอมรับว่า Facebook ยังเป็นช่องทางการรับข่าวสารสำคัญของโลก

เรียกได้ว่า เป็นการใช้เทคโนโลยีอย่างสอดคล้องกับความต้องการของรัฐ ที่เน้นเผยแพร่ให้ข่าวสารเชิงบวกเกี่ยวกับจีนเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก แต่ยังไม่ยอมให้ข่าวสารเชิงลบเข้าถึงประชาชนในประเทศอย่างเสรี

ในปัจจุบัน สื่อทั้งหมดของจีน ยังควบคุมโดยรัฐ ไม่มีสื่อเอกชนแบบในประเทศไทย ดังนั้น การทำงานของสื่อจึงเดินไปทิศทางเดียวกันกับรัฐด้วย

บรรยากาศภายในสำนักข่าว CIPG

ดังเช่นที่เจ้าหน้าที่สื่อจีน อธิบายว่า เวลาเขารายงานข่าวใด เขาต้องคำนึงด้วยว่า ข่าวต่างๆ จะมีผลกระทบต่อประเทศ หรือกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างไรบ้าง

พูดง่ายๆก็คือ ต้องมีการเซนเซอร์ตัวเอง (self-censor) ในระดับหนึ่ง หลีกเลี่ยงการเสนอข่าวที่อาจจะสร้างความปั่นป่วนวุ่นวาย เป็นต้น ขณะที่สื่อในหลายประเทศ รวมถึงไทย มองว่าสื่อมีหน้าที่รายงานอย่างตรงไปตรงมา เป็นเอกเทศจากรัฐ

นี่คือความแตกต่างสำคัญระหว่างสื่อจีนกับสื่อไทย ซึ่งคงไม่เปลี่ยนแปลงเร็วๆนี้แน่นอน

เขียนโดย ธีรนัย จารุวัสตร์

 

คอลัมน์ “ไทยถาม จีนตอบ” มีเป้าหมายนำเสนอข่าวสารและเรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับประเทศจีน โดยผู้อ่านสามารถส่งคำถามที่อยากทราบเกี่ยวกับประเทศจีนมาให้ผู้เขียนได้ที่ ได้ที่อีเมลล์ [email protected] หรือส่งข้อความหลังไมค์มายังเพจ Facebook ของข่าวสด

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน