จักษุแพทย์ เตือน!! ไม่มี อาหารเสริม ใด รักษาโรคตาได้ ไม่อยากติดเชื้อ อย่างเสี่ยง

อาหารเสริม – หลังจากเกิดกรณีแพทย์ต้องทำการควักลูกของหญิงอายุ 56 ปี จากสาเหตุการติดเชื้อ หลังใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากใบพลูคาว อ้างว่าเป็นอาหารเสริมรักษาโรคตาได้สารพัด ผ่านการกินและหยอดตานั้น

วันที่ 6 ก.ย. นพ.ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ ประธานวิชาการ ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย และหัวหน้าศูนย์ตาธรรมศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการรักษาโรคทางตานั้น คือ 1.ไม่มีผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรืออาหารเสริมใดๆ ที่ใช้เกี่ยวกับดวงตาได้ เพราะการจะได้รับวิตามินนั้น สามารถรับได้จากอาหารทั่วไปอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องซื้อมากิน ที่สำคัญอย่างวิตามินเอ ที่ระบุว่าดีกับสายตา หากรับประทานมากๆ ย่อมก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ผมร่วง ผิวแห้ง เป็นต้น

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า 2.อะไรก็ตาม หรือแม้แต่ผลิตภัณฑ์ใดๆ ที่อ้างว่ารักษาดวงนั้นได้นั้น ต้องบอกว่าไม่เป็นความจริง เพราะผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่ใช่ยา ถือเป็นการโฆษณาเกินจริง และการรักษาโรคตา ก็ต้องผ่านการวินิจฉัยโดยจักษุแพทย์ อย่างโรคต้อเนื้อ ต้อกระจก หรือโรคตาต่างๆ 3.อย่าใช้ยาผิดประเภท ยากินมาใช้เป็นยาหยอด หรืออะไรก็ตามย่อมเสี่ยง ยิ่งกรณีนี้ไม่ใช่ยา แต่อ้างผลการรักษายิ่งต้องระมัดระวัง ทางกลุ่มมูลนิธิผู้บริโภคทางขอนแก่นแจ้งมาว่า จริงๆ แล้วผู้ป่วยรายนี้ไม่ได้เปลี่ยนจากกินมาหยอดตาเอง แต่ตัวแทนขายแนะนำ ซึ่งตรงนี้ก็ต้องไปดำเนินการตามกฎหมาย

อาหารเสริม

คุณป้าที่ใช้อาหารเสริมหยอดตา

“ปัญหาคือ ดวงตาเป็นอะไรที่บอบบางมากๆ การนำน้ำสมุนไพร หรือแม้แต่น้ำเปล่า มาหยอดตา และหากกระจกตาเรามีรอยฉีก หรือมีแผลเล็กๆ ก็เสี่ยงติดเชื้อได้ ยิ่งกรณีนี้เราไม่มีทางรู้ว่าเขามีการผ่านกระบวนการผลิตมาอย่างไร มีความสกปรกหรือไม่ หรือการผลิตได้รับมาตรฐานแค่ไหน ก็ย่อมต้องเสี่ยงติดเชื้อ เพราะขนาดน้ำเปล่าหยอดตา หากเลนส์ตามีรอยก็ทำให้แสบ มีความเสี่ยงติดเชื้อเช่นกัน ซึ่งกรณีนี้เมื่อหยอดตาเข้าไปมีการติดเชื้อที่กระจกตา ก็ลุกลามเข้าไปในลูกตา ซึ่งการรักษาจะให้ยาฆ่าเชื้อ แต่เมื่อไม่ได้ผลก็จำเป็นต้องนำลูกตาออก เพราะไม่เช่นนั้นเชื้อจะลุกลามเข้าสมองหรืออวัยวะอื่นๆ ที่อันตรายยิ่งขึ้น” นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวอีกว่า ปัญหาการใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ เกี่ยวกับตามีจำนวนมาก ที่ผ่านมาทางราชวิทยาลัยฯ ได้ร่วมกับคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการเฝ้าระวังเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์การอวดอ้างสรรพคุณต่างๆ มีการประสานกับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีการดำเนินการจับกุมมาตลอด อย่างไรก็ตามหากมีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ สามารถประสานมาทางราชวิทยาลัยจักษุฯได้ ที่เบอร์ 02 718-0715-6 หรือติดตามได้ที่เฟซบุ๊ก “สุขภาพตา โดย ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย All About Eye by RCOPT”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน