ผู้บุกเบิกจัดมาราธอนในไทย แนะ ควรจัดระเบียบงานวิ่ง ให้ได้มาตรฐาน ชี้มือสมัครเล่นเยอะ ทำเกิดปัญหา !!

ควรจัดระเบียบงานวิ่ง – หลังจากเกิดเหตุดราม่าในวงการวิ่งหลายต่อหลายเหตุการณ์ จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ถึงมาตรฐานในการจัดการแข่งขัน ซึ่งในระยะหลังนักวิ่งจำนวนมากเริ่มตั้งคำถาม ไม่ว่าจะเป็นการให้น้ำที่ไม่เพียงพอของรายการวิ่งชื่อดังที่จ.ชลบุรี

รวมทั้งงานวิ่งรายการใหญ่ของกรุงเทพที่เปิดรับสมัครไม่จำกัดจำนวนจนมีปัญหาว่านักวิ่งที่ต้องการทำสถิติไม่สามารถวิ่งได้เนื่องจากมีนักวิ่งอัดแน่นเต็มท้องถนน

เรื่องนี้ สงคราม ไกรสิทธิ์ ประธานกรรมการ อเมซิ่ง ฟิลด์ อดีตผู้จัดการแข่งขันกรุงเทพมาราธอนกว่า 30 ปี กล่าวว่า การจัดงานวิ่งเป็นงานที่จะต้องประสานกับหน่วยงานจำนวนมาก ผู้จัดการแข่งขันหรือออร์แกไนเซอร์เองจะต้องมีความรู้ และปฏิบัติตามกฏระเบียบของสหพันธ์กรีฑานานาชาติ(ไอเอเอเอฟ) หรือ เป็นสมาชิกของ AIMS สมาคมวิ่งมาราธอน และระยะไกลนานาชาติ รวมถึงควรจะได้รับการรับรองจากสมาคมกรีฑาแห่งประเทศไทยฯ

“เจ้าภาพจัดการแข่งขันต้องคัดสรรออแกไนเซอร์ให้ดีถือเป็นเรื่องสำคัญมากๆ โดยต้องดูโปรไฟล์การจัดงานย้อนหลังด้วย งานที่เกิดปัญหาส่วนใหญ่ก็เกิดจากการจัดงานโดยออแกไนเซอร์มือสมัครเล่น จับแพะชนแกะกันเอง

ต้องยอมรับว่าการจัดงานวิ่งนั้นเป็นเรื่องที่ซับซ้อน และต้องประสานงานกับหลายๆองค์กร ออร์แกไนเซอร์ในบ้านเราที่มีความสามารถ และมีโปรไฟล์ชัดเจนก็มีอยู่ราวๆ 10 แห่ง แต่ในทางกลับกันการจัดงานวิ่งในเมืองไทย ตามที่กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาระบุไว้ปีหนึ่งตกกว่า 1,000 งานขึ้นไป เป็นการจัดการกันเองเสียเป็นส่วนใหญ่ ใครอยากจัดบางครั้งก็หวังที่เงินทอน มันก็เลยขาดตกบกพร่องขึ้นมา”

มือโปรการจัดงานวิ่งมาราธอนในเมืองไทย เสริมอีกว่า ค่าสมัครเองก็มีผลต่อคุณภาพของงานวิ่งนั้นๆโดยในต่างประเทศการจัดงานวิ่งอย่าง นิวยอร์ก มาราธอน และ ชิคาโก้ มาราธอน มีค่าสมัครกว่า 300 เหรียญสหรัฐ หรือเกือบๆ 10,000 บาท ซึ่งตรงนี้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายให้กับฝ่ายจัด

ขณะที่ในเมืองไทยค่าสมัครไม่แพง เงินงบประมาณส่วนใหญ่พึ่งพาจากสปอนเซอร์ หรือ เอกชนผู้จัดงานเท่านั้น และจะหากำไรก็ถือว่ายาก

“สปอนเซอร์เองก็หายาก และส่วนใหญ่ก็คิดเอาว่าฝ่ายจัดจะได้เงินจากค่าสมัครแล้ว ซึ่งในความเป็นจริงจะเพียงพอหรือไม่ ก็คงบอกว่าไม่เพียงพอ เพราะการจัดงานวิ่งที่มีคุณภาพจริงๆ คือการปิดถนน 100 เปอร์เซนต์ การจัดงานวิ่งต้องใช้คำว่าใช้คนเป็นกองทัพ เพราะมันไม่ใช่แค่การออกสตาร์ต และเข้าเส้นชัย

ระหว่างทางต้องมีอาสาสมัคร พนักงานบริการ งานกำกับเส้นทาง ประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ต้องใช้คนราวๆ 300-400 คน สำหรับงานวิ่งราวๆ 5,000-6,000 คน ก็ต้องมองย้อนกลับไปว่า ถ้าเลือกออร์แกไนเซอร์ที่ไม่มีคุณภาพ จัดงานแบบขอไปที ไม่ได้สนใจภาพลักษณ์ จัดงานเสร็จก็จบ มันก็เลยมีปัญหาขึ้นมา

ว่าด้วยเรื่องการจัดการวิ่งเองมีการรับรองในหลายระดับ พวกงานวิ่งใหญ่ๆ 1 ปีครั้ง ไม่ว่าจะเป็นพัทยา, ขอนแก่น, ภูเก็ต หรืออย่างงานวิ่งที่ริเวอร์แคว จะเป็นสมาชิกของ AIMS อยู่แล้ว ซึ่งการจัดแต่ละครั้ง AIMS จะส่งผู้แทนมาเช็กระยะว่าการวิ่ง 42.195 กม.ตรงไหม วิ่ง 21.1 กม.วัดระยะถูกต้องไหม และลงมาดูว่าได้มาตรฐานที่กำหนดหรือไม่ก่อนจะให้การรับรอง

ขณะที่การจัดรองๆลงไปนั้น ก็อาจจะขออนุญาติจากสมาคมกรีฑาแห่งประเทศไทย เพื่อให้การจัดการถูกต้องตามข้อกำหนด ซึ่งจะมีเช็กลิสต์ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง แต่ที่ผ่านมาก็ขึ้นอยู่กับว่าได้ทำตามเช็กลิสต์หรือไม่ ขณะที่แน่นอนว่าระดับรองๆลงไปจำนวนมาก ไม่ได้ทำตาม หรือไม่ได้ขอให้ผ่านการรับรอง”

ทั้งนี้ไม่ใช่เพียงแค่ส่วนของผู้จัดฯ นักวิ่งเองก็มีหน้าที่เช่นกัน เพื่อเป็น “สมาร์ตรันเนอร์” เพราะการสมัครแข่งขันจะต้องรับรองตนเองว่ามีสุขภาพพร้อมแข่งขัน และผ่านการฝึกซ้อม รวมทั้งจะต้องทำสัญญาในกรณีเกิดการเจ็บป่วยต่างๆว่าจะไม่เรียกร้องกับผู้จัดฯ ยกเว้นกรณีเกิดอุบัติเหตุระหว่างทาง

ซึ่งหากฝ่ายจัดมีประกันก็ไม่มีปัญหา และผู้สมัครเองก็จะต้องรับผิดชอบตัวเองด้วย ไม่ใช่การสมัครเอาไว้แล้วให้เพื่อนไปแข่งขัน เพราะเคยเกิดเหตุการณ์ขึ้นมาว่า คนที่ไปแทนได้รางวัล ก็เกิดดราม่าขึ้นมา และฝ่ายจัดการแข่งขันจะเป็นฝ่ายถูกตำหนิ

 

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่

เพิ่มเพื่อน

________________________________________________________________________

ข่าว ดราม่างานวิ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน