ผู้พิพากษา ชี้หาก พรบ.ไซเบอร์ ผ่าน ละเมิดสิทธิร้ายแรง แค่สงสัย ยึดคอมฯได้ แนะเลือกตั้งแก้ปัญหา

เมื่อวันที่ 20 ก.พ. นายศรีอัมพร ศาลิคุปต์ ผู้พิพากษาอาวุโส ในศาลอุทธรณ์ ให้ความเห็นถึง ร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ที่มีข่าวว่ากำลังจะมีการนำเข้าพิจารณา ของ สนช.วาระ 2-3 ในวันที่ 22 ก.พ.นี้ว่า หากร่างดังกล่าวในหลักการไม่ได้มีการเเก้ไขในเรื่องการให้อำนาจของเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ Cyber Security ในการเข้าตรวจค้น ยึด ข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ โดยเหตุเเค่เพียงต้องสงสัยโดยที่ไม่ได้เริ่มคดีเเละไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลขอหมายค้นจากศาล ซึ่งเป็นการผิดหลักการของกระบวนการยุติธรรมในทางสากล หรือ รูล ออฟ ลอว์ ที่จะเป็นหลักนิติรัฐนิติธรรม

เป็นเรื่องสุ่มเสี่ยงที่นะก่อให้เกิดความเสียหายในเรื่องสิทธิเสรีภาพประชาชนอย่างร้ายเเรง ตามที่ตนเคยเเสดงความกังวลไว้หลายครั้งเเล้ว ซึ่งหากร่างกฎหมายที่มีหลักการดังกล่าวมีเเนวโน้มที่จะผ่านการพิจารณาของ สนช.มาบังใช้กฎหมาย

ต่อไปก็จะต้องเป็นเรื่องของประชาชนที่จะตัดสินว่ากฎหมายเเบบนี้ควรจะอยู่ต่อไป โดยมีทางเลือกที่จะมีโอกาสเเก้ไขเปลี่ยนเเปลงได้คือ รัฐบาลใหม่ที่กำลังจะเข้ามาในการเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค. ประชาชนต้องเลือกพรรคที่มีนโยบายไม่สนับสนุนกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพ

เพราะกระบวนการออกกฎหมายในขณะนี้ยังเห็นความมั่นคงของรัฐบาลค่อนข้างที่จะสำคัญมากกว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ทำให้ความถ่วงดุลมันลดน้อยถอยลง ต่อไปประชาชนก็จะต้องดูว่านโยบายพรรคไหนที่จะสนับสนุนในเรื่องสิทธิเสรีภาพ ตรงนี้เป็นอำนาจของประชาชนที่ขัดเจน

เมื่อถามว่า หากร่าง พ.ร.บ.ไซเบอร์ประกาศใช้ออกมาโดยไม่มีการเเก้ไขหลักการจะขัดต่อหลักสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญหรือไม่

นายศรีอัมพร กล่าวว่า คนที่จะวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะเป็นผู้ชี้ขาด ซึ่งเราก็ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าศาลจะมองอย่างไร เเต่เร็วๆนี้เรากำลังจะมีทางเลือกอยู่คือการมองนโยบายของพรรคการเมืองว่าพรรคใดห่วงสิทธิเสรีภาพเเละจะไปเเก้ไขกฎหมายนี้ เพื่อลดเเละสามารถตรวจสอบการใช้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ไซเบอร์

หากมีการผ่านกฎหมายฉบับนี้บังคับใช้ไปเเล้ว ตัวเลือกอันนี้ จึงเป็นทางที่ประชาชนจะเเสดงออกได้ ว่าประชาชนจะเห็นว่ากฎหมายนี้กระทบสิทธิเสรีภาพหรือไม่ เพราะไม่ว่าจะเป็นเรื่องวิธีการเข้าชื่อเเก้กฎหมายภายหลังอาจเป็นไปได้ค่อนข้างยาก

“จะต้องมีกลไกในการตรวจสอบถ่วงดุลไม่ให้เจ้าพนักงานใข้อำนาจเกินเลยจนเกิดความเสียหายต่อประชาชน เเละนิติบุคคลที่มีการทำการค้าต่างประเทศที่จะได้รับผลกระทบต่อ พ.ร.บ.นี้ ในวันที่ 24 มี.ค.นี้สิทธิที่ประชาชนใช้จะเป็นเเนวทางบอกความต้องการของประชาชน “นายศรีอัมพร กล่าวย้ำ

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน