ย้อนโศกนาฏกรรมสุดสลด “เจ้าหน้าที่รัฐ เผาคนลงถังแดง” เสียชีวิตนับพัน หลังเผย “เหตุบิลลี่ตาย” พฤติการณ์คล้ายกัน

จากรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ร่วมกันแถลงข่าวความคืบหน้าคดีการหายตัวไปของ นายพอละจี หรือบิลลี่ รักจงเจริญ แกนนำกะเหรี่ยงโป่งลึก-บางกลอย ที่หายตัวไปอย่างลึกลับ เมื่อวันที่ 17 เม.ย.2557 ซึ่งล่าสุด พบชิ้นส่วนกระดูก 2 ชิ้น ถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร 1 ถัง เหล็กเส้น 2 เส้น ถ่านไม้ 4 ชิ้น และเศษฝาถังน้ำมัน จากนั้นส่งให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ทำการตรวจพิสูจน์พบว่า

วัตถุเป็นชิ้นส่วนกระดูกกะโหลกศีรษะข้างซ้ายของมนุษย์ มีรอยไหม้สีน้ำตาล ร่วมกับรอยแตกร้าว และการหดตัวของกระดูกจากการถูกความร้อนที่อุณหภูมิประมาณ 200-300 องศาเซลเซียส

ซึ่งดีเอ็นเอ ตรงกับนางโพเราะจี รักจงเจริญ มารดาของนายพอละจี เมื่อพิจารณาจากสถานที่เกิดเหตุ พยานหลักฐานในสำนวนอื่นประกอบ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษจึงเชื่อว่า วัตถุดังกล่าวเป็นกระดูกของ “นายพอละจี รักจงเจริญ ที่เสียชีวิตแล้วโดยไม่ทราบวิธีที่ทำให้ตาย แต่นำมาเผาทำลายเพื่ออำพรางคดี” ตามที่ได้ทำเสนอข่าวไปแล้วนั้น

 

หากจะกล่าวถึง “พฤติการณ์เผาลงถังน้ำมัน 200 ลิตร” ที่เป็นอีกสาเหตุการเสียชีวิตของ “บิลลี่” นั้น ถ้าย้อนกลับไป เมื่อประมาณ เกือบ 60 ปีที่แล้ว ช่วงปี พ.ศ. 2500 ต้นๆ ก็เคยเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ขึ้น ที่ในพื้นที่ภาคใต้ของเมืองไทย ในช่วงนั้นเป็นช่วงของการต่อสู้และปราบปรามกลุ่มประชาชนที่ถูกสงสัยว่า “เป็นคอมมิวนิสต์” อย่างรุนแรง ด้วยวิธีการนอกกฏหมาย ที่ถูกเรียกว่ากันจนติดปากว่า “ตำนานถีบลงเขา เผาลงถังแดง”

เหตุการณ์ถีบลงเขา เผาลงถังแดง

ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เคยเรียบเรียงเรื่องราวดังกล่าว ไว้ในเว็บไซต์ของสถาบันพระปกเกล้า โดยมีใจความสำคัญ ดังนี้

เหตุการณ์ “ถังแดง” หรือ รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า “เผาลงถังแดง” เป็นเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของรัฐที่ใช้วิธีการรุนแรงนอกกระบวนการกฎหมาย เพื่อลงโทษผู้ต้องสงสัยว่าเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการคอมมิวนิสต์ ในเขตจังหวัดพัทลุง และพื้นที่ใกล้เคียง ในช่วงเวลาของทศวรรษ 2510 ปฏิบัติการที่ถูกกล่าวถึงในแง่ลบนี้ คือ

การที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐด้วยวิธีการจับกุมผู้ต้องสงสัยมาใส่ในถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร ซึ่งใส่น้ำมันเชื้อเพลิงเอาไว้ในก้นถังประมาณ 20 ลิตร แล้วจึงเผาผู้ต้องสงสัยเหล่านั้น โดยที่ผู้ต้องสงสัยบางส่วนถูกทรมานจนเสียชีวิตมาก่อนหน้านั้น ในขณะที่บางส่วนซึ่งยังไม่เสียชีวิตก็จะถูกเผาทั้งเป็น

การเลือกใช้ความรุนแรงของรัฐที่มีต่อผู้ต้องสงสัยในเวลาดังกล่าว เป็นผลมาจากการหล่อหลอมความคิดเรื่องความชิงชังและความเป็นศัตรูระหว่างเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐกับกลุ่มประชาชนที่ถูกมองว่าเป็นผู้ปฏิเสธอำนาจ ของรัฐบาลสถานการณ์เช่นนี้เ กิดขึ้นในยุคของสงครามเย็น ซึ่งการต่อสู้กันทางด้านอุดมการณ์ทางการเมืองและทางการทหาร

โดยขณะนั้น ลัทธิคอมมิวนิสต์กำลังแพร่หลายทั่วไปทั้งในระดับสากลและภายในประเทศ สำหรับพื้นที่จังหวัดพัทลุงและพื้นที่ใกล้เคียงนั้นก็เป็นพื้นที่เคลื่อนไหวที่สำคัญทั้งทางการเมืองและทางการทหารของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และในขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่สำคัญในการปฏิบัติการทางการเมืองและการทหารของรัฐบาลไทยเช่นกัน

อนุสรณ์ “ถังแดง” ภายในอุทยานประวัติศาสตร์ถังแดง จ.พัทลุง (ขอบคุณ เว็บไซต์ เทศบาลตำบลลำสินธุ์)

เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ และมีสมาชิกของพรรคเข้ามาปฏิบัติการทางการเมืองในพื้นที่ภาคใต้ก็ทำให้ประชาชนในพื้นที่จำนวนมากได้รับอิทธิพลจากแนวคิดทางการเมืองดังกล่าวและเข้าร่วมดำเนินงานกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยมากขึ้น ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากปัจจัยในเรื่องความยากลำบากในการดำเนินชีวิตและความไม่พอใจต่อการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐทั้งในเรื่องการทุจริตคอรัปชั่นและกดขี่ข่มเหงประชาชนในพื้นที่

หลังจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในพื้นที่ภาคใต้สามารถหาสมาชิกและแนวร่วมได้มากขึ้น และสามารถขยายขอบเขตความเคลื่อนไหวไปสู่การใช้กำลังอาวุธ ทำให้รัฐบาลซึ่งมีนโยบายที่แข็งกร้าวในการต่อต้านการเติบโตของแนวคิดและขบวนการคอมมิวนิสต์ ได้เพิ่มความเข้มแข็งของการดำเนินงานด้านความมั่นคงและส่งหน่วยงานด้านความมั่นคงเข้ามาประจำการในพื้นที่ภาคใต้มากขึ้น

ต่อมาในปี พ.ศ. 2512 รัฐบาลเผด็จการทหารในขณะนั้น ได้ส่งกำลังทหาร ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) และอาสารักษาดินแดน (อส.) มาตั้งฐานปฏิบัติการในหมู่บ้านบริเวณชุมชนเทือกเขาบรรทัดหลายจุดด้วยกัน

ไม่พลาดข่าว ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อน

ต่อมา ในปี พ.ศ. 2517 รัฐบาลได้ส่งกำลังทหารจำนวนมากเข้าประจำการในพื้นที่จังหวัดพัทลุง คือ บริเวณพื้นที่บ้านคลองหมวย ตำบลบ้านนา อำเภอเมืองพัทลุง จำนวน 1 กองพัน และแยกกำลังอีกส่วนหนึ่งไปตั้งที่บ้านท่าเชียด อำเภอตะโหมด เพื่อหมายจะปราบปรามคอมมิวนิสต์ให้สิ้นซาก มีการใช้อาวุธสงครามที่มีอานุภาพสูงในการปฏิบัติการ มีการจับกุมแนวร่วมและสมาชิกของขบวนการคอมมิวนิสต์ในพื้นที่

ภายใต้ปฏิบัติการด้านความมั่นคงเหล่านี้ทำให้มีชาวบ้านจำนวนมากถูกจับกุม และนำตัวไปสอบสวนในเขตพื้นที่ปฏิบัติการของฝ่ายความมั่นคง จนกระทั่งปี พ.ศ. 2515 ชาวบ้านบางส่วนที่ถูกนำตัวไปสอบสวนในค่ายทหารบางแห่งโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ค่ายเกาะหลุง” ใน ตำบลบ้านนา และ “ค่ายท่าเชียด” ใน ตำบลตะโหมดเริ่มสูญหายไปเป็นจำนวนมาก

และเมื่อมีผู้มาสืบถามถึงผู้ที่สูญหายหลังจากการการถูกจับกุมมาให้สอบสวน เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่จับกุมชาวบ้านมาสอบสวนก็จะชี้แจงว่าได้ดำเนินการปล่อยตัวคนเหล่านั้นกลับบ้านไปแล้ว แต่ต่อมาก็เริ่มมีการร่ำลือกันถึงการ “เผาลงถังแดง” แพร่ไปทั่วพื้นที่จังหวัดพัทลุง และพื้นที่ใกล้เคียง

อนุสรณ์ “ถังแดง” ภายในอุทยานประวัติศาสตร์ถังแดง จ.พัทลุง (ขอบคุณ เว็บไซต์ เทศบาลตำบลลำสินธุ์)

เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้บ่อยครั้งขึ้นก็ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตถึงการหายตัวไปดังกล่าว และเริ่มมีการโจษจันถึงการที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงใช้กระบวนการ “ถังแดง” เพื่อจัดการกับประชาชนในพื้นที่ซึ่งถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นแนวร่วมหรือสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย โดยมักจะอ้างอิงถึงการพบกลุ่มควันไฟต้องสงสัยขนาดใหญ่ที่พวยพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าอย่างบ่อยครั้งในเขตพื้นที่ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง

ต่อมาเมื่อข่าวการสูญหายไปของประชาชนจำนวนมากในพื้นที่กลายเป็นที่โจษจันของชาวบ้านในพื้นที่มากขึ้น ทำให้ประชาชนจังหวัดพัทลุงและผู้ที่เกี่ยวข้องเริ่มนำเรื่องราวเหล่านี้ออกเผยแพร่สู่สาธารณชน โดยเมื่อ13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาและแนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ เปิดอภิปรายที่สนามหลวง และมีแถลงการณ์กรณีถังแดง

โดยเรียกร้องให้รัฐบาลยุบ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน(กอ.รมน.) โดยด่วน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ยุติการสังหารประชาชนในการปราบปรามคอมมิวนิสต์แบบเหวี่ยงแหและให้รัฐบาลใหม่ชดใช้ค่าเสียหายแก่ครอบครัวผู้เคราะห์ร้ายทุกครอบครัว 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 ชาวบ้านจากจังหวัดพัทลุง พร้อมด้วยนายพินิจ จารุสมบัติ รองเลขาฝ่ายการเมืองศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ได้เข้าพบ พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา ผู้บัญชาการทหารบกในเวลานั้นเพื่อเรียกร้องเกี่ยวกับกรณีถังแดง

ซึ่ง พล.อ.กฤษณ์ ยอมรับว่า เรื่องถังแดงนั้นได้เกิดขึ้นจริง พร้อมกันนั้นได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน และเตรียมเสนอให้รัฐบาลใหม่ถอนกำลังจาก กอ.รมน. ให้หมดด้วย ขณะที่นายอ่ำ รองเงิน ผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง 3 สมัย จากพรรคประชาธิปัตย์ ได้นำกรณีนี้ไปอภิปรายในรัฐสภาและเปิดเผยต่อประชาชนร่วมกับศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย

ผลพวงจากการเปิดเผยเรื่องราวของเหตุการณ์ “ถังแดง” ยังส่งผลกระทบต่อข้าราชการในพื้นที่ คือ นายจำลอง พลเดช ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ซึ่งเห็นด้วยกับการเปิดเผยข้อเท็จจริงในกรณีถังแดง แต่กลับถูกถูกนายวิญญู อังคณารักษ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้นเรียกตัวเข้าพบและตำหนิในท่าทีดังกล่าว

แม้จะเชื่อกันว่ามีผู้เสียชีวิตจากปฏิบัตินี้เป็นจำนวนมาก แต่ก็ไม่สามารถระบุถึงจำนวนผู้เสียชีวิตอย่างชัดเจน โดยบางแหล่งข้อมูลระบุว่ามีผู้เสียชีวิต 3,008 ราย ในขณะที่ข้อมูลจากพันเอกวิจักขพันธุ์ เรือนทอง นายทหารผู้รับผิดชอบภารกิจด้านการเจรจากับกองกำลังพรรคคอมมิวนิสต์ภาคใต้ในเวลาต่อมาระบุว่าจำนวนดังกล่าวเป็นยอดผู้เสียชีวิตในกรณีคอมมิวนิสต์ทั้งหมดของจังหวัดพัทลุง นครศรีธรรมราช และสุราษฏร์ธานี มิใช่กรณีของถังแดงเท่านั้น

ในขณะที่ พ.อ.หาญ พงศ์สิฏานนท์ ผู้ช่วยหัวหน้าฝ่ายอำนวยการและประสานงานกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในในขณะนั้น ยอมรับในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 ว่าข่าวที่ระบุว่าเจ้าหน้าที่ของ กอ.รมน. ได้สังหารชาวบ้านจากหลายอำเภอของจังหวัดพัทลุง ด้วยการจุดไฟเผาซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 3,000 ศพ นั้นเป็นความจริง

และในท้ายที่สุดแล้วเรื่องราวของการสังหารโหดด้วยวิธีการถังแดงก็ไม่มีการติตตามอย่างจริงจังในการเอาผิดทางกฎหมายแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ ซึ่งก็เป็นเช่นเดียวกับเหตุการณ์รุนแรงที่สำคัญอื่นๆอีกหลายครั้งที่กระทำขึ้นโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐต่อประชาชนในยุคนั้น


 

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน