จิตแพทย์ ยกปมร้อน อาม่าตบนักเรียน แนะ 10 วิธีจัดการปัญหาเด็กถูกกระทำ

เหตุการณ์ความรุนแรง ระหว่าง อาม่า กับ นักเรียนชายรายหนึ่ง ที่เกิดขึ้นในโรงเรียน ตามมาด้วยกระแสวิพากษ์วิจารณ์มากมาย ซึ่งเรื่องดังกล่าวถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เนื่องจากเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นในโรงเรียน และเกิดขึ้นระหว่าง เด็กชาย กับหญิงสูงอายุ

ต่อเรื่องดังกล่าว เฟซบุ๊กเพจ เข็นเด็กขึ้นภูเขา โดย ‘หมอมินบานเย็น’ หรือ คุณหมอ ‘เบญจพร ตันตสูติ’ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น แสดงความคิดเห็นในมุมมอง จิตแพทย์ความว่า

วันนี้มีข่าวเรื่องของเด็กและอาม่า ที่เผยแพร่เป็นคลิปอยู่ในวันนี้ มีหลายคนถามหมอว่าสิ่งที่เด็กทำวันนี้ถูกมั้ย และจริงๆ ถ้าเด็กถูกทำร้ายร่างกายด้วยการตบหน้าแบบในคลิป ควรจะทำอย่างไร

กดติดตามไลน์ ข่าวสด official account ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

ก่อนอื่นหมอคงต้องบอกว่า หมอไม่อยากที่จะพูดเจาะจงลงไปในกรณีของเด็ก หมอไม่อยากให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ตัวเด็ก เพราะหมอเป็นห่วงว่าจะกระทบกระเทือนทั้งตัวเด็ก และตอนนี้เห็นบางกระแสในโลกออนไลน์ถามหาหลานของอาม่าที่น่าจะเรียนอยู่โรงเรียนนี้ ก็น่าเป็นห่วงหลานอาม่าเช่นกัน ว่าจะได้รับผลกระทบอะไรหรือไม่

ดังนั้นก่อนอื่นหมอขอร้องว่าในการเสพข่าวและนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน ไม่อยากให้มีการเผยแพร่คลิปที่มีรูปพรรณสัณฐานของเด็กหรืออาม่าก็ตาม เพราะยิ่งเป็นการโหมกระพือความไม่พอใจของสังคม และทุกอย่างล้วนเป็น Digital Footprint ประวัติที่เหมือนรอยเท้าในโลกออนไลน์ซึ่งมีผลกระทบในวันนี้และอนาคตกับตัวเด็กหรือหลานอาม่าก็ตาม

อย่างไรก็ตามหมอขอตอบในแนวทางกว้างๆ

“สมมติว่าลูกหลานของเราถูกกระทำแบบนี้ หรือถูกเพื่อนบูลลี่ เด็กควรทำอย่างไร ผู้ใหญ่ควรช่วยเหลือแนะนำเด็กยังไงบ้าง” (แต่ไม่ได้เจาะจงในกรณีนี้อย่างเฉพาะ) ถือเป็นการเสพข่าวอย่างมีสติ เข้าใจและสร้างสรรค์

1.สิ่งที่ผู้ใหญ่ควรจะทำเป็นอย่างแรกคือ ‘มีสติ’ และ ‘รับฟัง’ เด็กค่ะ

เพราะบางครั้งเราไม่เห็นเหตุการณ์ทั้งหมด แต่อาจจะเป็นลักษณะที่ว่า ครูบอกว่าลูกไปทำร้ายคนอื่น ผู้ใหญ่อย่าเพิ่งรีบด่วนสรุป และมีอารมณ์กับเรื่องราว

2.ถามเด็กว่าเกิดอะไรขึ้น การที่เด็กได้เล่า ก็เป็นการได้ระบายความรู้สึก อย่าเพิ่งรีบสอนทันที

การที่มีใครสักคนพร้อมจะรับฟัง ทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองเป็นที่ยอมรับ ได้รับความเข้าใจ

ช่วงที่ฟัง ผู้ใหญ่ก็อย่าเพิ่งไปขัดเขาด้วยคำถาม ยิ่งเป็นคำถามประเภท “เธอไปทำอะไรเขาก่อน ทำไมเขาถึงมาทำเธอ” จะทำให้เด็กรู้สึกว่า ผู้ใหญ่มองว่าเขาคงทำผิดอะไร เพื่อนจึงมาแกล้ง

ถ้าผู้ใหญ่สงสัยจริงๆ อาจจะใช้คำถามว่า “เกิดอะไรขึ้นก่อนหน้านั้น” แล้วให้เด็กเล่าเอง

ฟังไปเรื่อยๆ สนใจและตั้งใจ พยักหน้าเป็นระยะ สบตา (ไม่ใช่ว่าเด็กเล่าไป ผู้ใหญ่ก็ก้มหน้ากดมือถือ หรือมัวแต่พูดบ่นว่า)

มีคำพูดสะท้อนความรู้สึกให้เหมาะสม เช่น เด็กอาจเล่าว่า เพื่อนแกล้งมานานแล้ว ก็พยายามทนมาตลอด คำพูดสะท้อนความรู้สึกก็คือ “หนูคงรู้สึกแย่มากทีเดียว ที่เจอเรื่องแบบนี้” เด็กจะรู้สึกว่าผู้ใหญ่เข้าใจตัวเขา

3.หลักของการฟังที่ดี คือ ฟังอย่างยอมรับ ไม่ตัดสิน บางทีเรื่องที่เด็กเล่ามา อาจจะไปสะกิด ‘ต่อมอยากสอน’ ของผู้ใหญ่ ก็อย่าเพิ่งด่วนจะพูดสอนหรือแนะนำ

รอให้เด็กเล่าก่อนจนจบ แล้วค่อยถามถึงการแก้ปัญหาของเด็ก ดูแนวคิดว่า เพราะอะไรเด็กถึงเลือกที่จะทำแบบนั้นแบบนี้

ขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพ

กรณีแรก เด็กเล่าว่าเพื่อนแกล้ง สุดท้ายเด็กก็ยอมให้เขาแกล้ง จะได้ไม่มีปัญหา ผู้ใหญ่อาจจะคิดว่า “เฮ้ย ไม่ควรยอม ทำไมไม่ทำกลับไปล่ะ” (อ้าว ก็ผู้ใหญ่ชอบสอนหนูว่าอย่าใช้ความรุนแรงไง)

กรณีที่สอง เด็กเล่าว่าเพื่อนแกล้ง เพื่อนมาตบ เลยตบเพื่อนตอบไป ผู้ใหญ่อาจคิดว่า “เฮ้ย ทำรุนแรงทำไม ไปบอกครูสิ” (แต่บางทีบอกครู ครูก็ไม่ทำอะไร)

ใจเย็นๆ ฟังเขาต่อว่า เมื่อใช้วิธีนั้นแล้ว ทั้งแบบรุนแรงและไม่รุนแรง ได้ผลไม่ได้ผล ชอบไม่ชอบ อย่าเพิ่งไปบอกว่า มันไม่ดีที่เขาแก้ปัญหาด้วยวิธีนั้นหรือวิธีนี้

4. ในเรื่องการบูลลี่ มันไม่มีคำตอบตายตัวว่า เด็กที่ถูกกระทำควรจัดการอย่างไร มันไม่ใช่ 1+1=2

แน่นอนผู้ใหญ่ต้องสอนให้เด็กอย่าใช้ความรุนแรงเป็นทางเลือกแรก แต่ก็ต้องบอกเด็กว่า ความปลอดภัยของเราต้องมาก่อนนะ

การไปบอกว่า “ห้ามรุนแรงโต้ตอบ” เพียงอย่างเดียว มันอาจทำให้เด็กงงได้ (เด็กหลายคน เชื่อที่พ่อแม่สอนแบบนี้ ทำให้เป็นอันตรายรุนแรงได้) คือก็ควรบอกให้เป็น Practical pointว่า ถ้าเพื่อนแกล้งหรือใครมากระทำรุนแรงจนเป็นอันตรายถึงชีวิต ก็จำเป็นนะที่จะต้องป้องกันตัว คือถ้าจำเป็นจะรุนแรงก็คงต้องรุนแรงแหละ

ของแบบนี้ผู้ใหญ่ต้องสอนให้เด็กมีทักษะการแก้ไขปัญหา Problem Solving Skill แต่ให้เขามีหลักกว้างๆ ไปอ่านต่อข้อ 5

5.ปลูกฝังทักษะการแก้ไขปัญหา Problem solving skill

ควรให้เขามองถึงข้อดีข้อเสียของการแก้ปัญหาทีเกิด แนวทางการจัดการที่ได้ทำไปแล้ว ดีหรือไม่ดียังไง ตรงนี้ต้องฝึกในทุกเรื่อง ไม่ใช่เฉพาะเรื่องถูกแกล้งถูกกระทำ

ในเหตุการณ์ที่เกิด ผู้ใหญ่ควรคุยกับเด็กค่อยๆหาทางออกร่วมกัน คุยว่าถ้าเป็นคราวหน้าจะทำอย่างไร เปิดโอกาสและยอมรับความคิดของเด็กจะทำให้เด็กรู้สึกดีและมั่นใจมากขึ้น

6.พ่อแม่ก็มีความจำเป็นต้องคุยกับครูในเรื่องที่เด็กถูกแกล้งหรือกระทำ

เพราะบางทีการแกล้งหรือกระทำมีความรุนแรงและมีผลกระทบมาก ครูควรจะมีส่วนช่วยจัดการปัญหา เช่น คุยกับเด็กที่เป็นคนทำ รวมถึงผู้ปกครอง เพราะถ้าการแกล้งรุนแรง ผลกระทบที่ตามมาอาจจะทำให้เกิดความเครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า ไม่อยากไปเรียน กับเด็กที่ถูกกระทำได้

7.บางครั้งการคุยกับครูก็ไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น บางทีพ่อแม่ก็อาจจะต้องไปคุยกับพ่อแม่ของเด็กอีกฝ่ายหนึ่งด้วย

สิ่งสำคัญคือต้องเข้าไปคุยด้วยอารมณ์ที่สงบ บางครั้งพ่อแม่ของเด็กที่ชอบแกล้งหรือทำคนอื่นก็มีความทุกข์กับพฤติกรรมของลูกเช่นกัน

8.การป้องกันไม่ให้ปัญหาการถูกแกล้งหรือกระทำบานปลายก็คือ พ่อแม่และครูควรเปิดโอกาสให้เด็กได้เข้ามาพูดคุยเรื่องนี้ได้อย่างปกติ และพูดคุยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับเพื่อนบ่อยๆ

9.บางทีถึงแม้ว่าเพื่อนก็ยังกระทำเขาอยู่ แต่เด็กก็คงรู้สึกดีขึ้นได้ ถ้ารู้สึกว่ามีใครสักคนที่รับฟังและเข้าใจความทุกข์ของเขา

10.ส่วนในกรณีที่ผลกระทบเกิดขึ้นกับจิตใจเด็กมาก อาจมีความจำเป็นที่จะต้องให้เด็กเข้ารับการปรึกษาจากจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นเพื่อหาทางช่วยเหลือเด็กต่อไป

หมอคิดว่าเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งที่จะเขียนบทความเรื่องนี้เพราะมีความเห็นที่หลากหลายและรุนแรงในสังคมไทย แต่เป็นหน้าที่ที่หมอคิดว่าต้องเขียน ถ้าไม่เขียนถึงคงนอนไม่หลับ ดังนั้นถ้าใครจะตำหนิว่าหมอโลกสวยหรืออะไรก็ไม่เป็นไรค่ะ หมอเตรียมตัวแล้วค่ะ ยินดีรับทุกความเห็นนะคะ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน