พรุ่งนี้เริ่มแล้ว! งดแจกถุงพลาสติกทั่วประเทศ เผย 4 สินค้าผ่อนผัน ที่ยังใส่ถุงได้

วันที่ 31 ธ.ค. นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า จากนี้ไม่ถึง 24 ชั่วโมง ประเทศไทยจะเกิดปรากฎการณ์ใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยห้างสรรพสินค้า และร้านสะดวกซื้อจะไม่มีถุงก๊อบแก๊บแบบหูหิ้วให้ใช้อีกต่อไป ซึ่งจะเริ่มในวันพรุ่งนี้ (1ม.ค.) โดยงดให้บริการถุงพลาสติกหูหิ้วมีความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน เป็นแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง

ส่วนถุงพลาสติกแบบอื่น เช่น ถุงร้อนใส่อาหาร ใส่ข้าวแกง ก๋วยเตี๋ยว หรือพลาสติกหุ้มอาหารและของแช่แข็ง และพลาสติกหูหิ้วหนาๆ ที่สามารนำกลับมาใช้ซ้ำได้จะยังคงใช้ต่อไป จนกว่าจะมีวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมใช้ทดแทนได้อย่างเพียงพอ ซึ่งจะขอความร่วมมือจากกระทรวงอุตสาหกรรมเกี่ยวกับมาตรการด้านภาษีสำหรับสินค้านวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมด้วย

นายวราวุธ กล่าวว่า การงดใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วและพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายภาคเอกชน ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ซูเปอร์มาเก็ต ตลอดจนร้านสะดวกซื้อ กว่า 75 บริษัท ทั่วประเทศ และคาดว่าจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ มาร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายนี้

ทั้งนี้จากผลสำรวจดุสิตโพลที่ผ่านมา ประชาชนร้อยละ 90 เห็นด้วยกับนโยบายงดแจกถุงฯ และมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเองกันบ้างแล้ว ในขณะที่ห้างร้าน ผู้ประกอบการทุกแห่ง ได้เตรียมมาตรการรองรับ ที่ยังคงคำนึงถึงผลกระทบและอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้ามากที่สุด

อาทิ การเตรียมบริการถุงกระดาษ หรือถุงผ้าจำหน่ายในราคาที่ไม่แพง หรือหากจำเป็นต้องรับถุงพลาสติกหูหิ้ว ลูกค้าต้องเสียค่าใช้จ่าย โดยนำเงินที่ได้เข้าร่วมกองทุนด้านสิ่งแวดล้อมหรือบริจาคให้กับโรงพยาบาลหรือมูลนิธิต่างๆ ต่อไป

กดติดตามไลน์ ข่าวสด official account ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

รวมทั้งการให้แต้มสะสมคะแนน เมื่อไม่รับถุง เป็นต้น อีกทั้งยังมีการเตรียมความพร้อมผู้ให้บริการในการสร้างความเข้าใจและตอบคำถามกับลูกค้าที่อาจแสดงความไม่พอใจในช่วงแรกๆ คาดการณ์ว่าในช่วง 2-3 เดือนแรก อาจเกิดความไม่เข้าใจและมีความวุ่นวายอยู่บ้าง แต่หลังจากนั้นสถานการณ์จะดีขึ้น ประชาชนจะให้ความร่วมมือมากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการทุกแห่งพร้อมเดินหน้าและร่วมมือกันสร้างความเคยชินให้กับลูกค้า

กล่าวอีกว่า 20 ปีที่ผ่านมา มีการนำพลาสติกและโฟมมาใช้มากขึ้นในรูปแบบของบรรจุภัณฑ์ต่างๆ มีการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วถึงจำนวน 45,000 ล้านใบต่อปี โฟมบรรจุอาหาร 6,758 ล้านใบต่อปี แก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง 9,750 ล้านใบต่อปี ซึ่งเหล่านี้เป็นวัสดุที่ย่อยสลายยาก ใช้ระยะเวลายาวนานกว่า 400 ปี

และเมื่อไม่ได้รับการจัดการที่ถูกต้อง ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งทางบกและทางทะเล สุดท้ายส่งผลต่อสุขภาพอนามัยของพวกเราทุกคน และจากการรณรงค์ที่ผ่านมา นับตั้งแต่ 21 ก.ค.61 ถึงปัจจุบัน สามารถลดถุงพลาสติกหูหิ้วทั้งจากตลาดสดและห้างสรรสินค้าได้ถึง 3,000 ล้านใบ

“ปัจจุบันคนไทยสร้างขยะประมาณ 27.8 ล้านตันต่อปี หรือประมาณ 76,200 ตันต่อวัน โดยเฉลี่ย 1 คน สร้างขยะ 1.17 กก.ต่อวัน มีการนำกลับไปใช้ประโยชน์ได้ 9.58 ล้านตัน (ร้อยละ 34) กำจัดได้อย่างถูกต้อง 10.88 ล้านตัน (ร้อยละ 39) และส่วนที่เหลืออีกประมาณ 7.36 ล้านตัน (ร้อยละ 27) ยังกำจัดไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะการกำจัดแบบเทกองหรือเผากลางแจ้ง การลักลอบทิ้งในพื้นที่สาธารณประโยชน์ และการทิ้งลงสู่แหล่งน้ำ

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้ให้ความสำคัญต่อการจัดการปัญหาขยะ โดยมีมติเห็นชอบ “แผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ” (พ.ศ. 2559 – 2564) เพื่อเป็นแนวทางขับเคลื่อนประเทศไทย สู่การเป็นสังคมปลอดขยะ (Zero Waste Society) ภายใต้แนวคิด 3Rs ส่งเสริมการจัดการขยะที่ต้นทาง โดยการลดปริมาณขยะ (Reduce) การใช้ซ้ำ (Reuse) การนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle)

ตลอดจนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อวางรากฐานการดำเนินการจัดการขยะให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ทำให้การบริหารจัดการขยะมีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดีขึ้น”นายวราวุธ กล่าว

รัฐมนตรีทส. กล่าวว่า รัฐบาลตั้งเป้าหมายการลดใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ภายในปี 2565 ด้วยการใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ 100% ภายในปี 2570 ซึ่งจะช่วยลดปริมาณพลาสติกที่ต้องนำไปกำจัดได้ประมาณ 780,000 ตันต่อปี ประหยัดงบประมาณในการจัดการขยะมูลฝอย 3,900 ล้านบาท/ปี ประหยัดพื้นที่รองรับและกำจัด

รวมทั้งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 1,200,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ จึงจำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ในการลดรับ-ลดให้ ลดใช้ถุงพลาสติกอย่างจริงจัง

อย่างไรก็ตามได้ตั้งเป้าจะยกเลิกการใช้พลาสติกประเภทครั้งเดียวทิ้ง 4 ชนิด ได้แก่ ถุงพลาสติกหูหิ้ว หลอดพลาสติก แก้วพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง และกล่องโฟม ให้หมดไปจากประเทศไทยเร็วขึ้น จากภายในปี 2565 เป็นภายในปี 2564 โดยปีหน้าจะเตรียมนำเสนอเป็นกฎหมายบังคับต่อไป

ทั้งนี้ ทส.ได้ระบุสินค้าผ่อนผันที่ยังสามารถใช้ถุงพลาสติกได้อยู่ 4 ชนิด ได้แก่ อาหารที่ต้องอุ่นร้อน ,อาหารเปียก ,เนื้อสัตว์ และผลไม้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน