ฐากูร บุนปาน รองประธานกรรมการ บมจ.มติชน แนะสื่อปรับตัวหลังโควิด ต้องทันต่อการเปลี่ยนแปลง เน้นรักษาจุดยืน ต้องแย่งชิ้นเนื้อจากปากสุนัขตัวใหญ่ให้ได้

เมื่อวันที่ 28 พ.ค. คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินวิโรฒ (มศว) ร่วมกับบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) จัดโครงการบริหารวิชาการฟังบรรยายพิเศษเสริมความรู้โควิด-19 โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิระดับประเทศเข้าร่วม

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

ประกอบด้วย ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) บรรยายในหัวข้อเศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19, นายฐากูร บุนปาน รองประธานกรรมการ บมจ.มติชน บรรยายหัวข้อ สื่อมวลชนกับการปรับตัวช่วงโควิด-19, ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส บรรยายหัวข้อโควิด-19 กับกระแสสังคมรูปแบบใหม่ และ นพ.วิชัย โชควิวัฒน คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ บรรยายหัวข้อสังคมไทยอยู่อย่างไรกับโควิด-19 ผ่านระบบออนไลน์ซูม (Zoom) โดยมี รศ.สมชาย สันติวัฒนกุล อธิการบดี มศว ในฐานะประธานอำนวยการโครงการร่วมพูดคุย

ฐากูร บุนปาน กล่าวว่า ต้องทำความเข้าใจเบื้องต้นว่า โควิด-19 ไม่ได้เปลี่ยนโลก แต่อาจเปลี่ยนโลกบางส่วน หรือเกิดนิวนอร์มอลในบางพาร์ท ซึ่งโควิดเป็นตัวกระตุ้นหรือตัวเร่งที่ทำให้แนวโน้มซึ่งจะเกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นไปแล้วเร็วขึ้น แรงขึ้น นั่นคือออนไลน์

โดยพื้นฐานธรรมชาติของมุนษย์ กิจกรรมหลายอย่างเปลี่ยนไปไม่ใช่เฉพาะการบริโภค แต่ยังรวมถึงการบริโภคข้อมูลข่าวสารด้วย

มีตัวอย่างจากตัวเลขการช็อปปิ้งออนไลน์ในอเมริกา หลังโควิดเป็นต้นมาก็เพิ่มขึ้นจำนวนมาก ที่น่าสนใจกว่านั้นคือกลุ่มคนที่ซื้อของออนไลน์มากที่สุดไม่ใช่เด็ก ไม่ใช่วัยรุ่น แต่เป็นคนอายุเกิน 60 ปี

นายฐากูร กล่าวว่า ราว 10 ปีที่แล้ว ยอดการขายหนังสือพิมพ์ทุกฉบับรวมกันมีประมาณ 2.2 ล้านฉบับ ปัจจุบันเฉพาะด้านออนไลน์ของไทยรัฐ ข่าวสด มติชน รวมกันได้ประมาณ 2 ล้านกว่าทุกวัน ดังนั้น จำนวนคนบริโภคข่าวไม่ได้ลดลง แต่เปลี่ยนแพลตฟอร์มจากกระดาษเป็นออนไลน์มากขึ้น

ฐากูร บุนปาน

เมื่อบวกเข้ากับสถานการณ์โควิด-19 ยอดขายหนังสือพิมพ์ที่ชะลอลงอยู่แล้ว ทำให้ตลอด 1-2 เดือนนี้ตกลงเร็วขึ้น เพราะร้านค้าไม่เปิด ร้านหนังสือถูกปิด คนไม่ออกจากบ้าน ขณะเดียวกันคนไม่ได้เลิกบริโภคข่าวสาร และกลับบริโภคข่าวสารมากกว่าเดิม

“ที่น่าสนใจคือ มีเทรนด์หนึ่งซึ่งเกิดขึ้นก่อนหน้านี้แล้วประมาณ 1-2 ปี แต่โควิดทำให้เทรนด์นี้ชัดเจนมากขึ้นคือ คนเปลี่ยนจากการอ่านมาเป็นการดูและฟังมากขึ้น ซึ่งไม่ได้ดูและฟังบนฐานของธุรกิจเดิม ช่วงเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา เรตติ้งธุรกิจทีวีเมืองไทยลดลง ขณะที่จำนวนสมาชิกและจำนวนนาทีในการดูประเภทสื่อทันใจ หรือสื่อออนดีมานด์อย่างเน็ตฟลิกซ์ ยูทูบเพิ่มขึ้น

กลับมาที่หนังสือพิมพ์ที่ทำเว็บไซต์ ในเครือมติชนมีทั้งหมด 7 เว็บไซต์ มียอดคนอ่านรวมแต่ละวันประมาณ 1.8-2 ล้านคน แต่ปัจจุบันเรามีผู้ชมคลิปข่าวอย่างน้อยวันละประมาณ 10-12 ล้านคน”

“โดยสถิติที่เราเก็บตั้งแต่เดือนก.ค.ปีก่อน ถึงเดือนพ.ค.ปีนี้ สำหรับ 20 อันดับแรกที่เป็นคลิปข่าว มีผู้ชมเกิน 20 ล้านวิวขึ้นไป โดยคลิปที่มีผู้ชมมากที่สุดคือประมาณ 40 ล้านวิว นอกจากนี้ ผู้ชมยังชมในคลิปที่กระจายกัน ทั้งข่าวเหตุการณ์ อาชญากรรม การเมือง บันเทิง

เฉพาะข่าวสด เดือนเม.ย.ที่ผ่านมา มีผู้รับชมคลิป ซึ่งเราเก็บสถิติเป็นนาทีรวมทั้งหมดกว่า 388 ล้านนาที หรือเฉลี่ยแล้วคือ 12.9 ล้านนาทีต่อวัน โดยข่าวสดทำคลิปวันนึงประมาณ 40-50 ชิ้น ดังนั้นจะมีคนดูเฉลี่ยประมาณ 5,000 ชั่วโมงต่อคลิป”

ฐากูร บุนปาน

“ต้องกราบเรียนว่าสื่อเป็นองค์กรธุรกิจ เราไม่ได้อิ่มทิพย์ ไม่ได้มีเงินฟรีๆ จากนักการเมือง พรรคการเมือง นักธรกิจใหญ่มาสนับสนุน เราอยู่ได้ด้วยรายได้สุจริตหลัก 2-3 อย่าง อาทิ โฆษณา การจัดอีเวนต์ ดังนั้นเมื่อโลกเปลี่ยนไป เราก็ต้องปรับตัวให้เป็นไปตามโลกให้ได้

ฉะนั้นเมื่อโลกเป็นดิจิทัล สื่อก็เป็นดิจิทัลมากขึ้น ทั้งแง่การนำเสนอคอนเทนต์ การเก็บ และการใช้ดาต้าลูกค้าให้เป็นประโยชน์ ซึ่งเราไม่ได้ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล โดยคำนึงถึงกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งข้อได้เปรียบของธุรกิจสื่อคือการมีแฟนประจำ อย่างเรามีลูกค้าประจำ 12 ล้านคน แต่คุณจะใช้ประโยชน์จาก 12 ล้านคนนี้ได้หรือไม่” นายฐากูรกล่าว

นายฐากูรกล่าวว่า สำหรับเครือมติชนแล้ว โควิด-19 ทำให้เสียงของคนตัวเล็กตัวน้อยสำคัญมากขึ้น เพราะเขาเหล่านี้คือผู้ได้รับผลกระทบที่แท้จริง ฉะนั้นหากไม่ให้โอกาสเขาพูดหรือแสดงข้อมูลก็ไม่มีทางรู้ว่าอะไรเกิดขึ้นจริงๆ กับสังคมนี้ อีกด้านหนึ่งคือโควิดทำให้ผู้สื่อข่าวทำงานหนักขึ้น เดินทางมากขึ้น และใส่ใจชะตาชีวิตคนตัวเล็กตัวน้อยมากขึ้น

“หลังโควิด-19 แล้ว สิ่งที่บริษัทเราคุยกันอยู่ตลอดมี 3 เรื่องที่ต้องทำคือ 1.รักษาและพัฒนาจุดยืน รวมทั้งคุณภาพของการสื่อข่าวให้ดีขึ้น เพราะการแข่งขันมากขึ้น สังคมซับซ้อนขึ้น ปัญหาที่เจอจึงหนักหน่วงรุนแรงขึ้น และนี่คือแก่นของบริษัท 2.ต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค เพราะรสนิยมผู้บริโภคเปลี่ยนเร็วมาก และ 3.ต้องแย่งชิ้นเนื้อจากปากสุนัขตัวใหญ่ให้ได้

กล่าวคือ ผมบอกน้องๆ ในบริษัทว่าเราไม่ได้สู้กับไทยรัฐ เดลินิวส์ ช่อง 3 ช่อง 7 หรือเวิร์คพอยท์ เหล่านี้คือเพื่อนร่วมชะตากรรม แต่คนที่กุมรายได้ใหญ่สุดในโฆษณาเป็นยักษ์ใหญ่จากต่างประเทศคือกูเกิลและเฟซบุ๊ก ดังนั้นสุนัขตัวเล็กจะไปแย่งชิ้นเนื้อได้อย่างไร เพื่อจะไม่ต้องแทะเศษกระดูกอย่างทุกวันนี้” ฐากูร บุนปาน กล่าว

++++

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :

ฐากูร บุนปาน: สนามรบเปลี่ยนแล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน