อนุทิน สั่งฟันไม่ยอมความ ตีกันในโรงพยาบาล อัยการชงเอาผิดลงโทษพ่อแม่

วันที่ 30 ก.ค. ที่อาคารสภาวิชาชีพ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวในเวทีเสวนาแนวทางแก้ไขปัญหาความรุนแรงในห้องฉุกเฉินสถานพยาบาล จัดโดย สธ. แพทยสภา และสภาการพยาบาล ว่า ตอนเข้ารับตำแหน่ง มองเพียงว่าเป็นหน่วยงานให้การรักษา ปลดทุกข์ประชาชน แต่ไม่เคยคิดในมิติที่จะมีคนเข้ามาสร้างความรุนแรงหรือตีกันใน รพ. ซึ่งควรจะเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยที่สุด

ส่วนใหญ่คนที่เข้ามาก่อเหตุก็มักขาสติสัมปะชัญญะ แต่เหตุแบบนี้เกิดไม่บ่อย ปีละ 4-5 ครั้ง ดังนั้น ผู้บริหาร รพ.ต้องหามาตรการวิธีการป้องกัน และประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ มี Hotline กัน หากมีการรับผู้ป่วยเหตุทะเลาะวิวาทมาห้องฉุกเฉิน ก็ให้คิดไว้ก่อน อาจมีเหตุตามมา ให้แจ้งตำรวจตั้งแต่เนิ่นๆ

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

นายอนุทิน กล่าวว่า แต่หากจะให้มาทำห้องกันกระสุน ทำห้อง 3-4 ชั้น สิ้นเปลืองงบประมาณ ไม่ต้องทำถึงขนาดนั้น เพราะคนไทยในภาวะปกติไม่ทำกันเช่นนี้ อย่ากังวลจนเกินเหตุ แต่หากมีเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อไร ขอให้มั่นใจว่า นโยบายรัฐบาลต่อเรื่องนี้ เจ้าพนักงานจะดำเนินคดีอย่างเฉียบขาด ไม่มีลดโทษ ไม่มียอมความ หรือลดราวาศอก ดำเนินคดี 4-5 รายและขยายผลไป คิดว่าคนก็จะไม่เอาเป็นแบบอย่าง

นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า ปัจจุบันนี้คนประวัติดียังหางานยาก คนที่ก่อความรุนแรงในห้องฉุกเฉิน จะมีประวัติอาชญากรรมติดตัว ก็จะยิ่งเป็นอุปสรรคในการหางานในอนาคต ทั้งนี้ การเสนอให้มีการเพิ่มโทษกรณีก่อเหตุความรุนแรงใน รพ. ตนไม่ขัดข้อง ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอขึ้นมา

แต่ปัจจุบันคดีบุกรุก รพ. ตีกันในรพ. ทำทรัพย์สินเสียหาย ทำร้ายบุคลากรทางการแพทย์ ทางอัยการจะบรรยายในคำฟ้องส่งต่อศาลว่า เป็นพฤติกรรมท้าทาย ไม่เคารพ ไม่เกรงกลัวกฎหมาย ขอให้ศาลลงโทษสถานหนัก

นอกจากนี้ จะส่งหลักฐานคลิปวิดีโอต่างๆ ใช้ประกอบการพิจารณาด้วย เพราะคำฟ้องที่บรรยายอย่างเดียวอาจไม่เห็นภาพ เพื่อให้ศาลพิจารณาดุลพินิจลงโทษสถานหนัก ซึ่งกรณีทำร้ายคนบาดเจ็บสาหัส มีตั้งแต่จำคุกตั้งแต่ 6 เดือน – 10 ปี

นายโกศลวัฒน์ กล่าวว่า ถ้ากระทำผิดซ้ำจะฟ้องขอเพิ่มโทษด้วย ซึ่งจะขอให้เพิ่มโทษถึง 3 เด้ง คือ โทษครั้งล่าสุด โทษที่เคยทำผิดไว้และอยู่ระหว่างรอลงอาญา และโทษที่ไม่เข็ดหลาบ วันนี้ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ อัยการ ศาล พิจารณาไปในทางเดียวกันว่า การก่อความรุนแรงใน รพ.เป็นพฤติกรรมท้าทายกฎหมาย ไม่ยำเกรงกฎหมาย จึงลงโทษสถานหนัก

อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาเด็กหัวร้อน กรณีโทษปรับที่มักจะมีเรื่องการคุมประพฤติ หากไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ มักมีการทำเรื่องขอกักขังแทนค่าปรับนั้น หลายคนที่อยากกลับใจ ก็อาจยื่นให้ไปบำเพ็ญสาธารณะประโยชน์แทนค่าปรับ เช่น ช่วยเหลืองานใน รพ. คู่กับการควบคุมความประพฤติด้วย

ขณะที่ผู้ปกครองก็ต้องรับผิดด้วย ทั้งละเมิดและอาญา เพราะไม่ควบคุม ปล่อยปละละเลยบุตร และถ้าเป็นการทำผิดซ้ำ พ่อแม่จะถูกจำคุก 3 เดือนไม่รอลงอาญา หลังจากที่มีวลีที่มักใช้กับทุกกรณีที่เยาวชนเป็นผู้ก่อเหตุคือ ลูกฉันเป็นคนดี เพราะถ้าดีจริง ต้องรู้จักแยกตัวออกจากสิ่งไม่ดี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน