ผู้เชี่ยวชาญดาราศาสตร์ วิเคราะห์ที่มาแสงเขียว เคยเห็นถึงอวกาศ นักบินอึ้งมาแล้ว

กลายเป็นเรื่องราวชวนสงสัยของคนเมืองระนอง เมื่อปรากฎแสงสีเขียวปรากฎปกคลุมท้องฟ้า โดยพบเห็นในหลายพื้นที่ เช่น หมู่บ้านปากคลอง, ต.ปากน้ำ, ต.บางริ้น, ต.หงาว และต.เขานิเวศน์ อ.เมืองระนอง

ต่อเรื่องนี้ ดร.มติพล ตั้งมติธรรม ผู้เชี่ยวชาญดาราศาสตร์ สดร. แสดงความเห็นว่า เมื่อวานนี้ (28 ตุลาคม 2563) มีการแชร์ภาพจากพื้นที่ในจังหวัดระนอง ที่เห็นแสงสีเขียวแปลกประหลาดส่องสว่างขึ้นเหนือขอบฟ้าในทางทิศตะวันตก และตั้งข้อสงสัยว่าเป็นอะไรกันแน่

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

>> ไม่ใช่ไฟร์บอล???
แสงสีเขียวนั้นเกิดขึ้นได้ค่อนข้างยากในธรรมชาติ สามารถเกิดขึ้นได้หากมีอุกกาบาตไฟร์บอลลูกใหญ่ๆ ที่มีโลหะนิกเกิลเป็นองค์ประกอบ สามารถส่องเป็นแสงสีเขียวได้ แต่ก็จะเกิดขึ้นเพียงเสี้ยววินาทีก่อนที่จะดับไป กรณีนี้จึง “เป็นไปไม่ได้”

>> ไม่ใช่แสงออโรร่า???
อีกความเป็นไปได้หนึ่งก็คือแสงจากออโรร่า ที่เปล่งออกมาเป็นสีเขียว แต่ออโรร่านั้นไม่สามารถสังเกตเห็นได้จากแถบใกล้ศูนย์สูตรเช่นประเทศไทย ยกเว้นจะมีพายุสุริยะที่รุนแรงมาก ซึ่งก็จะต้องได้รับรายงานเห็นในที่ละติจูดที่สูงกว่ากรณีนี้จึง “เป็นไปไม่ได้” เช่นกัน

>> เป็นแสงที่มนุษย์สร้างขึ้น???
ความเป็นไปได้เดียวก็คือแสงที่มนุษย์สร้างขึ้น หากพิจารณาจากบริเวณริมชายฝั่งประเทศไทยที่มีการประกอบการประมงใช้ “เรือไดหมึก” ซึ่งปล่อยแสงสีเขียวสว่างจ้าไปทั่วท้องฟ้ากันเป็นประจำ

คำอธิบายที่ชัดเจนและง่ายที่สุดก็คือ แสงสีเขียวที่เห็นนั้นมีเหตุมาจาก “แสงจากเรือไดหมึก” นั่นเอง

สามารถเปรียบเทียบได้กับภาพบนซ้ายที่ถ่ายไว้เองเมื่อปี 2014 จะเห็นได้ว่าไม่แตกต่างอะไรกันมากนัก

อาจบังเอิญว่าในวันนั้นสภาพอากาศทำให้แสงเรือไดหมึกสะท้อนออกมามากที่สุดก็ได้ ก็เลยดูแปลกตาเป็นพิเศษ แสงสีเขียวลักษณะเดียวกันนี้เคยทำให้แตกตื่นกันไปถึงในอวกาศทีเดียว เพราะนักบินอวกาศที่ส่องลงมาจากสถานีอวกาศนานาชาติ ก็ต้องอึ้งกับแสงสีเขียวเหนือท้องทะเลไทยเช่นกัน

สรุปสุดท้าย แสงสีเขียวที่เห็นแปลกตานั้น คือ แสงจาก “เรือไดหมึก” หรือ “เรือตกปลาหมึก” นั่นเอง

ทำไมเรือไดหมึกต้องใช้สีเขียว??? แสงสีเขียวมีความพิเศษอย่างไร? อเป็นคำถามที่น่าสนใจ ต้องพิจารณากันหลายแง่มุม เป็นคำถามที่ส่งเสริม STEM ศึกษาอย่างแท้จริง

>> ในเชิงฟิสิกส์
แสงสีเขียวมีคุณสมบัติพิเศษอย่างไรหรือไม่กับน้ำทะเล? เป็นช่วงความยาวคลื่นพิเศษที่ส่องได้ดีหรือเปล่า?

พบว่าแสงสีเขียวนั้นไม่ได้มีความพิเศษอะไร อยู่ตรงกลางๆ ของสเปกตรัม น้ำทะเลนั้นจะดูดกลืนแสงความยาวคลื่นมากได้ดีกว่า เป็นเหตุผลว่าทำไมน้ำทะเลจึงเป็นสีน้ำเงิน และเพราะเหตุใดสัตว์ใต้ท้องทะเลลึกจึงเป็นสีแดง เพราะแสงสีแดงนั้นไม่ตกถึงพื้นทะเลเลย ซึ่งถ้าพูดเช่นนั้นแล้วเราก็น่าจะอนุมานได้ว่าแสงสีน้ำเงินน่าจะส่องทะลุทะลวงได้ดีกว่า แล้วทำไมถึงไม่ใช้แสงสีน้ำเงิน??

>> ในเชิงชีววิทยา
เป็นไปได้ไหมที่แสงสีเขียวนี้เป็นแสงที่ตอบสนองได้ดีที่สุดในสัตว์จำพวกหมึก แต่ทำไมไฟมันถึงล่อหมึกได้?

อย่างไรก็ตาม เราทราบว่าทั้งแพลงก์ตอนและหมึก ต่างก็ถูกล่อได้ด้วยทั้งแสงสีฟ้า และสีเขียว ไม่ต่างกัน ถึงแม้ว่าเราจะใช้แสงสีอื่น เช่นแสงจากหลอดโซเดียมที่มีสีเหลือง เราก็จะพบว่าแสงเหล่านั้นก็จะยังสามารถกระตุ้นเซลล์รับแสงของเหล่าสัตว์ทะเลได้เช่นเดียวกัน และปัจจัยที่สำคัญที่สุดอยู่ที่ความสว่างมากกว่าสเปกตรัมที่ใช้[5]

หรือว่าคำตอบอาจจะอยู่ในวิชาคณิตศาสตร์/เศรษฐศาสตร์? เป็นไปได้ไหมว่าหลอดไฟสีเขียวนั้นเป็นหลอดไฟที่มีค่าใช้จ่ายต่ำที่สุด? ซึ่งก็ไม่ใช่อีกเช่นกัน เพราะว่าค่าไฟ หรือปริมาณพลังงานที่ใช้ไปในการปล่อยแสงไฟนั้น คิดเป็นส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับค่าน้ำมัน ค่าเรือ และค่าแรงที่ต้องใช้ไป

สุดท้าย คำตอบเพียงคำตอบเดียวที่อาจจะอธิบายแสงสีเขียวได้ดีที่สุด อาจจะอยู่ในวิชาสังคมศาสตร์ เราใช้แสงสีเขียว เพียงเพราะว่ามันเป็นแสงที่ “ฮิต” หรือได้รับความนิยมมากที่สุด เพียงเท่านั้นเอง และหากเราไปพิจารณาดูอุตสาหกรรมในการตกหมึกทั่วโลก เราก็จะพบว่าแต่ละประเทศนั้นมีสีที่ได้รับความนิยมที่แตกต่างกันออกไป

(อัพเดต: ล่าสุดมีรายงานว่าแหล่งแสงที่มนุษย์สร้างอีกแหล่ง อาจจะมาจากประเทศเพื่อนบ้าน กรณีนี้อาจเป็นไปได้เช่นกัน และอาจจะทำให้เกิดแสงสว่างส่องไปบนเมฆได้อย่างที่เห็น)

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน