สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้องคมนตรี นำถุงสิ่งของพระราชทาน มอบให้ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จ.ปทุมธานี และจ.ขอนแก่น อ่างทองทหารช่วยลงแขกเกี่ยวข้าวหนีน้ำ กรมอุตุฯ ประกาศเตือนพายุไต้ฝุ่น “ด็อมเร็ย” เข้าเวียดนาม ทำ 14 จว.ใต้ฝนหนัก “บิ๊กตู่”นำคณะบินลงนครศรีธรรมราช แต่เจอฝนหนักต้องไปลงที่สุราษฎร์ธานีแทน ก่อนเดินทางไปประชุมมอบนโยบายให้ผู้ว่าฯ ที่ปากพนัง ที่โคราชอากาศเย็นกระทบสวนลำไย ลิงชลบุรีก็แย่พาฝูงนั่งผึ่งแดด

อุตุฯ เตือนไต้ฝุ่น”ด็อมเร็ย”

เมื่อวันที่ 3 พ.ย. นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เตือนภัยพายุไต้ฝุ่น “ด็อมเร็ย” (DAMREY) และฝนตกหนักถึงหนักมาก และคลื่นลมแรงบริเวณภาคใต้ (มีผลกระทบถึงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2560) ความว่า 1.เมื่อเวลา 10.00 น. พายุไต้ฝุ่น “ด็อมเร็ย” (Damrey) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง มีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 12.8 องศาเหนือ ลองจิจูด 113.6 องศาตะวันออก ห่างประมาณ 500 กิโลเมตร ทางด้านตะวันออกของกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกด้วยความเร็ว 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะเคลื่อนเข้าชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนล่าง ในวันที่ 4 พ.ย. 60 และจะอ่อนกำลังลงก่อนเคลื่อนเข้าปกคลุมประเทศกัมพูชาต่อไป

2.หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ตอนล่าง ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่น กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระมัดระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนตกสะสม อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และลมกระโชกแรง พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมีดังนี้ บริเวณจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีกำลังแรง โดยอ่าวไทยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง เรือเล็กบริเวณดังกล่าวควรงดออกจากฝั่ง ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันออกระวังคลื่นซัดเข้าหาฝั่งไว้ด้วย จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิดในระยะนี้

“บิ๊กตู่”นำคณะบินลงใต้

เมื่อเวลา 07.00 น. วันที่ 3 พ.ย. ที่ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 ดอนเมือง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมคณะ อาทิ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เดินทางด้วยเครื่องบินเอ็มบราเออร์ บ.ท.135 เพื่อลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ติดตามการให้ความช่วยเหลือและแก้ไขปัญหา พร้อมพบปะให้กำลังใจ ผู้ประสบอุทกภัย จ.นครศรีธรรมราช แต่ด้วยสภาพอากาศฝนตกหนัก จึงปรับเปลี่ยนกำหนดการเดิม ที่เครื่องจะลงที่สนามบินจังหวัดนครศรีธรรมราช ไปลงที่สนามบินสุราษฎร์ธานี จากนั้นนายกฯ และคณะ นั่งรถยนต์จากสนามบินสุราษฎ์ธานี ไปยังศูนย์ประสานการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ปากพนัง จ.นครศรี ธรรมราช ระยะทาง 200 กิโลเมตร ซึ่งระหว่างทาง มีฝนตกโปรยปราย นายกฯ ได้แวะพักที่ว่าการอำเภอสิชล โดยมีประชาชนและข้าราชการพนักงานบางส่วนที่ทราบข่าวมาต้อนรับ พร้อมร่วมถ่ายภาพเป็นที่ระลึก ทั้งนี้ นายกฯ กล่าวเพียงสั้นๆ กับคนที่มารอต้อนรับว่า ขอให้ช่วยกันดูแลบ้านเมืองและความเรียบร้อย

นายกฯย้ำแก้ปัญหายั่งยืน

จากนั้นนายกรัฐมนตรีได้มอบเรือท้องแบน 11 ลำ เพื่อใช้ในช่วงเกิดอุทกภัย และมอบเงินให้ผู้สูงอายุ และทุนการศึกษาให้กับนักเรียนจำนวน 100 ทุน นอกจากนั้นนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวพบปะพี่น้องประชาชนที่มาให้การต้อนรับ โดยย้ำเตือนให้ประชาชนเฝ้าติดตามข่าวสารจากกรมอุตุนิยมวิทยาในช่วงนี้อย่างใกล้ชิด และพี่น้องประชาชนต้องปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์โลกด้วย โดยกล่าวว่า วันนี้ตนนำรัฐมนตรีกระทรวงหลักๆ มาหารือร่วมกัน ในการแก้ปัญหาให้กับชาวภาคใต้ ซึ่งทุกอย่างจะต้องมีการปรับเปลี่ยน โดยปัญหามีอยู่ว่าทุกคนต้องร่วมมือ จะให้ตนใช้อำนาจอย่างเดียวคงเป็นไปไม่ได้ต้องเข้าใจตรงนี้ด้วย ตนอยากให้ทุกคนเข้าใจว่าการแก้ปัญหานั้น จะเน้นแก้ปัญหาแบบยั่งยืนไม่ใช่แก้ปัญหาแบบเดิมๆ ปัญหาของปากพนังนั้นต้องยอมรับว่าเป็นปัญหาที่มีเรื้อรังยาวนานมีการบุกรุกพื้นที่ประชากรมีมากขึ้น การแก้ปัญหาก็จะต้องแก้อย่าให้กลับมามีปัญหาเหมือนเดิมซ้ำซาก เช่น น้ำท่วมซ้ำซาก, ภัยแล้งซ้ำซาก ทำอย่างไรอย่าให้เป็นปัญหาซ้ำซากเหล่านี้เป็นต้น

ให้ดูภาคกลางเป็นตัวอย่าง

นายกฯ กล่าวว่า วันนี้อยากให้เอาตัวอย่างภาคกลางที่มีการทำพื้นที่แก้มลิง 12 แห่ง มีพื้นที่รองรับน้ำจำนวนล้านกว่าไร่ ซึ่งรัฐบาลคุยกับประชาชนไว้แล้วว่าขอให้ใช้เป็นพื้นที่รับน้ำ ถ้าไม่มีพื้นที่รองรับน้ำตรงนี้ไว้ น้ำก็จะล้นไปท่วมที่อื่นนี่คือการบริหารจัดการน้ำ ไม่ใช่กักน้ำถ่วงน้ำปล่อยน้ำช้า ถึงเวลาก็กันไม่ได้ทั้งน้ำทุ่งน้ำท่าไหลรวมกันหมดมันก็เกิดเหตุการณ์เหมือนที่เกิดขึ้นมาแล้ว เราต้องช่วยกันไม่ให้มันเกิดขึ้นมาอีก อย่าไปคุยการเมืองอย่างเดียว ไปคุยกันด้วยว่าจะอยู่ยังไงกินยังไงอนาคตเป็นยังไง ตนดูแลทุกคนอยู่แล้วเป็นไปตามขั้นตอน ต้องช่วยกันหาศักยภาพของภาคใต้ให้เจอว่ามีอะไร ภาคใต้ก็มี 1 การท่องเที่ยว 2 เกษตร ยางพารา สวนผลไม้ 3 การประมง นี่คือศักยภาพของท่าน

นายกฯ กล่าวอีกว่า เรื่องประมงเหมือนกัน ตนคงไม่ฉลาดน้อยให้ทำประมงตอนน้ำท่วม แต่ให้โตสู่ธรรมชาติไปพอถึงเวลาก็มีปลามาขายกินกัน ชาวประมงเขาคิดอย่างนี้ ไม่ใช่กลายเป็นบิดเบือนว่าตนโง่หรือเปล่าเลี้ยงปลาในน้ำท่วม เลี้ยงปลาในกระชัง ตนไม่ได้บังคับปลาในกระชัง แต่เป็นปลาธรรมชาติ กบ หอย ปู ปลา และวันนี้เขาก็มีครีมจากเมือกหอยทาก กิโลกรัมละ 40,000 บาท แต่เราปลูกข้าว ปลูกยาง ได้เงินไม่ถึง นี่คือความแตกต่างในการหาวิธีการหาทางเลือกใหม่ เพิ่มการแปรรูป แต่จะเลิกปลูกข้าวปลูกยางไม่ได้ ต้องหาอย่างอื่นเพิ่มเติม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดเวลาที่นายกฯ กล่าวกับประชาชนบนเวทีฝนได้ตกลงมาอย่างต่อเนื่อง จนน้ำท่วมขังในพื้นที่เต็นท์ของประชาชน ขณะที่ในช่วงท้ายฝนได้ตกลงมาอย่างหนัก แต่นายกฯ ยังคงกล่าวกับประชาชนบนเวที พร้อมกล่าวด้วยว่า “ผมก็เปียกเหมือนกัน ผมก็เปียกเหมือนท่าน เจ็บป่วยเหมือนท่าน ไม่ใช่คนพิเศษ แต่ผมก็แข็งแรง” ก่อนถามประชาชนด้วยว่า “สู้ไหม สู้หรือไม่สู้” ซึ่งประชาชนตอบพร้อมกันว่า สู้ นายกฯ จึงกล่าวว่า “ตกมา จะแค่ไหนกัน ฝนมีแต่น้ำลงมา แต่เรามีมือ มีเท้า มีสมอง”

ขอนแก่นปีติพระราชทานถุงยังชีพ

เมื่อเวลา 09.00 น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พล.อ.กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี เชิญสิ่งของพระราชทานและเครื่องอุปโภคบริโภคมอบให้กับประชาชนที่เดือดร้อนจากปัญหาน้ำท่วมจำนวน 150 ถุง เพื่อเป็นขวัญกำลังใจและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ที่วัดบ้านท่ากระเสริม ต.ท่ากระเสริม อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น และเวลา 10.30 น. คณะองคมนตรีเดินทางไปที่บ้านท่าเดื่อ ต.ท่ากระเสริม เพื่อเชิญสิ่งของพระราชทานและเครื่องอุปโภคบริโภค มอบให้กับประชาชนที่เดือดร้อนจากปัญหาน้ำท่วมจำนวน 200 ถุง จากนั้น เวลา 12.30 น. คณะองคมนตรีเดินทางไปที่บ้านนาเพียง ต.สำราญ อ.เมือง เพื่อเชิญสิ่งของพระราชทานและเครื่องอุปโภคบริโภคมอบให้กับประชาชน

ต่อมาเวลา 14.30 น. ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น นำคณะองคมนตรี เดินทางไปติดตามดูพนังกั้นน้ำที่เกิดปัญหาขาดที่บ้านคุยโพธิ์ ต.บึงเนียม อ.เมือง ทำให้น้ำไหลเข้าท่วมพื้นที่เกษตรกรเสียหายหลายพันไร่ ก่อนที่ทางจังหวัดขอนแก่นจะช่วยกันอุดได้เสร็จภายในเวลา 48 ชั่วโมง ซึ่งพสกนิกรจังหวัดขอนแก่น ต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงมีพระเมตตาต่อพสกนิกรที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยในครั้งนี้

ทหารช่วยลงแขกเกี่ยวข้าวหนีน้ำ

ที่บริเวณกลางทุ่งนาในพื้นที่ ต.ท่าช้าง อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง ทหารจากหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 11 สำนักงานพัฒนาภาค 1 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย และทหารจากมณฑลทหารบกที่ 13 จังหวัดลพบุรี กว่า 20 นาย ร่วมกับชาวนาในพื้นที่ ลงแขกเกี่ยวข้าวและขนย้ายข้าวในนาที่ถูกน้ำท่วม ซึ่งระดับน้ำที่ท่วมขังนั้นมีความสูงกว่า 1 เมตร และท่วมรวงข้าวที่มีอายุได้ 5 เดือน ได้รับความเสียหาย หลังจากถูกน้ำจากแม่น้ำน้อยเอ่อล้นเข้าท่วมมานานเกือบ 2 เดือน ซึ่งหากไม่เกี่ยวข้าวออกข้าวก็จะเน่าตายจนหมด

ชาวนาในพื้นที่บอกว่า ข้าวบางส่วนเริ่มเน่าตายไปแล้ว ส่วนที่เกี่ยวขึ้นทันข้าวก็ยังไม่สุกดี และส่วนบริเวณนี้จำนวนกว่า 12 ไร่ ซึ่งเป็นข้าวหอมมะลิ อายุประมาณ 5 เดือน ข้าวเริ่มสุกเหลือง แต่ยังไม่ทันเก็บเกี่ยวก็ถูกน้ำท่วมขังเสียก่อน และด้วยระดับน้ำที่ท่วมสูง รถเกี่ยวข้าวไม่สามารถลงไปเกี่ยวข้าวได้ ซึ่งหากปล่อยไว้ข้าวก็จะเน่าตาย ต้องใช้คนลุยไปเกี่ยว โชคดีที่ได้รับการสนับสนุนกำลัง และเรือในการขนย้ายจากเจ้าหน้าที่ทหาร

ชาวปทุมฯปีติรับถุงพระราชทาน

ส่วนที่ จ.ปทุมธานี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พล.อ.ธีรชัย นาควานิช องคมนตรี เชิญสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภคพระราชทานไปมอบแก่ครอบครัวราษฎรที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ อ.เมือง จ.ปทุมธานี จำนวน 400 ถุง และ อ.สามโคก จำนวน 600 ถุง เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่ประชาชนที่ประสบอุทกภัย โดยมี ดร.พินิจ บุญเลิศ ผวจ.ปทุมธานี นางดลวสา บุญเลิศ นายกเหล่ากาชาดฯ พล.ต.ต.สุรพงษ์ ถนอมจิตร รรท.ผบก.ภ.จว.ปทุมธานี หัวหน้าส่วนราชการ นำราษฎรมาเฝ้าคอยรับมอบ ที่วัดบางหลวง อ.เมือง จ.ปทุมธานี และโรงเรียนชัยสิทธาวาส อ.สามโคก จ.ปทุมธานี ท่ามกลางความปลื้มปีติ และสำนึกใน พระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

สำหรับ จ.ปทุมธานี ได้รับผลกระทบจากการปล่อยน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา น้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนและพื้นที่ชุมชนที่อยู่นอกคันกั้นน้ำ มีราษฎรได้รับความเดือดร้อน 2 อำเภอ คือ อ.เมือง และ อ.สามโคก จำนวน 21 ตำบล 68 หมู่บ้าน 4,355 ครัวเรือน ปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลือ ผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง

ชาวสิงห์ปีติรับมอบถุงยังชีพ

ที่ วัดม่วง บ้านบางกะปิ ต.อินทร์บุรี อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี เวลา 09.00 น. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ และ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา โปรดเกล้าฯ ให้ นายฐิติวัฒน์ ว่องสรรณกุล ผจก.มูลนิธิอาสา เพื่อนพึ่ง ภาฯ ยามยาก สภากาชาดไทย เป็นผู้เชิญถุงยังชีพประทาน จำนวน 497 ถุง เพื่อนำมามอบให้ ผู้ประสบอุทกภัย อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี ด้วยทรงห่วงใยผู้ประสบอุทกภัย โดยมี นายประสงค์ คงเคารพธรรม รองผวจ.สิงห์บุรี พร้อมด้วย คุณจิรพรรณ คงเคารพธรรม รองนายกเหล่ากาชาด จ.สิงห์บุรี พ.ต.อ.กรีธา ตันคณารัตน์ รอง ผบก.ภ.จว.สิงห์บุรี นายสิทธิพงษ์ พุทธจันทรา นายอำเภออินทร์บุรี นำหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดสิงห์บุรี นำประชาชนที่ประสบภัยมารับมอบ ด้วยความซาบซึ้งในพระกรุณาธิคุณ

อุทัยฯทหารลงเรือแจกข้าวน้ำ

ด้านพ.อ.เพิ่มศักดิ์ ประเสริฐ์ศรี ผู้บังคับการกองกำลังรักษาความสงบจังหวัดอุทัยธานี และผู้บังคับการกรมทหาร ที่ 4 ค่ายจิรประวัติ จังหวัดนครสวรรค์ นำน้ำดื่มจำนวน 800 ชุด รวมทั้งข้าวสาร ไปแจกให้กับประชาชนที่ถูกน้ำท่วม บริเวณหมู่ที่ 1 หนองปลามัน หมู่ 2 บ้านท่าซุง ตำบลท่าซุง อ.เมือง จ.อุทัยธานี พร้อมนำแพทย์ โรงพยาบาลค่ายจิรประวัติ มาให้บริการตรวจสภาพจิตใจ และรักษา โรคต่างๆ

โดย พ.อ.เพิ่มศักดิ์ได้ลงเรือนำสิ่งของไปแจกที่ เกาะคุ้งสำเภา หมู่ 1 บ้านหนองปลามัน หมู่ 2 บ้านท่าซุง ต.ท่าซุง และนำแพทย์ออกตรวจคนไข้ที่นอนติดเตียงและแจกยากับชาวบ้านที่ประสบปัญหาสถานการณ์น้ำท่วม ซึ่งสถานการณ์น้ำท่วมใน จ.อุทัยธานี นั้น น้ำในแม่เจ้าพระยาได้ลดระดับลงไปมาก คาดว่าภายในสิ้นเดือนน่าจะเข้าสู่สภาวะปกติ

โคราชหนาวกระทบสวนลำไย

นายโกวิท ศรีมะเรือง อายุ 30 ปี เผยว่า เกษตรกรผู้ปลูกลำไย บ้านราษฎร์บำรุง ต.มาบตะโกเอน อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา กำลังประสบกับปัญหาจากอุณหภูมิที่ลดต่ำลงอย่างรวดเร็วในช่วงนี้ เนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นและแห้ง ส่งผลให้ลำไยนอกฤดูภายในสวนกว่า 16 ไร่ ที่กำลังให้ผลผลิตดกเต็มต้นหยุดชะงักลง ต้องแก้ไขโดยการเพิ่มการให้น้ำตลอดทั้งวัน เพื่อไม่ให้ผลลำไยหยุดการเติบโต

นายโกวิทกล่าวต่อว่า การให้น้ำจากที่เคยให้วันละครั้ง เพิ่มเป็นให้น้ำทันทีที่หน้าดินแห้ง เพราะไม่เช่นนั้นผลผลิตจะไม่โต ในช่วงนี้ต้องเสียค่าไฟฟ้าที่ใช้กับเครื่องปั๊มน้ำมากกว่าวันละ 400 บาท หรือหากสภาพอากาศหนาวเย็นเช่นนี้ กว่าจะได้เก็บเกี่ยวผลผลิตคงต้องเสียค่าไฟฟ้ากว่า 10,000 บาท เลยทีเดียว

จ๋อแหลมฉบังตากแดดแก้หนาว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณชุมชนบ้านแหลมฉบัง ต.ทุ่งสุขลา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ในขณะนี้อากาศเริ่มหนาวเย็นลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลทำให้ฝูงลิงจำนวนกว่า 300 ตัว ที่อาศัยอยู่เขาบ้านแหลมฉบัง ได้รับผลกระทบจากภัยหนาวไปด้วย ซึ่งทุกๆ เช้าฝูงลิงดังกล่าวจะพากันออกมานั่งตากแดด บางตัวอยู่รวมกันเป็นกลุ่มและนั่งกอดกัน โดยเฉพาะแม่ลิงต้องกอดลูกน้อยนั่งตากแดดให้คลายหนาว ขณะที่ลิงบางกลุ่มต้องอาศัยอยู่ตามต้นไม้ เพื่อหลบลมหนาว

จากการสอบถามชาวบ้านชุมชนแหลมฉบังเก่า บอกว่า ทุกๆ เช้าจนถึงเวลาเที่ยงวัน จะพบเห็นฝูงลิงพากันออกจากป่าที่อาศัย มาสู่ที่โล่งแจ้ง เพื่อตากแดดคลายความหนาวเย็น โดยเฉพาะช่วงกลางคืนและช่วงเช้าตรู่อากาศจะหนาวเย็นมาก มีอุณหภูมิลดต่ำลงเหลือ 23 องศาเซลเซียส จึงส่งผลกระทบต่อฝูงลิง ดังกล่าว

“บิ๊กตู่”ชี้นึกถึงน้ำในอนาคตด้วย

ต่อมาพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. กล่าวในรายการศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยพสกนิกรผู้ประสบอุทกภัยเป็นอย่างยิ่ง โดยมีพระราชดำริให้ภาครัฐติดตามสถานการณ์ เพื่อช่วยเหลือพ่อแม่พี่น้องประชาชนอย่างใกล้ชิด นอกจากทำแผนหลัก แผนรอง และแผนเผชิญเหตุไว้ล่วงหน้า เพื่อดูแลป้องกันและแก้ปัญหา ตลอดจนจิตอาสาต่างๆ ก็จะเข้าไปช่วยเหลือด้วย รวมทั้งการฟื้นฟูเยียวยาให้กับราษฎรที่ประสบภัยในพื้นที่ต่างๆ ต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว เต็มที่ ทันการณ์ ซึ่งรัฐบาลได้รับใส่เกล้าใส่กระหม่อมและดำเนินการอย่างบูรณาการทุกหน่วยงาน เพื่อส่งความช่วยเหลือไปยังประชาชนอย่างทั่วถึง แม้ในพื้นที่ห่างไกลที่สุด และอาจจะถูกตัดขาดจากการสื่อสารจากการคมนาคม

แม้ขณะนี้จะเกิดน้ำท่วม แต่ต้องคำนึงถึงน้ำในอนาคตด้วย เราต้องไม่ระบายน้ำจนหมด จะได้ไม่เกิดภาวะภัยแล้ง หรือน้ำแล้ง น้ำไม่เพียงพอสำหรับอุปโภคบริโภค หรือป้อนภาคการผลิต ทั้งเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม รวมทั้งน้ำในการรักษาระบบนิเวศ การผลักดันน้ำทะเล เพื่อจะรักษาสมดุลให้ได้ มิฉะนั้นแล้วจะเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ยั่งยืน ต้องแก้ไขกลับไปกลับมาทีละปัญหา เหมือนกับงูกินหาง เกิดมายาวนานแล้ว

แจงยุทธศาสตร์แก้ท่วม

สิ่งที่ทุกคนทุกฝ่ายต้องเข้าใจตรงกันคือการทำงานร่วมกัน ต้องประกอบด้วย 1.เรื่องการบริหารจัดการน้ำของประเทศ รัฐบาลและ คสช.ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบไว้แล้ว เรามีการปรับปรุงสอดคล้องตลอดเวลากับสถานการณ์ เราทำแผนงานขนาดใหญ่ถึงปี 2565-68 เราทำมาตั้งแต่ 2557 ที่ผ่านมาก็มีปัญหาในเรื่องภัยแล้ง บางอย่างก็ต้องปรับ บางอย่างก็ต้องเพิ่ม ดังนั้น การสร้างความเข้าใจตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญ ต้องมีการหน่วงน้ำ พร่องน้ำ ระบายน้ำในห้วงเวลาที่เหมาะสม โดยให้เกิดความสูญเสีย หรือเสียหายน้อยที่สุด

“อย่าไปเชื่อว่าใครจะทำไม่ให้ท่วมได้เลย เป็นไปไม่ได้ เพราะบางพื้นที่เป็นพื้นที่ต่ำ หลายคนมีความลำบากมากขึ้น เพราะอยู่ริมแม่น้ำลำคลอง ในพื้นที่ลุ่มต่ำ ต้องไปดูในเรื่องที่อยู่อาศัย ในเรื่องผังเมือง ซึ่งเดือดร้อนทุกคน ทุกคนไม่อยากจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง แต่เราต้องพยายามหาวิธีการ ขอให้เข้าใจด้วย อันนี้ทำก่อน ทำหลัง เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาจากข้อมูลที่เรามีอยู่ แล้วสอดคล้องกับความเร่งด่วนของปัญหา หาแนวทางใหม่ๆ วันนี้เราก็ศึกษามาแล้ว แต่ยังไม่สำเร็จเรียบร้อย 100% เพราะต้องผ่านขั้นตอนอีกเยอะแยะ ในเรื่องการเยียวยา แผนการเยียวยา งบประมาณ” นายกฯ กล่าว

เร่งพิจารณามาตรการเยียวยา

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ในเรื่องการทำแนวทางศึกษาแนวทางขุดคลองเพื่อให้เกิดผล กระทบน้อยที่สุด เช่นเรามีการศึกษาการขุดคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อระบายน้ำหลากบริเวณบางบาล และบางไทร จ.พระนครศรี อยุธยา ระยะทาง 22 กิโลเมตร ตามแนวทางพระราชดำริ เช่น คลองลัดโพธิ์ จ.สมุทรปราการ และการขุดคลองส่งน้ำป่าสัก-อ่าวไทย ต่อเนื่องมาจากคลองชัยนาท-ป่าสัก ระยะทางประมาณ 135 กิโลเมตร เพื่อเพิ่มศักยภาพระบายน้ำออกสู่ทะเลอีกช่องทางหนึ่ง ต้องขอความร่วมมือจากประชาชนที่มีที่ดิน พื้นที่เกษตรกรรม ที่อยู่อาศัย ในแนวทางการขุดคลองจะต้องมีคนที่ได้รับผลกระทบ ด้านการบริหารจัดการน้ำเราต้องพิจารณาทั้งพื้นที่ เวลา และฤดูกาล ปรับเปลี่ยนปฏิทินการเพาะปลูกพืช ขอความร่วมมือจาก พี่น้องให้ทำความเข้าใจด้วย วันนี้ตั้งสำนักงานบริหารจัดการน้ำในสำนักนายกฯ แล้ว เพื่อจะทำงานให้สมบูรณ์ขึ้น เรื่องการทำประมง คงไม่ไปบอกให้ทำประมงในระหว่างน้ำท่วม หมายความว่าถ้าน้ำมันท่วมแล้วหลังจากนั้นมันปลูกพืชไม่ได้ น้ำท่วมอยู่ ก็ต้องหาวิธีการ เช่น ปล่อยน้ำเข้าทุ่งครั้งนี้เราก็ปล่อยปลาไปด้วย ในช่วงที่น้ำยังขังอยู่ปลาก็โตขึ้นเรื่อย เราก็ใช้บริโภค ขายบ้าง นี่เขาเรียกประมงที่ตนพูด ไม่ได้หมายความว่าให้ทำประมง แล้วน้ำท่วมประมงหมด อะไรทำนองนี้ บิดเบือนทุกอัน ตนรับไม่ค่อยได้ พยายามทำความเข้าใจ ตนบอกไปคิดดูแล้วกัน

ส่วนการฟื้นฟูและเยียวยาได้มอบให้ทุกกระทรวง ทบวง กรมไปพิจารณามาตรการการเงินการคลัง มาตรการทางภาษี เพื่อให้พวกเขากลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยเร็ว และอยู่ได้ไปพลางก่อนเพื่อรอการเพาะปลูกในครั้งต่อไป มันถึงต้องหาอาชีพเสริม ทุกมาตรการ เงินบริจาคที่หลายคนบริจาคมาจะได้รับการลดภาษีตามสัดส่วน สำหรับประชาชนที่เดือดร้อน ใครที่เดือดร้อนใครที่เสียภาษี ก็ได้รับการดูแลตรงนั้นด้วยอยู่แล้ว

“ขอขอบคุณทุกภาคส่วน พี่น้องประชาชนที่ให้ความร่วมมือกับทางราชการ ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ก็มาดูแลเจ้าหน้าที่ เห็นเอาข้าวปลามาเลี้ยงเจ้าหน้าที่ ทั้งทหาร พลเรือน ชลประทาน ผมมีความรู้สึกปลื้มใจ ตื้นตันใจ ถึงแม้จะเดือดร้อนก็ยังมาดูแล เป็นห่วง เพราะว่าเขามาทำงานให้ท่าน อันนี้ก็เป็นสิ่งที่น่ายกย่อง” นายกฯ กล่าว

 

 

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน