PETE เปลปกป้อง ที่บุคลากรทางการแพทย์สามารถทำหัตถการได้ในกรณีฉุกเฉิน

สถานการณ์โควิด-19 ยังไม่มีทีท่าจะลดความรุนแรง ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตที่ทะยานขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่บุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศมีจำกัด ทั้งยังต้องเสี่ยงกับการสัมผัสเชื้อ ที่จะทำให้ตัวเองกลายเป็นผู้ป่วยได้

เพราะตัวเลขไม่ใช่แค่ตัวเลข แต่คือชีวิตของผู้คนที่สูญเสียและเจ็บปวดจากโควิด การมีอุปกรณ์การแพทย์ที่ช่วยชีวิตผู้ป่วยได้อย่างปลอดภัยและรวดเร็ว รวมทั้งช่วยปกป้องบุคลากรที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง

ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) ภายใต้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงพัฒนานวัตกรรมสุดยอดฝีมือคนไทย “PETE (พีท) เปลปกป้อง” เปลระบบอากาศแบบความดันลบ ช่วยลดความเสี่ยงการแพร่กระจายเชื้อระหว่างผู้ป่วยกับบุคลากรการแพทย์ สร้างความมั่นใจในการปฏิบัติงานยิ่งขึ้น

ด้วยนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์และใช้งานได้จริงในสถานการณ์ปัจจุบัน “PETE เปลปกป้อง” จึงเป็นหนึ่งในไฮไลต์เด่นของมหกรรมสุขภาพออนไลน์ครั้งสำคัญแห่งปี “เฮลท์แคร์ 2021 วัคซีนประเทศไทย” #เราจะฝ่าวิกฤติไปด้วยกัน ที่ มติชน ข่าวสด และประชาชาติธุรกิจ ภายใต้ “เครือมติชน” ผนึกกำลังกับพันธมิตรชั้นนำทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมกันจัดขึ้น นำเสนอผ่านเฟซบุ๊กมติชน ข่าวสด และประชาชาติธุรกิจ และยูทูบมติชน ทีวี ระหว่างวันที่ 18-22 สิงหาคมนี้

ในงานดังกล่าว เครือมติชนยังร่วมกับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ “BEM” สนับสนุนการมอบ “PETE เปลปกป้อง” จำนวน 10 ตัว รวมมูลค่า 2.5 ล้านบาท แก่โรงพยาบาล 5 แห่ง แห่งละ 2 ตัว ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ และ ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ทั้งหมดด้วยความเชื่อมั่นว่า นวัตกรรมของคนไทยต้องช่วยคนไทยได้ในยามวิกฤติ

ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการ MTEC

ลดความเสี่ยงของทุกคน

ก่อนหน้าโควิดจะระบาด MTEC เน้นการวิจัยเพื่อช่วยให้ผู้สูงวัยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตอบรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย แต่เมื่อโควิดระบาด MTEC ก็ปรับแผนมาคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมสู้โควิด

“MTEC เป็นหน่วยงานที่ให้ความสำคัญเรื่องนี้และพร้อมมีส่วนร่วม เราหารือกันในหมู่ผู้บริหารและนักวิจัยว่าเราจะมีส่วนช่วยเหลือสังคมได้ทางไหนบ้าง แล้วก็พบว่า โจทย์หนึ่งคือความลำบากในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย รวมถึงชุดในการป้องกัน จึงทำงานร่วมกับหมอหลายๆ ที่ ทั้งโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ เป็นต้น ว่าควรมีเปลความดันลบ เพราะที่มีอยู่เป็นเปลนำเข้า มีราคาแพง และมีข้อจำกัดในการใช้งานจริง

“ในการออกแบบ ทีมนักวิจัยใช้การทำงานแบบที่เรียกว่า design thinking คือเข้าใจปัญหาของผู้ใช้ทั้งทางตรงและทางอ้อม เป็นที่มาของนวัตกรรม PETE เปลปกป้องตัวนี้” ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการ MTEC เล่า

ด้าน ดร.กฤษดา ประภากร รองผู้อํานวยการ MTEC ก็ขยายความว่า เปลที่มีอยู่ในท้องตลาดยังมีหลายอย่างที่ไม่สอดคล้องกับการใช้งาน เช่น น้ำหนักมาก และไม่สามารถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเข้าเครื่องเอกซเรย์ได้ ทีมนักวิจัยของ MTEC จึงแก้จุดอ่อน โดยใช้จุดแข็งของหน่วยงานเข้ามาช่วยคือเรื่อง “วัสดุ” เน้นการออกแบบเปลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่มีน้ำหนักเบา พับเก็บได้ ไม่ใช้วัสดุที่เป็นโลหะเพื่อให้เข้าเครื่องเอกซเรย์ได้ ที่สำคัญคือมีต้นทุนราว 250,000 บาท ย่อมเยากว่าเปลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยนำเข้าจากต่างประเทศ ที่มีราคาเฉลี่ย 600,000-700,000 บาท

ดร.จุลเทพ บอกด้วยว่า ไม่เพียงลดความเสี่ยงของผู้ป่วยโควิดระหว่างเคลื่อนย้าย เพราะ “PETE เปลปกป้อง” มีความแข็งแรง ทนทาน มีการกรองเชื้อไม่ให้เล็ดลอดออกมา มีการติดตามสัญญาณชีพของผู้ป่วย ฯลฯ แต่ยังช่วยลดความเสี่ยงของบุคลากรทางการแพทย์ที่ช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็น ผู้ขับรถ ผู้ขนย้ายเปล แพทย์และพยาบาล รวมทั้งลดความเสี่ยงของผู้คนที่อยู่ในเส้นทางลำเลียงผู้ป่วยได้อีกด้วย

ขณะเดียวกัน หากมีเหตุต้องทำหัตถการระหว่างเคลื่อนย้ายผู้ป่วยก็สามารถทำได้ โดยไม่ต้องนำผู้ป่วยออกจากเปล ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้อาจเกิดขึ้นไม่บ่อย แต่เมื่อเกิดขึ้นก็ต้องรับมือให้ได้ สะท้อนการออกแบบที่คำนึงถึงการใช้งานจริงมากที่สุด ทำให้ MTEC เป็นหน่วยงานแรกๆ ในภูมิภาคนี้ ที่นำนวัตกรรมมาพัฒนาเปลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยอย่างจริงจัง

ผู้อำนวยการ MTEC เพิ่มเติมอีกว่า นับถึงตอนนี้ MTEC ผลิต “PETE เปลปกป้อง” เองแล้วร่วม 20 ตัว และมีบริษัทเอกชนที่รับถ่ายทอดสิทธิเป็นผู้ผลิตในเชิงอุตสาหรรม ซึ่งส่งมอบให้โรงพยาบาลต่างๆ ไปแล้วราว 20 ตัว โดยมีแผนจะส่งมอบภายในสิ้นปีนี้ราว 100 ตัว พร้อมมองถึงการส่งออกจำหน่ายในตลาดต่างประเทศ สอดรับกับการเติบโตของอุตสาหกรรมการแพทย์ ที่จะเป็นเศรษฐกิจผลักดันประเทศให้ก้าวหน้าต่อไป

“ต้องขอบคุณเครือมติชนและพันธมิตรที่สนับสนุนการผลิต PETE เปลปกป้อง เพื่อส่งมอบให้โรงพยาบาลต่างๆ ความตั้งใจของเราคือขยายผลให้เกิดการใช้งานในวงกว้าง สนับสนุนผู้ประกอบการไทยที่รับผลิตเปลนี้

“ในวิกฤติทุกคนมีความทุกข์ เราก็ทุกข์ แต่คิดว่าเราต้องแปลงความทุกข์นี้ให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและสังคมให้ได้ ยิ่งในสถานการณ์นาทีเป็นตายของผู้ป่วย เราได้เห็นการทำงานหนักหนาของแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ทุกคน โดยมีอุปกรณ์ที่ MTEC พัฒนาเอาไว้ใช้งาน เราก็ดีใจที่ได้มีส่วนร่วมในการประคับประคองทุกคนให้ผ่านสถานการณ์นี้ไปได้”

ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ หัวหน้าทีมพัฒนา PETE เปลปกป้อง

สะดวก ใช้งานง่าย นำกลับมาใช้ใหม่ได้รวดเร็ว

แม้จะเริ่มลุยพัฒนานวัตกรรม “PETE เปลปกป้อง” ได้ราว 1 ปีครึ่ง แต่จนถึงขณะนี้ เปลดังกล่าวก็พัฒนามาแล้วถึง 7 เวอร์ชัน สะท้อนถึงการทำงานอย่างหนักของทีมนักวิจัย ที่ต้องการสร้างสรรค์นวัตกรรมให้เหมาะกับการใช้งานมากที่สุดในสถานการณ์โควิด

ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ นักวิจัยอาวุโส หัวหน้าห้องปฏิบัติการการออกแบบและแก้ปัญหาอุตสาหกรรม หน่วยวิจัยการออกแบบและวิศวกรรม MTEC เล่าว่า ทีมนักวิจัย 8 คน ได้รับโจทย์ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ว่า โรงพยาบาลต่างๆ มีความต้องการเปลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยระบบความดันลบ จึงแบ่งหน้าที่กันทำงาน มีทั้งนักวิจัยที่ออกแบบระบบความดันลบ ระบบการฆ่าเชื้อ การกรองอากาศ นักวิจัยที่ออกแบบวัสดุเพื่อนำมาใช้งานจริง และนักวิจัยที่ลงพื้นที่เก็บข้อมูลและสัมภาษณ์

หลังจากผลิตเปลต้นแบบ โดยเลือกใช้วัสดุที่หาได้ในประเทศเป็นหลักแล้ว ก็นำไปทดลองใช้งานจริงหลายที่ อาทิ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ แล้วนำความเห็นมาปรับปรุงและพัฒนา “PETE เปลปกป้อง” ให้ใช้งานได้ดียิ่งขึ้น

“เวอร์ชันแรกเข้าเครื่องเอกซเรย์ไม่ผ่าน เพราะมีวัสดุโลหะอยู่นิดหนึ่ง เราจึงลองปรับเปลี่ยนหลายครั้งจนได้งานที่สำเร็จออกมา โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาหลายท่านช่วยให้คำแนะนำระหว่างพัฒนา

“อย่างเรื่องขนาดของแคปซูล ความยาวต้องเหมาะกับตัวผู้ป่วย เราทำยาว 2 เมตร เพื่อรองรับผู้ป่วยที่ตัวสูง และความสูงของแคปซูลต้องทำให้เข้าเครื่องเอกซเรย์ได้พอดี ตัวเปลรองรับน้ำหนักผู้ป่วยสูงสุด 250 กิโลกรัม เพราะหน้างานเราเจอผู้ป่วยที่หนักเกิน 100 กิโลกรัมเยอะมาก ขณะที่เปลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยอื่นๆ รองรับได้ 120-150 กิโลกรัมเท่านั้น” ดร.ศราวุธ ยกตัวอย่าง พร้อมอธิบายส่วนประกอบของ “PETE เปลปกป้อง” ว่า มีด้วยกัน 3 ชิ้นส่วนหลัก

ส่วนแรกเรียกว่า “แคปซูล” หรือห้องแยกผู้ป่วย เป็นพลาสติกใส มีซิปรูดเปิดปิดสำหรับให้ผู้ป่วยนอน มีช่องสำหรับร้อยสายเครื่องช่วยหายใจและสายน้ำเกลือ ในกรณีที่ผู้ป่วยต้องใช้เครื่องดังกล่าว และมีถุงมือสำหรับทำหัตถการ 8 จุดรอบเปล เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ทำการรักษาผู้ป่วยได้สะดวกขึ้นในกรณีฉุกเฉิน

ส่วนที่สองเป็นส่วนสร้างความดันลบ หน้าตาเป็นกล่องเล็กๆ มีระบบกรองประสิทธิภาพสูง เพื่อกรองอากาศที่ผู้ป่วยหายใจออกมา และฆ่าเชื้อด้วยแสงยูวี-ซี ก่อนปล่อยอากาศสู่ภายนอก

ส่วนที่สามคือระบบควบคุมแรงดันอากาศแบบอัตโนมัติ ซึ่ง MTEC จดสิทธิบัตรไว้ สามารถควบคุมระบบอากาศและแจ้งเตือนผู้ใช้ในกรณีที่มีความผิดพลาด เช่น ลืมรูดซิปแคปซูล เป็นต้น

จุดเด่นของเปลนี้คือน้ำหนักเบา พับเก็บได้ เคลื่อนย้ายสะดวก

เมื่อใช้งานเสร็จแล้ว สามารถใช้น้ำยาผสมกับน้ำและใช้ปืนพ่นที่มีความปลอดภัย พ่นทำความสะอาดภายในและภายนอกได้เลย จากนั้นทิ้งไว้ให้แห้งไม่เกิน 5 นาที ก็สามารถพับแคปซูลเก็บในถุง เป็นการประหยัดพื้นที่ และพร้อมใช้งานสำหรับผู้ป่วยรายต่อไปได้

“นอกจากจะสร้างความปลอดภัยให้ผู้ป่วย บุคลากรทางการแพทย์ก็ปลอดภัยด้วย จากที่ใส่เฟซชีลด์ ใส่ชุดพีพีอี พอมีเปลนี้ก็เหมือนด่านแรกที่ป้องกันการกระจายเชื้อ การช่วยเหลือต่างๆ ก็ทำได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น”

ดร.ศราวุธ บอกด้วยว่า “PETE เปลปกป้อง” ไม่จำเป็นต้องใช้ในสถานการณ์โควิดอย่างเดียวเท่านั้น เพราะสามารถใช้ได้กับการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจอื่นๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ วัณโรค ซาร์ส ฯลฯ ได้ด้วย เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่างๆ และขณะนี้กำลังวางแผนพัฒนาเวอร์ชันที่ 8 โดยเน้นลดต้นทุนการผลิต เพราะหลายโรงพยาบาลมีความต้องการใช้ แต่ไม่มีกำลังพอจะจัดซื้อ

“เป้าของเราคือทำคุณภาพให้ดีกว่าเดิมและลดต้นทุนให้ต่ำลง ต้องขอบคุณเครือมติชนและพันธมิตรที่เข้ามาสนับสนุน ทำให้เราสามารถกระจายความช่วยเหลือไปได้เยอะขึ้น

“จากเดิมที่นวัตกรรมช่วยสนับสนุนคุณภาพชีวิตของทุกคนให้ดีขึ้น มาตอนนี้พวกเราเห็นเจ้าหน้าที่เข็นเปลปกป้องที่มีผู้ป่วยอยู่ในนั้น ทุกคนฮึกเหิมเลย เพราะนี่เกินกว่าเพิ่มคุณภาพชีวิตแล้ว แต่คือการรักษาชีวิตของผู้ป่วยและทุกคนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เขาได้กลับไปเจอครอบครัวและคนที่รักอีกครั้ง” ดร.ศราวุธ ปิดท้าย

เรื่อง: สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์
ภาพ: วรวิทย์ พานิชนันท์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน