ไม่ใช่เรื่องเอามาล้อเล่น! จิตแพทย์ เตือนคลิปรีแอคชั่น เหตุกราดยิงโคราช ชี้ย้ำเตือนเจ็บปวด 3 กลุ่ม เสี่ยงชินชาเหตุรุนแรง คนอ่อนไหวอาจเกิดการเลียนแบบได้

กรณีดราม่าเดือดโซเชียล ช่องยูทูบทำคลิปรีแอคชั่นเหตุการณ์กราดยิงที่ จ.นครราชสีมา เมื่อก.พ. 2563 โดยมีการเล่นมุกตลก ล้อเลียนด้วยน้ำเสียงหัวเราะทั้งคลิป ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก

วันที่ 8 ก.ค.65 พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวว่า เหตุการณ์รุนแรงที่ผิดปกติวิสัยคนทั่วไปจะมีโอกาสพบเจอ โดยเฉพาะประสบการณ์เฉียดตาย การสูญเสียชีวิต และทรัพย์สินอย่างรุนแรง รวมถึงเหตุการณ์ที่เกิดภาพ เสียง บรรยากาศสะเทือนขวัญรุนแรง จะสร้างความเจ็บปวดในขณะที่เกิดเหตุและหลังเกิดเหตุได้นานเป็นหลักปี มีผลต่อความเครียด ความเสี่ยงภาวะซึมเศร้า และที่เรากังวลใจคือ โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง (PTSD) จากการรับการกระทบกระเทือนจากเหตุการณ์เลวร้าย ซึ่งอาจได้ยินโรคนี้จากคำบอกเล่าของกลุ่มทหารผ่านศึก สังเวียนเฉียดตายในสนามรบ ซึ่งเกิดขึ้นได้กับเหตุการณ์ความรุนแรงที่ใกล้เคียงกันด้วย

พญ.อัมพร กล่าวว่า เราต้องรับรู้เพื่อก้าวข้าม ป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก การนำภาพ รายละเอียดเชิงอารมณ์ของเหตุการณ์ความรุนแรงมาตอกย้ำซ้ำๆ มีผลเสียอย่างแน่นอน ทั้งยังไม่ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ หากจะให้เกิดการเรียนรู้จริงต้องพูดถึงเฉพาะสาระสำคัญ แต่ไม่ใช่การเจาะลึกรายละเอียดของความรู้สึกเจ็บปวด เพราะการทำให้ภาพเหตุการณ์ซ้ำอีกครั้ง จะส่งผลกระทบต่อ 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์นั้นมาก่อน และกำลังเจ็บป่วยมีบาดแผลนั้น การทบทวนความหลังในรายละเอียด ทำให้แผลถูกกรีดซ้ำ แทนที่จะหายก็กลายเป็นปะทุขึ้นมาอีก ที่ดีขึ้นแล้วก็อาจจะกระเสาะกระแสะ

2.กลุ่มผู้สูญเสียทั้งคนรักและทรัพย์สินในเหตุการณ์นั้น ทำให้เกิดบาดแผลในจิตใจที่หนักหนาได้ยิ่งกว่าเดิม และ 3.ผู้ที่เคยอยู่ในเหตุการณ์ในลักษณะที่คล้ายกัน เช่น วินาศภัย มหัตภัยที่รุนแรง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่มีจิตใจที่ง่ายต่อความเจ็บปวด เช่น การสูญเสียคนรัก สูญเสียสถานะบางอย่าง ดังนั้นเรื่องแบบนี้เป็นการย้ำเตือนความเจ็บปวดซ้ำได้อีก

“ภาพรวมของคนที่ไม่เคยเห็นเหตุการณ์รุนแรงนี้ แต่มีพื้นฐานอารมณ์ที่อ่อนไหว เปราะบางอยู่แล้ว เช่น เจ็บป่วยโรคทางกายหรือใจ มีปัญหาสัมพันธภาพ ไม่มีที่พักพิงใจ ไม่มีคนช่วยเหลือ คนโดดเดี่ยวจึงมีโอกาสง่ายที่จะอารมณ์ไหวตามเหตุการณ์นั้น หากมีการพูดย้ำถึงเรื่อยๆ จะเพิ่มความเครียด ความโกรธเคืองและก้าวร้าวในสังคมได้ด้วย

ทั้งยังเกิดความด้านชาต่อความรุนแรง หมายความว่า คนที่มีโอกาสสัมผัสกับเหตุการณ์เหล่านี้ในมุมหนึ่งจะเปราะบาง แต่อีกมุมจะกลายเป็นคนชาชินกับความรุนแรง หรืออาจเป็นคนสร้างหรือกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงได้ง่าย จึงเป็นเรื่องที่เราต้องช่วยกันดูแล ไม่ปล่อยให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น” พญ.อัมพรกล่าว

เมื่อถามว่าเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นเช่นนี้ การนำมาพูดซ้ำในปัจจุบันมีโอกาสให้เกิดการเลียนแบบได้อีกหรือไม่ พญ.อัมพร กล่าวว่า เรื่องพฤติกรรมเลียนแบบโดยเฉพาะคนที่มีจุดอ่อนในเรื่องจิตใจ พฤติกรรมและสังคมรอบข้างย่อมเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะคนที่อยู่ในภาวะกดดันทางสังคมอยู่แล้ว หากเผลอมองเห็นเหตุการณ์ความรุนแรงซ้ำๆ ประกอบกับความรู้ง่ายที่จะทำ ความรู้ชาชินที่จะทำ ก็ย่อมเป็นกระบวนการนำไปสู่การเลียนแบบได้ เราก็ต้องระมัดระวังกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน