อ.เจษฎ์ ไขข้อข้องใจปวงชน ตอบชัดเจนว่า ‘ฝีดาษลิง’ ติดเชื้อง่าย ๆ เพียงแค่ปัสสาวะกระเด็น จริงหรือไม่?

จากกรณี นายโอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เผยไทยพบผู้ติดไวรัสฝีดาษลิง (Monkeypox) หรือฝีดาษวานร รายแรกที่ จ.ภูเก็ต เป็นชายชาวไนจีเรีย อายุ 27 ปี โดยผลตรวจยืนยันตั้งแต่วันอังคาร (19 ก.ค.) ทำให้ประชาชนเกิดความกังวลมากมาย โดยเฉพาะในเรื่องการแพร่กระจายเชื้อ

เหตุ โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) หรือฝีดาษวานร เป็นโรคติดต่อจากไวรัส โดยการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัดข่วน การกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงไม่สุก และการสัมผัสผู้ป่วยผ่านทางสารคัดหลั่ง จากน้ำมูกน้ำลาย เลือด ผิวหนังที่เป็นตุ่มหนอง อุปกรณ์ที่มีการปนเปื้อนเชื้อ หรือทางปัสสาวะในห้องน้ำ อาจมีความเสี่ยง จนเกิดข้อถกเถียงมากมายว่า เพียงแค่ปัสสาวะของผู้ติดเชื้อกระเด็นใส่สามารถติดเชื้อฝีดาษลิงจริง ๆ หรือไม่

ภาพจาก ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (ซีดีซี) สหรัฐ

รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ โพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ระบุชัดเจนตอบกระแสความกังวลว่า “ฝีดาษลิง ไม่ได้ติดกันง่ายๆ เพียงแค่โดนฉี่กระเด็นใส่ นะครับ”

“ตอนนี้กระแสความกังวลเรื่อง “ฝีดาษลิง” เหมือนจะไปกันใหญ่แล้วนะครับ แน่นอนว่ามันเป็นโรคที่ถ้าเป็นขึ้นมา แล้วจะดูไม่ดีเอาเสียเลยกับการมีฝีตุ่มขึ้นเต็มตัว (เหมือนสมัยที่โรคอีสุกอีใส ยังเคยระบาดในไทย) แต่มันก็ไม่ได้จะอันตรายร้ายแรงมากนัก”

ภาพจาก The UK Health Security Agency (UKHSA)

“โอกาสติดโรคก็ไม่ได้จะสูงมากมายอย่างโควิดนะครับ หลักๆ จะเป็นการใกล้ชิด พูดคุย คลุกคลี ใช้สิ่งของร่วมกัน สัมผัสโดนน้ำคัดหลั่งจากผู้ติดเชื้อแล้วมาเข้าสู่บาดแผลบนตัวเรา หรือเข้าไปทางปาก จมูก ตา ให้จำนวนไวรัสเข้าไปเยอะมากเพียงพอที่จะเป็นโรค ไม่ใช่ว่าโดนผิวปุ๊บ แล้วติดโรคปั๊บ”

“ล่าสุดนี่ เห็นคนแชร์คลิปติ๊กต็อกเตือนเข้าห้องน้ำ แล้วจะติดโรคฝีดาษลิงได้ (ซึ่งจริงๆ ก็ยังไม่มีรายงานการระบาดในไทยนะ) อันเนื่องจากไปสัมผัสโดนฉี่ที่เปื้อนอยู่ตามฝารองนั่งชักโครก !? ทำเอาตกอกตกใจกันใหญ่ จะไม่กล้าเข้าห้องน้ำสาธารณะกัน กลัวติดฝีดาษลิง (ซึ่งจริงๆ ก็ควรทำความสะอาดอยู่แล้วนะ เวลาจะใช้เนี่ย)”

ภาพจาก CDC /Journal of Veterinary Sciences)

“ต้องขอยกนพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ที่ให้สัมภาษณ์เรื่องนี้เอาไว้นะครับ ว่า “ความกังวลใจของคนในการเข้าห้องน้ำสาธารณะ เกรงว่าจะติดเชื้อฝีดาษลิง อยากให้เข้าใจว่าการปัสสาวะไม่ได้ฟุ้งกระจายมาก จนแพร่เชื้อหรือรับเชื้อได้ แต่อยู่ที่ตุ่มบริเวณอวัยวะเพศ หากแตกออกมาก็สามารถแพร่เชื้อได้จากการสัมผัสโดยตรง ไม่ใช่จากการปัสสาวะ จากความกลัวของหลายๆ คน”

พร้อมทั้งอธิบายเพิ่มเติมว่า เมื่อคนรับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย จะมีระยะฟักตัวประมาณ 7-14 วัน หรืออาจนานถึง 21 วัน แต่สามารถควบคุมการระบาดได้ด้วยการฉีดวัคซีนไข้ทรพิษ ทำให้ประชากรในไทยที่เคยฉีดวัคซีนหรือปลูกฝี

ช่วงก่อนปี 2523 มีความเสี่ยงน้อยกว่ากลุ่มที่เกิดหลังปี 2523 ซึ่งไม่เคยได้รับการปลูกฝีมาก่อน นั่นหมายความว่า ผู้ที่เคยปลูกฝี หรืออายุประมาณ 42 ปีขึ้นไป แม้จะติดเชื้อฝีดาษลิง แต่ตุ่มที่เกิดขึ้นจะน้อยมาก เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้เคยปลูกฝีมาก่อน

ขอบคุณที่มาจาก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน