ไขข้อสงสัย! ทำไมสมัยก่อนจะต้องปลูกฝี ปลูกฝีสมัยก่อน-ปัจจุบันแตกต่างกันอย่างไร ป้องกันฝีดาษลิงได้หรือไม่

หลังจากมีกระแสข่าวดีของ นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ได้ออกมาเผยแพร่บทความการศึกษาวิจัยถึงระดับภูมิคุ้มกันหลังจากฉีดวัคซีนป้องกันฝีดาษ ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ชั้นนำคือ The New England Journal of Medicine

ระบุ ผู้สูงอายุที่ปลูกฝีป้องกันฝีดาษเมื่อกว่า 50 ปีก่อน ยังคงมีภูมิคุ้มกันในระดับสูง มีครึ่งอายุ (Half life)นานถึง 92 ปี ( Half life : ระยะเวลาที่ระดับภูมิคุ้มกันลดลงเหลือ 50% ) ทางทีมข่าวสดจะขอไขข้อข้องใจว่าการปลูกฝีคืออะไร ปลูกฝีในอดีตและปัจจุบันแตกต่างกันอย่างไร และทำไมการปลูกฝีถึงช่วยป้องกันโรคฝีดาษ

นิตยสารสารคดี เผยไข้ทรพิษ หรือ ฝีดาษ (Smallpox) เป็นโรคติดต่อที่มีมาตั้งแต่โบราณ ทางภาคใต้เรียก “ไข้น้ำ” ส่วนในภาคเหนือเรียก “ตุ่มสุก” หรือ “เป็นตุ่ม” และปรากฏบันทึกตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งชาวสยามเริ่มรู้จักการปลูกฝีเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรคในสมัยรัชกาลที่ 3 ตรงกับยุคที่ ไข้ทรพิษ ระบาดอย่างหนัก

ความหวังในขณะนั้นคือ เทคโนโลยีการแพทย์แผนตะวันตก ที่เพิ่งนำเข้าสู่สยามพร้อมการเดินทางเข้ามาของ หมอบรัดเลย์และเหล่ามิชชันนารี ซึ่งศึกษาวิธีการรักษาไข้ทรพิษอย่างจริงจังจนเป็นที่มาของการปลูกฝี สร้างภูมิคุ้มกันไข้ทรพิษ ไม่ต่างจากการฉีดวัคซีนในปัจจุบัน

โดยการให้วัคซีนครั้งแรกของไทยเริ่มต้นในปี พ.ศ. 2378 มีบันทึกการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2378 ต่อมาในปี พ.ศ. 2456 เมื่อรัฐบาลไทยออกกฎหมายบังคับให้ประชาชนทุกคนปลูกฝีป้องกันโรคไข้ทรพิษ

การปลูกฝีในปัจจุบันคืออะไร การปลูกฝีเป็นหนึ่งในวัคซีนที่เด็กแรกเกิดของไทยทุกคนต้องได้รับ โดยวัคซีนชนิดนี้มีชื่อว่า BCG (Bacillus Calmette-Guérin) ซึ่งจะฉีดลงใต้ผิวหนังเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ #วัณโรคชนิดลุกลาม โดยเฉพาะการลุกลามไปยังสมอง โดยการฉีดวัคซีน BCG เข้าที่บริเวณต้นแขนของเด็ก ซึ่งหลังจากการฉีดวัคซีนมักจะทิ้งแผลเป็นไว้ จึงกลายเป็นที่มาของคำว่าปลูกฝี เพราะมีแผลเป็นที่เกิดจากการฉีดวัคซีนนั่นเอง

ตำแหน่งในการฉีดวัคซีนวัณโรคคือบริเวณต้นแขนข้างซ้าย เหตุผลที่แพทย์นิยมปลูกฝีให้ที่ต้นแขนมากกว่าบริเวณอื่น เช่น สะโพก เป็นเพราะทารกต้องใส่ผ้าอ้อมเป็นประจำ หากมีแผลปลูกฝีในบริเวณนั้นอาจทำให้เกิดการเสียดสีกับแผล และก่อให้เกิดความเจ็บปวดกับทารก อีกทั้งทำให้ติดเชื้อได้ง่ายด้วย

ดังนั้น แพทย์จึงนิยมปลูกฝีให้บริเวณต้นแขนมากกว่าในบริเวณอื่น ๆ เพราะคุณพ่อคุณแม่จะดูแลแผลให้ลูกน้อยง่ายและปลอดภัยต่อทารกมากกว่าโดยลักษณะของแผลปลูกฝีผิวตรงต้นแขนของทารกจะเกิดเป็นตุ่มนูน จากนั้นจะแตกออกเป็นแผลเล็ก ๆ มีหนองบ้าง และจะเป็น ๆ หาย ๆ แบบนี้ไปประมาณ 6 สัปดาห์

ภาพจาก ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยไวรัสในกลุ่มฝีดาษวานร ฝีดาษวัว ฝีดาษคน มีความคล้ายคลึงกันมาก ดังนั้น การปลูกฝีป้องกันฝีดาษวัว ป้องกันฝีดาษคนได้

พบว่า น่าจะป้องกันฝีดาษวานรได้ด้วย ประเทศไทย แต่เดิม ปลูกฝีให้กับทุกคน โดยเฉพาะตั้งแต่แรกเกิด และโรคนี้สามารถควบคุมได้ และหมดไป จึงเลิกการปลูกฝีในประเทศไทย ประมาณปีพ.ศ. 2517 เป็นต้นมา และองค์การอนามัยโลกประกาศว่าฝีดาษหมดไปในปีพ.ศ. 2523 และทั่วโลกยกเลิกปลูกฝีตั้งแต่นั้นมา

ประชากรไทยที่เกิดก่อนปีพ.ศ. 2517 เกือบทุกคนมีการปลูกฝี หรือสังเกตได้จากการมีแผลเป็นของการปลูกฝี เป็นแผลเป็นที่แบนราบ แต่เรายังมีการให้วัคซีน BCG ป้องกันวัณโรค ซึ่งแผลเป็นของวัคซีนป้องกันวัณโรคจะมีลักษณะนูนกว่า

ขอบคุณที่มาจาก ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย The New England Journal of Medicine Yong Poovorawan Hfocus Motherhood

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน