รัฐบาลยันโพสต์ขายข้าวเองโดยตรงไม่ผิดกฎหมาย “ไก่อู” เผย “บิ๊กตู่” ชื่นชม รองปลัดยุติธรรมชี้สีข้าวเอง-ขายเอง ไม่เข้าข่ายขัดพ.ร.บ.ขายตรง พาณิชย์แนะจดทะเบียนการค้า ปลัดพาณิชย์นำคณะลงพื้นที่ถกชาวนา- โรงสี จ.พิจิตร หญิงชาวนาบุกกอดขา วอนช่วยเหลือ แกนนำเกษตรกรขู่ปิดถนนหากรัฐบาลไม่มีคำตอบภายในวันนี้ “วิษณุ”ยัน คำสั่งชดใช้ “จำนำข้าว” ไปว่ากันในศาล คำขอ “ยิ่งลักษณ์” ไม่เข้าเงื่อนไขอุทธรณ์หรือทุเลายึดทรัพย์ เพื่อไทยย้ำยื่นร้องศาลปกครองพ.ย.นี้ หนุนกรธ.วางกรอบพ.ร.บ.พรรค การเมือง เปิดชื่อนายทุนพรรค ปชป.ยุให้ อำนาจกกต.อายัดเงินกลุ่มทุนซื้อเสียง

“บิ๊กตู่”ให้กำลังใจชาวนาขายข้าวเอง

วันที่ 30 ต.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงราคาข้าวเปลือก โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิที่มีราคาตกต่ำ ว่า รัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาข้าวแบบยั่งยืน เริ่มตั้งแต่ชี้แจงทำความเข้าใจว่าข้าวไม่ได้ปลูกแค่ประเทศไทยประเทศเดียวประเทศอื่นก็ปลูก ดังนั้นระบบที่จะทำให้ข้าวราคาไม่ตกต่ำต้องเริ่มจากภาครัฐ ร่วมกับภาคเอกชนและเกษตรกร ที่ผ่านมาทุกภาคส่วนรู้มาตลอดว่าเมื่อถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวจะมีปริมาณข้าวออกมามาก รัฐบาลจึงได้กำหนดโครงการต่างๆ ออกมา โดยเฉพาะการชะลอไม่ให้ข้าวออกสู่ตลาดเร็วเกินไป รัฐบาลสนับสนุนในด้านของ สินเชื่อเพื่อไปดำเนินการในโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ถือเป็นการแก้ปัญหาข้าวอย่างยั่งยืน รัฐบาลคิดแผนระยะยาวทุกๆ ด้าน ไม่ได้คิดเพียงว่าให้เงินลงไป ถ้าเป็นแบบนั้นถือเป็นการแก้ปัญหาไม่ถูกจุด เกษตรกรอาจถูกใจที่ได้เงินแต่ระบบเศรษฐกิจในภาพรวมประเทศเสียหาย เพราะอย่าลืมว่าประเทศไทยมีอีกหลายปัญหาที่ต้องทำ และแก้ไขควบคู่กันไป

“อย่างไรก็ตามปัจจุบัน มีเกษตรกรบางส่วนพยายามช่วยเหลือตัวเองโดยการขายข้าวโดยตรงไม่ผ่านผู้ประกอบการ บางคนใช้เทคโนโลยีโดยการขายแบบออนไลน์ ซึ่งพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับทราบและขอบคุณ พร้อมให้กำลังใจ แต่ก็มีกลุ่มบุคคลที่ไม่หวังดีบอกว่าการขายตรงดังกล่าวผิดกฎหมายเรื่องการขายตรง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดยืนยันว่าไม่ผิดกฎหมาย สามารถทำได้” พล.ท.สรรเสริญกล่าว

พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่า ในวันจันทร์ที่ 31 ต.ค. จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) คาดว่าจะมีมาตรการอื่นออกมาเพิ่มเติมเพื่อทำให้ระดับราคาข้าวอยู่ในเกณฑ์ที่เกษตรกรพึงพอใจ มาตรการต่างๆ จะออกมาอย่างไร รวมทั้งจะแก้ปัญหาราคาข้าวเปลือก ที่มีคนระบุว่าราคากิโลกรัมละ 5 บาทนั้น คงต้องรอผลสรุปจากการประชุมในวันที่ 31 ต.ค.

รองปลัดยธ.ชี้สีข้าวขายเองไม่ผิด

นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม โพสต์เฟซบุ๊กถึงการแชร์ข้อความขายข้าวบนเฟซบุ๊ก เป็นเรื่องผิดกฎหมาย ว่า เกษตรกรสีข้าวและขายเองไม่ผิดพ.ร.บ. ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2545 ตามเจตนารมณ์กฎหมายเนื่องมาจากการทำตลาดขายตรงและตลาดแบบตรงในปัจจุบันใช้วิธีการชักชวนและจัดให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมเป็นเครือข่ายในธุรกิจดังกล่าว โดยตกลงจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่ายดังกล่าว ซึ่งคำนวณจากจำนวนผู้เข้าร่วมเครือข่ายที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น เมื่อพิจารณาดูคำนิยามตามมาตรา 3 พ.ร.บ. ดังกล่าว ซึ่งให้คำนิยามต่างๆ แล้วการขายข้าวของเกษตรกรที่สีข้าวและขายเอง จึงไม่เข้าข่ายตามกฎหมายขายตรง

นายธวัชชัยระบุว่า กล่าวสรุปโดยรวม “เกษตรกรสีข้าวและขายข้าวเอง” ไม่เข้าข่ายเป็นผู้จำหน่ายอิสระ เนื่องจากไม่เป็นตัวแทนขายตรง เพราะไม่มีการผ่านตัวแทนขายตรงหรือผู้จำหน่ายอิสระชั้นเดียวหรือหลายชั้น ไม่ใช่การตลาดแบบตรง และไม่เป็นการ ขายตรงตามพ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 แน่นอน ส่วนการช่วยเหลือเกษตรกรรัฐบาลก็จะมีมาตรการช่วยเหลือที่เหมาะสมต่อไป

พณ.หนุนจดทะเบียนการค้า

ที่กระทรวงพาณิชย์ นางนันทวัลย์ ศกุนต นาค อธิบดีกรมการค้าภายใน (คน.) กล่าวถึงการหารือภายในร่วมกับนางอภิรดี ตันตรา ภรณ์ รมว.พาณิชย์ เพื่อเตรียมข้อมูลในการประชุมนบข. ว่า ภาพรวมการหารือครั้งนี้จะเป็นการรายงานถึงผลของการดำเนินงาน ตามมาตรการต่างๆ ที่ นบข. และกระทรวงพาณิชย์ดำเนินการไปแล้วในช่วงที่ผ่านมาว่าได้ผลมากน้อยแค่ไหน และมาตรการใดที่ ต้องทบทวนหรือปรับปรุง เบื้องต้นยังไม่มีการเสนอมาตรการใหม่ๆ ออกมา ยังจะดำเนินการตามแนวทางเดิมอยู่ อย่างไรก็ตาม หากจะมีมาตรการใหม่ใดๆ ออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาราคาข้าวตกต่ำก็ต้องขึ้นอยู่กับที่ประชุมนบข.

นางนันทวัลย์กล่าวว่า สำหรับมาตรการดูแลและรักษาเสถียรภาพราคาข้าวปีการผลิต 2559/60 มีหลายมาตรการด้วยกัน เช่น โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้แก่ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก เป้าหมายการเก็บสต๊อกข้าว 8 ล้านตัน โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี เพื่อเก็บสต๊อกข้าวปริมาณเป้าหมาย 2 ล้านตัน และโครงการ สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร เพื่อดูดซับข้าวปริมาณ 2.5 ล้านตัน เป็นต้น

นางนันทวัลย์กล่าวกรณีชาวนารวมกลุ่มเป็นผู้ผลิตข้าวสารบรรจุถุงจำหน่ายเองว่า เป็นเรื่องที่ดีที่ทุกฝ่ายควรให้การสนับสนุนเพราะสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการให้ชาวนาสามารถทำการตลาดได้เองโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง เป็นสิ่งที่ภาครัฐพยายามผลักดันมานานแล้ว แต่สิ่งที่ภาครัฐมีความเป็นห่วงคือมาตรฐานของข้าวถุงที่ชาวนาบรรจุเอง และต้องการให้ชาวนาที่ต้องการบรรจุข้าวถุงขายเองไปจดทะเบียนการค้า เพื่อจะได้เป็น ผู้ประกอบการที่ถูกต้อง ง่ายต่อการเข้าไปให้ความช่วยเหลือของภาครัฐที่ปัจจุบันมาอยู่แล้วผ่านโครงการต่างๆ หรือหากชาวนาต้องการความช่วยเหลือก็สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานพาณิชย์ทุกจังหวัด

เช็กข้อกฎหมายให้ชัดเจน

น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงกรณีโครงการลูกชาวนาได้เวลาช่วยพ่อแม่ บางรายขายข้าวผ่านช่องทางออนไลน์ว่า กำลังเช็กรายละเอียดการจดทะเบียนผู้ค้า มีข้อยกเว้นเยอะมากจึงต้องเช็กให้ละเอียด การเป็นวิสาหกิจชุมชน เป็นสหกรณ์ หรือตัวเกษตรเอง ก็มีฐานะในการจดทะเบียนต่างกัน มีข้อยกเว้นไม่เหมือนกัน ต้องดูว่าคนขายเป็นใคร เงื่อนไขแต่ละกลุ่มไม่เหมือนกัน แล้วยังขึ้นกับว่าจะขายรูปแบบไหน หรือฝากขายในช่องทางที่มีการจดทะเบียนแล้วด้วย ออนไลน์ก็ต้องจดแต่ก็มีข้อยกเว้นเรื่องทะเบียนพาณิชย์ที่มานั่งขายกับพื้นก็มีรายละเอียดต่างกัน ไปอีก ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ นักกฎหมายไปหาข้อมูลมาพูดคุยหารือกันให้ชัดเจน ขอให้ นักกฎหมายตีความให้ละเอียดและชัดเจนก่อน เพื่อความเข้าใจที่ตรงกันในการนำเสนอข้อมูลออกไป คาดจะรวบรวมและสรุปแล้วเสร็จได้ในวันที่ 31 ต.ค.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับชาวนาหรือบุคคลทั่วไปสามารถไปจดทะเบียนพาณิชย์กับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทยโดยเขตกรุงเทพฯจดที่สำนักงานเขต แต่ถ้าต่างจังหวัดจดกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือเทศบาล เมื่อยื่นขอจดทะเบียนพาณิชย์แล้วต้องแจ้งเขตด้วยว่าขอจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ด้วย เมื่อนั้นจะเกี่ยวกับ DBD คือ ฐานข้อมูล e-Commerce จะ Link มาที่ DBD แล้วจะได้รับเครื่องหมาย DBD Registered

ชาวนาพิจิตรวอนรัฐซื้อข้าว

เวลา 08.00 น.ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลวังกรด อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ พร้อมผู้บริหารกระทรวง เดินทางมาฟังปัญหาเพื่อหาแนวทางช่วยเหลือชาวนาแก้ไขปัญหาราคาข้าวตกต่ำ พร้อมประชุมร่วมกับกลุ่มเกษตรกรชาวนา 3 อำเภอ และกลุ่มโรงสีข้าวในจังหวัดพิจิตร

ขณะที่ น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ พร้อมคณะมาถึง นางสนิท กะโห้ อายุ 63 ปี ชาวชาวนา ต.สายคำโห้ ถือต้นข้าวหอมมะลิพันธุ์ 105 และข้าวสาร เข้ามาคุกเข่ากอดขา น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ เพื่อฝากไปยังนายกฯให้ช่วยเหลือเนื่องจากโรงสีพิจิตรไม่รับซื้อข้าว ปลัดพาณิชย์ รับปากว่าจะหาแนวทางแก้ไขให้

นางสนิทกล่าวว่า ตอนนี้ข้าวหอมมะลิกว่า 100 ไร่ที่ปลูกไว้ไม่สามารถขายได้ อาทิตย์หน้าก็จะเริ่มเก็บเกี่ยวข้าวแล้วหากเป็นแบบนี้ชาวนาตายแน่ๆ รัฐบาลจะให้จำนำข้าวใน ยุ้งฉาง แต่ชาวนาพิจิตรส่วนใหญ่จะขายเลย เพราะไม่มียุ้งฉางตากข้าวเหมือนเกษตรกรในจังหวัดอื่น อยากให้รัฐบาล หาวิธีการแก้ไขและช่วยเหลือด้วย

จากนั้น น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ พร้อมคณะ และนายวีระศักดิ์ วิจิตรแสงศรี ผู้ว่าฯพิจิตร ประชุมร่วมกับ นางมิ่งขวัญ พุกเอี่ยม ประธานชมรมโรงสีข้าวพิจิตร นายมานะ วุฒิยากร ประธานเครือข่ายเกษตรกรชาวนาข้าวนาปีกลุ่มอำเภอบางมูลนาก เจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส. เกษตรจังหวัดพิจิตร และเกษตรกรชาวนา 3 อำเภอ กว่า 200 คน

ชาวนาขู่ปิดถนน

ในที่ประชุม นายมานะเสนอให้รัฐบาลช่วยชาวนาโดยรับซื้อข้าวหอมมะลินาปีตันละ 10,000 บาท เนื่องจากถูกโรงสีข้าวกดราคาเหลือเพียงตันละ 5,000-6,000 บาท หากไม่อยากเห็นชาวนาผูกคอตายเพราะราคาข้าวตกต่ำก็ฝากปลัดพาณิชย์รายงานให้กับ พล.อ. ประยุทธ์ ออกมาช่วยเหลือโดยด่วน เพราะข้าวนาปีที่กลุ่มเกษตรกร 3 อำเภอ จะเริ่ม เก็บเกี่ยวผลผลิตในอาทิตย์หน้านี้แล้ว แต่ราคาข้าวกลับตกต่ำเพราะกลไกทางการตลาด จากกลุ่มพ่อค้าคนกลาง กลุ่มโรงสีข้าว หากภายในวันที่ 31 ต.ค.ไม่รู้ผล กลุ่มเกษตรกรชาวนา 3 อำเภอจะปิดถนนสายบางมูล-ตะพานหิน ทันที เพราะกลุ่มเกษตรกรชาวนาผู้ปลูกข้าวนาปี หมดหนทาง

นายวีระศักดิ์ ผู้ว่าฯพิจิตร เสนอว่า การปิดถนนทำไม่ได้ แม้จะเรียกร้องให้ราคาข้าว ตันละ 10,000 บาท หากรัฐบาลไม่สามารถ ช่วยเหลือได้ ปิดถนนก็ไม่มีประโยชน์ ทางที่ดีน่าจะพบกันคนละครึ่งทางเรื่องการช่วยเหลือราคาข้าว จาก 5,000-6,000 บาท/ตัน เป็น 8,000 บาท/ตันก็ได้

นางมิ่งขวัญ ประธานโรงสี กล่าวว่า จะให้โรงสีรับซื้อข้าวในราคา 10,000 บาทไม่สามารถทำได้ เพราะผู้ค้าส่งออกรับซื้อข้าวในราคาที่ถูก ทางที่ดีทางรัฐบาลน่าจะไปคุยกับ ผู้ส่งออก ตอนนี้โควตาของรัฐบาลมีอยู่ในมือ 2 แสนตัน หากจะช่วยเหลือชาวนาจริง โดยเฉพาะในจ.พิจิตร ขอเป็นกรณีพิเศษได้ 50,000 ตัน ได้หรือไม่

โดย น.ส.วิบูลย์ลักษณ์รับปากว่าวันที่ 31 ต.ค.นี้ วันนี้มาเพื่อต้องหาแนวทางร่วมกับชาวนาและชมรมโรงสีข้าวพิจิตร โดยมีแนวทางสรุปคือจะเร่งหาโควตาจากกลุ่มผู้ส่งออกและกลุ่มตลาดที่ต้องการข้าวไทยมาซื้อโดยตรง 50,000 ตัน ในราคา 600 เหรียญ US ซึ่งจะทำให้ชาวนาพิจิตรขายข้าวได้ในราคา ที่สูงขึ้น กำหนดความชื้นข้าวเปลือก 15 เปอร์เซ็นต์อยู่ที่ตันละ 8,500 บาท อีกทั้งจะจัดโครงการส่งเสริมกระตุ้นการบริโภคข้าวภายในประเทศให้มากขึ้น จัดตลาดนัดข้าวสารและข้าวเปลือก และยกระดับราคาข้าวโดยการเร่งขยายตลาดในต่างประเทศ เพื่อเพิ่มความต้องการข้าวไทยมากขึ้น จะส่งผลให้ราคาตลาดขยับขึ้นตามไปด้วย

เกษตรอินทรีย์ยโสธรร่ำไห้

ที่สำนักงานธ.ก.ส.ยโสธร นางจุฬาพร กรธนทรัพย์ ประธานคณะกรรมการสหกรณ์เกษตรอินทรีย์แทนรัก จำกัด จังหวัดยโสธร พร้อมคณะกรรมการและสมาชิก เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนถึงนายลักษณ์ วจนนานวัช ผู้จัดการธ.ก.ส. ผ่านตัวแทน กรณีสหกรณ์เกษตรอินทรีย์ไม่มีเงินรับซื้อผลผลิตข้าวอินทรีย์ของสมาชิกฤดูกาลผลิตปี 59/60 ที่จะเก็บเกี่ยวพ.ย.นี้ เนื่องจาก ธ.ก.ส.ปฏิเสธการสนับสนุนสินเชื่อ

นางจุฬาพรกล่าวทั้งน้ำตาขณะประชุมชี้แจงขอความเห็นใจจากผู้บริหาร ธ.ก.ส. ก่อนให้สัมภาษณ์ว่า สหกรณ์เกษตรอินทรีย์แทนรัก เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มเกษตรกรที่ผลิตข้าวอินทรีย์มาตรฐานสากล ที่ต้องการขยายพื้นที่การผลิตเกษตรอินทรีย์เพื่อสนองต่อนโยบายของ คสช. รัฐบาล และนโยบายของจังหวัดยโสธร ตามที่พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรฯ และนายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม ผู้ว่าฯยโสธร จัดทำเอ็มโอยู ในการสนับสนุนการผลิตข้าวอินทรีย์ โดยกำหนดให้ยโสธรเป็นเมืองต้นแบบเกษตรอินทรีย์ของประเทศ

นางจุฬาพรกล่าวว่า สหกรณ์ประสบปัญหาในการดำเนินการรับซื้อผลิตปี 58/59 จำนวน 2,000 ตัน สมาชิกต้องนำข้าวไปขายในราคาข้าวทั่วไปทำให้สมาชิกเสียหายเป็น กว่า 16 ล้านบาท จากการปฏิเสธสินเชื่อ สหกรณ์กำลังจะประสบปัญหาการรับซื้อผลิตผลข้าวอินทรีย์ฤดูกาลผลิตใหม่ 59/60 ที่ทำข้อตกลงซื้อขายข้าวอินทรีย์ล่วงหน้า ไว้แล้ว 1,000 ราย ปริมาณผลผลิต 5,000 ตัน เงินกว่า 100 ล้านบาท จึงต้องการให้ คสช.และรัฐบาลลงมาแก้ปัญหาโดยเร่งด่วน

ม.เกษตรฯเปิดพื้นที่ช่วยขาย

เวลา 13.00 น. ที่อาคารปฏิบัติการ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน จัดประชุมเตรียมความพร้อมหัวข้อ “ลูกชาวนาซับน้ำตาพ่อแม่” ในโครงการ ลูกชาวนาได้เวลาช่วยพ่อ

นายเดชรัต สุขกำเนิด หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตร กล่าวว่า โครงการดังกล่าวจะเปิดโอกาสให้นิสิตที่พ่อแม่มีผลผลิตข้าว มาช่วยกันขายข้าวให้คุณพ่อคุณแม่ โดยมหาวิทยาลัยทำหน้าที่สนับสนุนและเปิดพื้นที่ให้ เนื่องจากราคาข้าวที่ลดลงเกิดจากราคาในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลงในช่วงครึ่งปีหลัง ประกอบกับภัยแล้งที่เกิดขึ้นปีนี้ทำให้ชาวนาภาคกลางต้องทำนาล่าช้า ผลผลิตจึงจะออกมาชนกับภาคอีสานในช่วงพ.ย. ทำให้ราคาข้าวลดลงไปอีก ดังนั้นแทนที่ต้องขายในตลาดในราคาที่ไม่เอื้ออำนวยก็สีและแปรรูปเพื่อขายเอง ตั้งเป้าข้าวหอมมะลิให้ได้ราคาประมาณ 15,000 บาท/ตัน ส่วนข้าวขาวอยากให้ได้ประมาณ 8,000 บาท

นายเดชรัตกล่าวว่า ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะดำเนินโครงการลักษณะเดียวกันคู่ขนานไปด้วย ทำให้เป็นจุดกระจายพื้นที่ขายได้ โครงการนี้ไม่ได้มีแบรนด์เฉพาะแต่เป็นแนวความคิดที่ให้ ลูกชาวนาช่วยระบายข้าวให้พ่อแม่ ดังนั้น ทุกสถาบันจึงทำโครงการลักษณะนี้ได้ ซึ่งต้องการให้ทำในระยะยาว ไม่ใช่การดำเนิน การเฉพาะกิจ ขณะนี้เริ่มมีคนประสานเข้ามาซื้อข้าวแล้ว ทางมหาวิทยาลัยไม่ได้มีข้าวในมือแต่จะช่วยทำหน้าที่ถามนิสิตว่าใครมีความพร้อมรับออร์เดอร์เพื่อจัดส่ง

นายเดชรัตกล่าวว่า ส่วนที่มีความกังวลเรื่องการขายข้าวผ่านสื่อโซเชี่ยลมีเดีย รองปลัดกระทรวงยุติธรรมชี้แจงแล้วว่าการขายข้าวผ่าน โซเชี่ยลมีเดีย ทั้งเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม สามารถทำได้ เพราะไม่ใช่การขายตรงไม่มีเอเยนต์ แต่เป็นการขายข้าวให้พ่อแม่ แต่สิ่งที่ต้องทำให้ถูกต้องคือเรื่องของฉลากข้าวสารบรรจุถุงที่ต้องระบุชนิดของข้าว รวมถึงระบุวิธีการหุงต้ม ซึ่งมีการกำหนดมาตั้งแต่ปี 2543 แล้ว

“วิษณุ”ชี้คำขอ”ปู”ไม่เข้าเงื่อนไข

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีทนายความของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ส่งหนังสือถึงรัฐบาลขอให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครองเรียกค่าเสียหายโครงการรับจำนำข้าวกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท ว่า ตนไม่ได้รับหนังสือโดยตรง แต่คนอื่นได้รับและส่งมาให้ทราบแล้ว ถือว่าตนรับทราบ ส่วนจะพิจารณาตามคำร้องขอที่เรียกร้องมาได้หรือไม่ขอพิจารณาอีกครั้ง

เมื่อถามว่ารัฐบาลสามารถพิจารณาเรื่องนี้ได้หรือไม่ หรือการเพิกถอนคำสั่งทางปกครองต้องไปถึงศาลปกครองเพียงอย่างเดียว นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ว่าใครก็ตามเมื่อถูกคำสั่งทางปกครองฝ่ายผู้ได้รับผลกระทบสามารถดำเนินการได้ 3 อย่างคือ 1.ขออุทธรณ์ 2.ขอทุเลาการบังคับคดี 3.การใช้สิทธิร้องทางศาล วิธีที่ 1 เรื่องการขออุทธรณ์นั้นกฎหมายเขียนไว้ว่ากรณีเป็นคำสั่งของรัฐมนตรีไม่สามารถใช้สิทธิอุทธรณ์เรื่องนี้ได้ ก็ไปใช้สิทธิทางที่ 2 และ 3 แทน ซึ่งกรณีนี้เป็นการออกคำสั่งโดยรัฐมนตรี ส่วนทางที่ 2 คือการขอทุเลาการบังคับคดีนั้น เขาสามารถขอเข้ามาได้แต่จะให้หรือไม่ก็แล้วแต่ผู้ออกคำสั่งจะพิจารณา การขอทุเลาหมายถึงการขออย่าเพิ่งยึดทรัพย์ หากเหตุผลเข้าทางก็อาจทุเลาไว้ก่อนได้แต่หากเหตุผลไม่เข้าทางก็ไม่ทุเลา แต่ผู้ร้องยังมีสิทธิทางที่ 3 คือร้องต่อศาลให้ศาลเพิกถอนคำสั่งทางปกครองและ ขอทุเลาการยึดทรัพย์ไปด้วย ถ้าศาลยอมก็เป็นการทุเลาโดยศาล

“ที่เขาส่งมาผมดูแล้วเขาระบุขอให้พิจารณาใหม่ ซึ่งมันไม่อยู่ใน 3 ข้อนี้ แต่อยู่ในข้อที่ 4 คือขอให้ตั้งคณะกรรมการใหม่ รื้อใหม่ ซึ่งก็ยากที่จะไปดำเนินการแบบนั้น” นายวิษณุกล่าว เมื่อถามว่าที่พึ่งสุดท้ายของน.ส.ยิ่งลักษณ์ คือต้องไปที่ศาลปกครอง นายวิษณุกล่าวว่า “ใช่ ต้องไปว่ากันที่ศาล”

พท.ย้ำยื่นศาลขอทุเลาคำสั่งพ.ย.

นายนพดล หลาวทอง ทนายความน.ส. ยิ่งลักษณ์ กล่าวกรณีนายวิษณุระบุไม่สามารถอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองชดใช้ค่าเสียหายโครงการรับจำนำข้าวต่อนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ได้ เนื่องจากผู้ออก คำสั่งเป็นคนเดียวกันว่า นายวิษณุพูดถูกเพราะ กรณีนี้ไม่ได้เป็นการอุทธรณ์คำสั่ง เราขอให้ทบทวนการออกคำสั่งอีกครั้ง ส่วนที่รัฐบาลออกมาระบุชัดเจนว่าไม่เข้าเงื่อนไขการโต้แย้งและไม่มีเหตุผลที่รัฐบาลจะดำเนินการตามคำขอนั้น เป็นความเห็นของฝ่ายรัฐบาล

“เราได้ส่งหนังสือถึง 4 ท่านที่เกี่ยวกับการออกคำสั่งทางปกครอง คือปลัดกระทรวงการคลัง รมว.คลัง รมช.คลัง และนายกฯ ขอให้ทบทวนคำสั่ง เป็นการขอใช้สิทธิตามที่เห็นสมควร ผู้เกี่ยวข้องจะเพิกถอนคำสั่งหรือไม่ก็สุดแท้แต่พิจารณา ถ้าผู้เกี่ยวข้องเมินเฉยกับคำร้องดังกล่าวสุดท้ายเราก็ต้องขอพึ่งความเป็นธรรมจากศาลปกครอง แต่ก่อนนำเรื่องไปสู่ศาลปกครองอยากให้ผู้เกี่ยวข้องทบทวนอีกครั้งเท่านั้น” นายนพดลกล่าวและว่า ส่วนความคืบหน้าการฟ้องร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้ออกคำสั่งทุเลาคำสั่งทางละเมิดนั้น กำลังเตรียมข้อมูลและจะพยายามทำให้เร็วที่สุด ถ้าเป็นไปได้จะส่งคำร้องถึงศาลปกครองภายใน พ.ย. เพื่อให้เข้าสู่กระบวนการของศาล ให้เดินไปตามครรลองและต้องทำให้เสร็จภายในกรอบ 90 วันนับแต่วันที่ออกคำสั่ง

กรธ.เล็งเปิดชื่อผู้บริจาคพรรค

นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงการทำงาน ของ กรธ.ว่า ขณะนี้กรธ.กำลังเร่งร่างพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ให้เสร็จ คาดว่าจะใช้เวลาอีกไม่เกิน 2 สัปดาห์ ขณะนี้อยู่ในการพิจารณาเรื่องเงินทุนของพรรคการเมืองกรธ.พยายามทำให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมกับพรรคมากขึ้น โดยแนวคิดเรื่องเงินบริจาคนั้น กรธ.อยากให้เปิดเผยรายชื่อผู้บริจาคเพื่อความโปร่งใสที่มาของเงินและไม่ถูกครอบงำโดยนายทุน

นายอุดมกล่าวว่า นอกจากนี้ยังต้องหามาตรการป้องกัน คือการทำงานเชิงรุก อาจให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทำงาน เชิงรุก สำรวจการบริจาคเงินเองโดยไม่ต้องรอรายงานของพรรคการเมืองที่จะส่งมาให้ วิธีการแบบนี้น่าจะทำให้เกิดความโปร่งใสในการบริจาคเงินมากขึ้น กรธ.จะรอการรับฟังความคิดเห็นที่กรธ. จะจัดขึ้นพ.ย.นี้ เพื่อจะนำมาประกอบการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ ด้วย

พท.หนุนเปิดชื่อนายทุนพรรค

นายสามารถ แก้วมีชัย อดีตส.ส.เชียงราย คณะทำงานติดตามการร่างรัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทย กล่าวกรณีกรธ.มีแนวคิดบัญญัติ พ.ร.บ.พรรคการเมือง ให้เปิดรายชื่อคนที่บริจาคเงินให้พรรคมากกว่า 1 แสนบาทขึ้นไป ว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้บัญญัติไว้ชัดเจนว่าการบริหารพรรคการเมืองต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ เรื่องทุนเป็นหนึ่งเรื่องที่ต้องการทำให้โปร่งใสซึ่งสามารถเขียนได้ ไม่มีปัญหา เป็นเรื่องที่ตรงไปตรงมา เป็นเรื่องดีที่จะทำให้รู้ว่าพรรคไหนมีใครสนับสนุนบ้าง พรรคเพื่อไทยไม่มีปัญหาเรื่องนี้

นายสามารถกล่าวว่า อย่างบางเรื่องที่ห่วงว่าคนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคจะสนับสนุนเงินนั้นก็มีการเขียนไว้หมดแล้วว่าห้ามมิให้พรรคถูกครอบงำ หรือชี้นำจากผู้ที่ไม่เป็นสมาชิกพรรค ซึ่งรัฐธรรมนูญเขียนวางหลักไว้หมด ตนมองว่าดีเขียนให้ชัดเจน ทุกพรรคต้องปฏิบัติตามนั้น ใครอยากสนับสนุนพรรคใด ก็ห้ามเป็นอีแอบอีกต่อไป บริษัทใหญ่ๆ ทั้งหลายที่สนับสนุนพรรคนั้นพรรคนี้ เพื่อประโยชน์ในทางการค้าทางธุรกิจ ถ้าจะบริจาคคุณก็ต้องเปิดหน้าออกมา ซึ่งดีเหมือนกัน

เขียนระวัง-ตัดสิทธิแกนนำม็อบ

นายสามารถกล่าวว่า ส่วนกรณีคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เสนอแนวคิดเรื่องการตัดสิทธินักการเมืองที่อยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวกลุ่มม็อบต่างๆ ตลอดชีวิตนั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนต้องเขียนให้ดี อยู่ที่การพิสูจน์ว่านักการเมืองผู้นั้นสนับสนุนจริงหรือไม่ อย่างกรณีชาวนาขายข้าวไม่ได้ ชาวบ้านเดือดร้อน ผู้แทนฯ ก็ต้องไปรับฟังความเห็น อาจเข้าร่วมประชุมแต่ต้นเพื่อเสนอแนวทางแก้ไขต่อรัฐบาล แต่สุดท้ายพอชาวบ้านเคลื่อนไหวกลายเป็นผู้แทนฯ คนนั้นปลุกม็อบหรือไม่ อย่าเขียนแล้วทำให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติจะทำให้การทำงานของผู้แทนฯ ลำบาก อีกทั้งใครจะเป็นคนตัดสินเรื่องนี้และใช้หลักเกณฑ์ใดมาตัดสิน ถามว่าคนที่เสนอแนวคิดดังกล่าวเคยคลุกคลีกับชาวบ้านหรือไม่ ต้องคิดให้ดี คนเขียนต้องรอบคอบรัดกุม เขียนแล้วต้องไม่มีปัญหาเพราะหลักกฎหมายเป็นกติกา ของบ้านเมือง บ้านเมืองไหนที่มีปัญหามากๆ อาจเพราะกติการก และกติกาที่เขียนออกมาจำนวนมาก บางครั้งก็เป็นปัญหาเสียเอง

ปชป.ยุอายัดเงินนายทุนซื้อเสียง

นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงข้อเสนอของ สมาชิกสปท. ให้กกต.มีอำนาจอายัดเงินกลุ่มทุนที่ซื้อเสียงว่า ปัญหาการเมืองไทยที่วิกฤตอยู่ตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมาคือการใช้อำนาจเงินและการใช้อำนาจรัฐเพื่อประโยชน์ของตน ดังนั้นกระบวนการที่ทำลายการซื้อเสียงหรือ การใช้อำนาจรัฐไปในทางที่ไม่ถูกต้องนั้นต้องถือว่าเป็นสิ่งที่ดี ตนเห็นด้วยและขอสนับสนุน เพราะถือเป็นกระบวนการที่ใช้ยาแรงโดยอำนาจรัฐ เชื่อว่าจะสามารถแก้ปัญหาการซื้อเสียงได้

นายวิรัตน์กล่าวว่า ส่วนที่ระบุว่าหากพบนักการเมืองอยู่เบื้องหลังม็อบอาจถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดชีวิตนั้น ตนเห็นว่าการมีความเห็นต่างกับรัฐในหลักประชาธิปไตยมีทั้งเสียงข้างมากและเสียงข้างน้อย แปลว่าเสียงข้างมากบริหารแต่ต้องฟังเสียงข้างน้อย เพราะฉะนั้นการออกกฎใดๆ โดยปิดกั้นเสียงข้างน้อยต้องพึงระมัดระวังเพราะจะไม่เป็นประชาธิปไต

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน