เรียกว่าเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันในสังคมอยู่ขณะนี้ สำหรับกรณีของ หมออ๋อง หรือ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 โพสต์ภาพคราฟต์เบียร์

แล้ว นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องนี้ต้องถามกรมควบคุมโรค เพราะเป็นผู้ถือกฎหมาย ดูแล พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551

พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 คือ ?

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพ ครอบครัว อุบัติเหตุและอาชญากรรม ซึ่งมีผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ จึงได้เกิด พ.ร.บ. ควบคุมนี้ขึ้น

แล้วมาตรา 32 คืออะไร ?

กฎหมายห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ใน พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 นี้ บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือ แสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม”

“การโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ใด ๆ โดยผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภทให้กระทำได้เฉพาะการให้ข้อมูลข่าวสารและความรู้เชิงสร้างสรรค์สังคม โดยไม่มีการปรากฏภาพของสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น”

“เว้นแต่เป็นการปรากฏของภาพสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสัญลักษณ์ของบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นเท่านั้น ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวงบทบัญญัติในวรรคหนึ่งวรรคสอง มิให้ใช้บังคับกับการโฆษณาที่มีต้นกำเนิดนอกราชอาณาจักร

ผู้ที่ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่ เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากต้องระวางโทษตามวรรคหนึ่งแล้ว ผู้ฝ่าฝืนยังต้องระวางโทษปรับอีกวันละไม่เกิน 50,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง

ถือว่ามีบทลงโทษที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบเท่ากับความผิดเมาแล้วขับเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย มีอัตราค่าปรับ 60,000 – 200,000 บาท

แล้ว กรมควบคุมโรค เกี่ยวอะไร ?

กรมควบคุมโรค สังกัดกระทรวงสาธารณสุข มีหน้าที่เกี่ยวกับการพัฒนาวิชาการเพื่อการควบคุมโรคและภัยที่คุกคามสุขภาพ

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็จัดเป็นหนึ่งในภัยคุกคามสุขภาพของประชาชน นั่นทำให้กรมควบคุมโรคเป็นผู้รับผิดชอบดูแลถือกฎหมายใน พ.ร.บ. นี้

ตามมาตรา ๒๔ ได้กำหนดให้จัดตั้ง “สํานักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” ขึ้นใน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

นอกจากนี้ กรมควบคุมโรค ยังดูแลกฎหมาย พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558, พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 และ พ.ร.บ.ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพฯ 2562 อีกด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน