คำ “โล้สำเภา” นี้เป็นความเปรียบที่ใช้ในวรรณคดีไทยกล่าวถึงบทอัศจรรย์ หรือบทสังวาส คือบทเข้าพระเข้านางนั่นเอง คนไทยแต่โบราณมีศิลปะในการใช้ภาษาเล่าบทร่วมรักได้อย่างอัศจรรย์ใจ โดยใช้ธรรมชาติและสิ่งรอบกายเปรียบเทียบไม่กล่าวตรงๆ ให้ดูหยาบจนเก้อไป

การใช้ความเปรียบ “โล้สำเภา” หรือ “สำเภา” นี้ ปรากฏในวรรณคดีเก่าหลายเรื่อง ทั้งนี้ในงานวิจัยเรื่อง เพศในเพลงพื้นบ้านของ ผศ.บัวผัน สุพรรณยศ ก็ได้กล่าวให้เห็นแนวคิดในการเปรียบอวัยวะเพศชายหญิงเป็นสิ่งต่างๆ ไว้ว่า ในการเปรียบเรื่องเกี่ยวกับเพศนั้น สิ่งที่แสดงความเป็นเพศหญิงมักเป็นสิ่งที่อยู่กับที่ เช่น ท่าน้ำ ถ้ำ และสิ่งที่แสดงความเป็นชายนั้น มักเป็นสิ่งที่มักเคลื่อนไหว หรือเคลื่อนที่ เช่น เรือ แมลง ซึ่งในบริบทนี้ก็คงเช่นเดียวกัน

ในเสภาขุนช้างขุนแผน ในตอนที่เป็นฉากคืนแต่งงานของพลายแก้วกับนางบัวคลี่ ซึ่งพลายแก้วเข้ามานัวเนีย แต่นางบัวคลี่ขัดเขินตามประสาคนไม่เคยร่วมประเวณีกับใคร กวีพรรณาว่า

“เกิดพยับพยุห์พัดอัศจรรย์

สลาตันเป็นระลอกกระฉอกฉาน

ทะเลลึกดังจะล่มด้วยลมกาฬ

กระทบดานกระแทกดังกำลังแรง

สำเภาจีนเจียนจมด้วยลมซัด

สลุบลัดเลียบบังเข้าฝั่งแฝง

ไหหลำแล่นตัดแหลมแคมตะแคง

ตลบตะแลงเลาะเลียมมาตามเลา

ถึงปากน้ำแล่นส่งเข้าตรงร่อง

ให้ขัดข้องแข็งขืนไม่ใคร่เข้า

ด้วยร่องน้อยน้ำคับอับสำเภา

ขึ้นติดตั้งหลังเต่าอยู่โตงเตง

พอกำลังลมจัดพัดกระโชก

กระแทกโคกกระท้อนโขดเรือโดดเหยง

เข้าครึ่งลำหายแคลงไม่โคลงเคลง

จุ้นจู๊เกรงเรือหักค่อยยักย้าย

ด้วยคลองน้อยเรือถนัดจึงขัดขึง

เข้าติดตรึงครึ่งลำระส่ำระสาย

พอชักใบขึ้นกบรอกลมตอกท้าย

ก็มิดหายเข้าไปทั้งลำพอน้ำมา

พอฝนลงลมถอยเรือลอยลำ

ก็ตามน้ำแล่นล่องออกจากท่า

ทั้งสองเสร็จสมชมชื่นดั่งจินดา

ก็แนบหน้าผาศุกมาทุกวัน”

หรือในตอนที่ขุนแผนขอให้นางสายทองเป็นแม่สื่อ นางสายทองเจอมนตราของขุนแผน แต่แล้วกลับ “สำเภาล่ม”

“พลางเป่าปัถมังกระทั่งทรวง

สายทองง่วงงงงวยระทวยนิ่ง

ทำตาปริบปรอยม่อยประวิง

เจ้าพลายอิงแอบทับลงกับทรวง

ค่อยขยับจับเขยื้อนแต่น้อยน้อย

ฝนปรอยฟ้าลั่นสนั่นเปรี้ยง

ลมพัดซัดคลื่นสำเภาเอียง

ค่อยหลีกเลี่ยงแล่นเลียบตลิ่งมา

พายุหนักชักใบได้ครึ่งรอก

แต่เกลือกกลอกกลับกลิ้งอยู่หนักหนา

ทอดสมอรอท้ายเป็นหลายครา

เภตราหยุดแล่นเป็นคราวคราว

สมพาสพิมดุจริมแม่น้ำตื้น

ไม่มีคลื่นแตระลอกกระฉอกฉาว

ปะสายทองดุจต้องพายุว่าว

พอออกอ่าวก็พอจมล่มลงไป”

นอกเหนือจากเรื่องความเปรียบเกี่ยวกับเรือแล้ว ยังน่าสนใจในมิติการแสดงละครแบบโบราณ ในการตีท่าจากบทอัศจรรย์เหล่านี้เมื่อแสดงบนเวที ซึ่งรอติดตามในงานวิจัยของ อาจารย์รัตนพล ชื่นค้า งานวิจัยเรื่องตำรานรลักษณ์หรือโหงวเฮ้งกับการสังวาสของอาจารย์ ดร.ชนกพร พัวพัฒนกุล

และงานวิจัยของผมกับ อาจารย์ บุญเตือน ศรีวรพจน์ เรื่องตำรากามสูตรแบบไทย ซึ่งต่อยอดจากคัมภีร์ผูกนิพพานโลกีย์ว่า คุณพี่ขุนจะ “โล้สำเภา” แบบใด โดยมีครู คือ ศาสตราจารย์สุกัญญา สุจฉายา เป็นผู้เสนอบทสังเคราะห์

 

ที่มา ศิลปวัฒนธรรม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน