รู้หรือไม่ “ปลาการ์ตูน” สามารถเปลี่ยนเพศตัวเอง จาก ‘เพศผู้’ เป็น ‘เพศเมีย’ ได้ เพื่อขึ้นเป็นจ่าฝูง แต่จะไม่สามารถกลับมาเป็นเพศเดิมได้อีก

กลับมาเป็นไวรัลอีกครั้ง สำหรับ “ปลาการ์ตูน” ที่โด่งดังเป็นที่รู้จักทั่วบ้านทั่วเมืองจากภาพยนต์การ์ตูนเรื่อง Finding Nemo หรือ ปลาเล็กหัวใจโต๊โต ซึ่งมีปลาการ์ตูนชื่อ “เจ้านีโม” เป็นตัวเอกของเรื่องราวผจญภัยทั้งหมด

วันนี้ ข่าวสด ออนไลน์ จะพาทุกคนมาทำความรู้จัก “ปลาการ์ตูน” ให้มากยิ่งขึ้น กับความสามารถสุดวิเศษ “ปลาการ์ตูน” สามารถเปลี่ยนเพศตัวเอง จาก ‘เพศผู้’ เป็น ‘เพศเมีย’ ได้ เพื่อขึ้นเป็นจ่าฝูง

ปลาการ์ตูน เป็นปลากระดูกแข็งขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ในทะเล จัดอยู่ในวงศ์ย่อย Amphiprioninae ในวงศ์ปลาสลิดหิน (Pomacentridae)

ภาพประกอบ

ลักษณะ ปลาการ์ตูน

เป็นปลาที่มีสีสันสวยงาม โดยทั่วไปประกอบด้วยสีส้ม, แดง, ดำ, เหลือง และมีสีขาวผ่านกลางลำตัว 1-3 แถบ อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นชนิดเดียวกัน ก็จะมีสีแตกต่างกันเล็กน้อยเสมอ ซึ่งความแตกต่างนี้ทำให้จดจำคู่ได้

นอกจากนั้น แหล่งที่อยู่อาศัยที่แตกต่างกันทำให้เกิดการแปรผันด้วย ปลาการ์ตูนอยู่กันเป็นครอบครัว กินแพลงก์ตอนเป็นอาหาร เป็นปลาที่หวงถิ่นมาก มีเขตที่อยู่ของตนเอง

ภาพประกอบ

ความสัมพันธ์ ปลาการ์ตูน กับ ดอกไม้ทะเล

ปลาการ์ตูน เป็นปลาที่มีลักษณะเฉพาะ คือ จะอาศัยอยู่ภายในดอกไม้ทะเลซึ่งมีเข็มพิษ แต่ไม่เป็นอันตรายกับปลาการ์ตูน เพื่อป้องกันตัว เป็นพฤติกรรมที่สัตว์ทั้งสองพึ่งพากัน

ดอกไม้ทะเลมีหนวดยาวมากมายพลิ้วไหวไปตามกระแสน้ำ ส่วนร่างยึดติดกับโขดหินหรือปะการังเอาไว้ หนวดที่อ่อนนุ่มเป็นอวัยวะสำคัญที่ใช้หาอาหาร บริเวณปลายหนวดเต็มไปด้วยเข็มพิษจำนวนมหาศาล

เมื่อมีปลาว่ายหลงผ่านมา ดอกไม้ทะเลจะใช้หนวดพิษทิ่มแทงเหยื่อให้เป็นอัมพาต แล้วใช้หนวดจับเข้าปาก จึงไม่มีปลาอื่นกล้าว่ายเข้าใกล้ดอกไม้ทะเล ยกเว้นเพียงปลาการ์ตูน ที่เที่ยวว่ายหากินสาหร่ายเล็ก ๆ อยู่รอบ ๆ ครั้นมีศัตรูมารบกวน มันจะรีบว่ายเข้าไปหลบซ่อนอยู่ในกอดอกไม้ทะเล

นอกจากนี้แล้ว จากการศึกษาล่าสุดพบว่า ในเวลากลางคืนที่ปริมาณออกซิเจนในน้ำลดน้อยลง ปลาการ์ตูนจะโบกครีบไปมาเพื่อให้เกิดกระแสน้ำไหลผ่านดอกไม้ทะเลเพื่อให้ออกซิเจนอีกด้วย

อันที่จริงแล้วปลาการ์ตูนก็ได้รับพิษเช่นกัน แต่รู้จักปรับตัวโดยใช้วิธีว่ายเข้าไปสัมผัสกับดอกไม้ทะเลทีละน้อย ๆ แล้วถอยออกมา ทำอยู่จนกระทั่งร่างกายสร้างเมือกขึ้นมาปกคลุมตัว ช่วยป้องกันเข็มพิษดอกไม้ทะเลได้ในที่สุด

แต่ถ้าปลาการ์ตูนปราศจากเมือกอันนี้เมื่อใด ปลาก็จะถูกเข็มพิษของดอกไม้ทะเลทำร้าย จนตายในที่สุด

ภาพประกอบ

พฤติกรรมการสืบพันธุ์ ของ ปลาการ์ตูน

ปลาการ์ตูนออกลูกเป็นไข่และสามารถเปลี่ยนเพศได้ ปลาการ์ตูนจะเปลี่ยนเพศเมื่อสิ่งแวดล้อมกำหนดบทบาทให้

โดยในระยะแรกเริ่มหลังจากที่ฟักออกจากไข่ยังไม่สามารถกำหนดได้ว่าเป็นเพศใด จนกว่าจะเป็นตัวเต็มวัยจึงจะปรากฏเป็นปลาเพศผู้ และในปลารุ่นเดียวกันที่มีขนาดใหญ่ที่สุดจะต้องเปลี่ยนแปลงเป็นปลาเพศเมีย

โดยในสังคมของปลาการ์ตูนกลุ่มหนึ่ง ๆ จะมีปลาเพศเมียเพียงตัวเดียวเท่านั้น ตัวใหญ่ที่สุดในฝูง สีสันไม่สดใสมากนัก พฤติกรรมก้าวร้าว ส่วนปลาเพศผู้มีขนาดเล็กกว่า สีสันสวยงามกว่า

จากปลาเพศผู้ เมื่อมีสิ่งเร้าจากภายนอกและภายในเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ เทเลนฟาลอน (Telenephalon) จะส่งสัญญาณมาที่ทาลามัส (Thalamus) และไฮโปธาลามัส (Hypothalamus) ส่งคำสั่งไปยังต่อมใต้สมองให้หลั่งฮอร์โมนเฉพาะของเพศผู้ อวัยวะเป้าหมายส่วนที่จะพัฒนาจนสามารถทำงานได้คืออัณฑะผลิตสเปิร์ม

ส่วนตัวที่ใหญ่ที่สุดจะมีพัฒนาการตรงกันข้าม ไฮโปธาลามัสจะส่งคำสั่งไปยังต่อมใต้สมองให้หลั่งฮอร์โมนเฉพาะของเพศเมีย อวัยวะเป้าหมายคือรังไข่ ผลิตไข่

ถ้าเพศเมียตายไป ปลาการ์ตูนเพศผู้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด แข็งแกร่งที่สุด จะเกิดการเปลี่ยนแปลงเพศทดแทน ด้วยกลไกแบบหลังภายใน 4 สัปดาห์ โดยจะเพิ่มขนาดอย่างรวดเร็ว พร้อมสีสันสวยงามน้อยลง

และจากการศึกษาพบว่า ปลาการ์ตูนมีระบบชนชั้นภายในฝูง โดยตำแหน่งหัวหน้าฝูงจะเป็น ปลาเพศเมียตัวที่ใหญ่ที่สุด และลดหลั่นกันไปจนถึงตัวที่มีขนาดเล็กที่สุด

อีกทั้งยังพบด้วยว่า แม้ว่า ปลาการ์ตูน จะถือกำเนิดห่างไกลจากที่กำเนิดเท่าใด เมื่อเจริญเติบโตขึ้นหรือถึงฤดูผสมพันธุ์วางไข่ จะว่ายฝ่ากระแสน้ำกลับมาวางไข่ยังบริเวณเดิมที่กำเนิด โดยอาศัยการดมกลิ่นจากกลิ่นของพืชที่อยู่บริเวณนั้น ซึ่งปลาจะมีความจดจำลักษณะเฉพาะของกลิ่นได้

อ่านเพิ่มเติม : โตแล้วเปลี่ยนเพศเองได้ นักวิจัยพบพฤติกรรมปลาสีสวย ตัวผู้ตัวเมียปรับฉับไว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน