WGP#1 ทัวร์นาเมนต์กีฬาเจ็ตสกีสัญชาติไทย ที่เติบโตเป็นเจ้าของลิขสิทธ์ “สนามเจ็ตสกีเก็บคะแนนชิงแชมป์โลก” แผลงฤทธิ์ เดินหน้าโรดโชว์ทัวร์นาเมนต์กีฬาทางน้ำของไทย ใน 3 เมืองใหญ่ ได้แก่ ญี่ปุ่น โปแลนด์ สหรัฐฯ ก่อนเตรียมขยายตัวอีกปีหน้า โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการพลิกบทบาทกีฬาไทย ตอกย้ำภาพการเป็นองค์กรจัดกีฬาความเร็วทางน้ำ อันดับที่ 1 ของโลก ทั้งนี้ ล่าสุดมีประเทศสมาชิก 55 ชาติแล้ว ด้านผู้อำนวยการทัวร์นาเมนต์ฯ เดรค-ปริเขต เผยเน้นเติบโตสร้างผู้ชม 250 ล้านคนต่อปี และนำชาวต่างชาติเข้ามาสนามชิงชนะเลิศเมืองไทย ชี้การทำงานกีฬา ด้านทรัพย์สินทางปัญญา จำเป็นอย่างยิ่ง แต่ก็ต้องพบอุปสรรค์ต่างๆมากมาย

นายปริเขต สืบสหการ ผู้อำนวยการทัวร์นาเมนต์เจ็ตสกีโลก WGP#1 เปิดเผยว่า “ล่าสุด การพัฒนาการเติบโตของทัวร์นาเมนต์กีฬาเจ็ตสกี WGP#1 ซึ่งเป็นโครงการพัฒนากีฬาไทย ด้านทรัพย์สินทางปัญญา กำลังมีผลตอบรับที่ดีอย่างยิ่ง พร้อมเติบโตต่อไปอีก โดยเฉพาะในบทบาทที่องค์กร WGP#1 ไทย ที่ขึ้นเป็นองค์กรผู้นำกีฬาโลกแล้วนั้น

ปีนี้พร้อมแล้วที่จะโรดโชว์ เริ่มที่จัดชิงแชมป์แห่งเอเชีย ที่เมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีการขอซื้อลิขสิทธ์การเป็นเจ้าภาพ ในระหว่างวันที่ 6-9 มิถุนายนนี้ เป็นงานระดับทวีปที่ขยายตัวขึ้นมาใหม่ ตอนนี้ นักกีฬาสมัครแข่งเกินเป้าแล้ว เชื่อมั่นว่าจะเป็นเกมส์ที่ยอดเยี่ยม ต่อด้วยสนามเก็บคะแนนชิงแชมป์โลก World Series บนทวีปยุโรป ที่ประเทศโปแลนด์ 24-28 กรกฎาคม 2567 และสนามเก็บคะแนนชิงแชมป์โลก บนทวีปอเมริกา ที่สหรัฐฯ วันที่ 9-13 ตุลาคม 2567 ก่อนที่จะต้องเข้ามาชิงชนะเลิศในรายการเวิลด์คัพ วันที่ 11-15 ธันวาคม 2567 ณ เมืองพัทยา ประเทศไทย

สิ่งที่มีความหมายมาก ได้แก่ การพัฒนาทัวร์นาเมนต์กีฬาไทย กระทั่งสามารถสร้างเครือข่ายไปกว่า 55 ประเทศชั้นนำที่มีชื่อเสียงทั่วโลก นักกีฬาได้ให้การยอมรับ เชื่อถือสถานะการเป็นองค์กรผู้นำกีฬาโลกของไทย ขณะนี้ WGP#1 จึงมีภาพของการเป็นองค์กรจัดกีฬาความเร็วทางน้ำ อันดับที่ 1 ของโลก ในประเภทกีฬาวอเตอร์เจ็ต

บันไดความสำเร็จที่ตามมาคือ ด้านสื่อ สถานีโทรทัศน์มาตรฐานทั่วโลกกว่า 70 ช่อง ออกอากาศการแข่งขันถ่ายทอด สดผ่านดาวเทียม และไฮไลต์ ทำให้ WGP#1 มียอดผู้ชมกว่า 60 ล้านคนต่อสนาม หรือประมาณ 250 ล้านคนต่อปี ซึ่งแม้ว่าคอนเทนต์กีฬานี้ ยังไม่ได้ดังเป็นกีฬาเกรด A มีรายได้ค่าลิขสิทธิ์ไม่มาก แต่ก็เป็นคอนเทนต์ที่สามารถเข้าถึงผู้ชมจำนวนสูงอย่างน่าพอใจ WGP#1 จึงต้องมุ่งการพัฒนาด้านสื่อมาก เป็นก้าวสำคัญที่จะสร้างความสำเร็จยิ่งขึ้น

ส่วนปัญหาอุปสรรคที่พบบ่อย จะเป็นด้านวิสัยทัศน์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้บริหารกีฬาบางท่านถามว่า ไทยจะขึ้นไปเป็นผู้นำโลกไปทำไม ทำไมไม่เป็นผู้ตามต่างชาติ เพราะง่ายและไม่ต้องเหนื่อย เราก็นิ่งไป, หรือเรื่องโครงสร้างองค์กร กีฬา เช่น การกีฬาแห่งประเทศไทย ไม่ได้วางรากฐานเพื่อรองรับ หรือผลักดัน ให้กีฬาไทยตั้งสหพันธ์กีฬาเอเชีย หรือระดับนานาชาติ ซึ่งก็แปลว่า ไทยไม่ได้มีนโยบายที่จะเป็นผู้นำกีฬาอยู่แล้ว มีโครงสร้างแค่ทำตามนโยบายฝรั่งเท่านั้น

บางท่านอยากพัฒนากีฬาไทยไประดับโลก แต่ไม่เข้าใจว่าต้องใช้สื่อและการพัฒนาคอนเทนต์แข่งขันในตลาดกีฬาโลก เพื่อทัวร์นาเมนต์กีฬาไทย จะสร้างเครดิตแข่งขันกับต่างชาติได้, ส่วนผู้บริหารกีฬาไม่น้อยที่อยากได้ผลงานเร็วๆ ก็จะมองข้ามทัวร์นาเมนต์กีฬาไทยไปเลย ใช้วิธีซื้อลิขสิทธิ์ต่างชาติมาจัดฯ อย่างเดียว ปรากฏว่า กีฬาไทยไม่ได้พัฒนาโครงสร้างใดๆ ฯลฯ การพัฒนาโครงสร้างกีฬาระยะยาว (Long Term) โดยเฉพาะโครงการทรัพย์สินทางปัญญา จึงเป็นเรื่องสำคัญ และจำเป็น เมื่อเห็นท่านนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน และรัฐบาล มีนโยบายพัฒนาประเทศด้าน IP เพื่อชาติไทยยืนบนขาตัวเองอย่างแข็งแกร่ง จึงขอฝากถึงผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาและพัฒนาอย่างจริงจัง”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน