ชวพงศ์ ชำนิประศาสน์

เจดีย์ภูเขาทอง ขาวสะอาด สูงเด่นของเจดีย์ภูเขาทอง ฝั่งซ้ายของแม่น้ำบ้านป้อม (เจ้าพระยา) ตำบลภูเขาทอง นอกเกาะเมือง อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา (น่าจะเรียกเป็นสถูป) เพราะมิได้มีบันทึกเรื่องราวที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า เช่น พระธาตุ หรือเรื่องราวเกี่ยวกับ พระพุทธเจ้า เช่น เป็นบริโภคเจดีย์ หรือเป็น ธรรมเจดีย์

ประวัติการสร้างที่ค้นพบหลักฐานในการบูรณะครั้งที่ 4 ปี พ.ศ.2541 ก็คือ การพบฐานรากเดิมและฐานรากที่มีการก่อสร้างกันถึง 4 ครั้ง

ครั้งแรกเชื่อกันว่า สร้างขึ้นในสมัย พระราเมศวร กษัตริย์องค์ ที่ 3 แห่งกรุงศรีอยุธยา สังเกตได้ว่า ถ้าเป็นสถูปและเจดีย์ในสมัยต้นอยุธยา ที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้าง น่าจะเป็นรูปทรงที่เรียกว่า ปรางค์ หรือว่า ในสมัยของพระราเมศวร ท่านสร้างแต่ส่วนของโบสถ์วิหาร และยังมิได้สร้างองค์ปรางค์ขึ้น

ในการสร้างหรือบูรณะครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในสมัยของพระเจ้าจักรพรรดิ โดยมหาราชของกษัตริย์พม่า พระเจ้าบุเรงนองกะยอดินนรธา หรือ พระเจ้าบะยิ่น เหน่าง์จ่อถิ่นหน่อยะถ่า หรือ ผู้ชนะสิบทิศ ที่คนไทยรู้จักกันถ้วนหน้า เป็นสัญลักษณ์ของการครอบครองการมีอำนาจในฐานะของลัทธิจักรพรรดิราชาผู้ครอบครองทวีปทั้งสี่ผู้เป็นราชาเหนือราชา เนื่องจากพระองค์เป็นผู้มีชัยเหนือกรุงศรีอยุธยา

รูปแบบของสถูปหรือเจดีย์ภูเขาทองนี้เป็นมหาเจดีย์หอพีระมิด สัณฐานสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ฐานย่อชั้น ประทักษิณขึ้นไปและมีองค์เจดีย์เป็นรูปโอคว่ำครึ่งวงกลมที่ยังมีเจดีย์รูปทรงนี้ทั่วไปในพม่า

การบูรณะครั้งที่ 2 เมื่อ สมเด็จพระนเรศวรราชาธิราช ผู้ปลดปล่อยอยุธยาจากพม่าได้ จึงมีการบูรณะปรับเปลี่ยนเป็นรูปพระเจดีย์ย่อมุมสิบสอง โดยมีเอกสารทางประวัติศาสตร์เป็นรูปภาพลายเส้นของ หมอแกมเฟอร์ ผู้เข้ามาในอยุธยาในสมัยพระเพทราชา

การบูรณะเปลี่ยนรูปของสถูปหรือเจดีย์ของ พระนเรศวรวรราชาธิราชในความหมายก็คือ การประกาศความเป็นจักรพรรดิของพระราชาแห่ง กรุงศรีอยุธยาแทนพระเจ้าบุเรงนองแห่งพม่า

การบูรณะครั้งที่ 3 เกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศกษัตริย์ปลายสมัยอยุธยาที่ปราบดาภิเษกมาจากการชิงราชสมบัติกับเจ้าฟ้าอภัยและเจ้าฟ้าปรเมษฎที่เป็นสงครามภายในกันอยู่เป็นเวลา 1 ปี เข้าใจว่าการบูรณะครั้งนี้ไม่มีการก่อสร้างเพิ่มเติมแต่อย่างไร

ในการบูรณะครั้งที่ 4 เกิดขึ้นในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีนั้นเป็นการซ่อมแซมรอยร้าว

ครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ.2541 เนื่องจากฐานของเจดีย์ทรุด เอียงลง ทำให้ต้องบูรณะให้โครงสร้างฐานรากของเจดีย์มีความมั่นคงแข็งแรง โดย ดร.วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย แห่งสถาบัน AIT

(สถูป) เจดีย์ภูเขาทองจึงยังคงเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นจักรพรรดิราชของพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ 2 พระองค์ คือ พระเจ้าบุเรงนองและพระนเรศวรวรราชาธิราช

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน