การเปลี่ยนผ่านการเมืองหลังเลือกตั้ง จากรัฐบาลเดิมมาสู่รัฐบาลใหม่ ทำให้การจัดทำงบประมาณปี 2567 ต้องล่าช้าออกไปนาน 6 เดือน

ในการประชุมสัมมนามอบนโยบายและแนวทางการจัดทำงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าวตอนหนึ่งว่า

การจัดทำงบประมาณปีนี้แม้จะล่าช้า แต่เป็นส่วนสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ปีนี้งบประมาณรายจ่ายอยู่ที่วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท รัฐบาลตั้งเป้าหมายให้การเติบโตทางเศรษฐกิจประเทศดีขึ้น จีดีพีขยายตัว 5% ตลอด 4 ปี ทำให้ รายได้ขั้นต่ำถึง 600 บาท เงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาท เกิดขึ้นในปี 2570

การดำเนินตามนโยบายรัฐบาลนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นสู่การผลักดันให้ไทยเป็นประเทศที่มีรายได้สูง

 

สําหรับการวางแผนการใช้งบประมาณปี 2567 วางกรอบดำเนินการใน 5 ข้อสำคัญ ได้แก่ ให้จัดทำงบและการใช้จ่ายงบตามนโยบายรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภา ให้ทุกหน่วยงานร่วมกันวางแผนงบประมาณไม่ให้ซ้ำซ้อน

วางแผนจัดทำงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพมีประสิทธิผล คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของรัฐ วินัยการเงินการคลัง การทำแผนงานหรือโครงการให้ทำตามความจำเป็นเร่งด่วน สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

โครงการต่างๆ ต้องมีตัวชี้วัด มีเป้าหมายก่อให้เกิดผลดีต่อประชาชน เกิดผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจจับต้องได้ชัดเจน ที่สำคัญให้ทุกหน่วยงานทบทวนพิจารณาลดแผนงาน ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ไม่จำเป็น








Advertisement

ถ้าเป็นไปได้ให้ยกเลิกแผนงานหรือโครงการที่ไม่มีความชัดเจนทันที

 

ข้อสุดท้าย ให้จัดทำแผนการใช้จ่าย โดยพิจารณาการใช้จ่ายเงินในโครงการต่างๆ ให้ครบทุกแหล่งเงินทุน ทั้งเงินงบประมาณ และเงินนอกงบประมาณรวมถึงพิจารณาการใช้แหล่งเงินอื่นๆ เช่น การร่วมมือกับภาคเอกชน หรือการใช้เครื่องมือทางการเงินอื่น

ให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดการเบิกจ่าย โดยต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย มีความระมัดระวัง อย่าให้เศรษฐกิจสะดุด

ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายสำคัญทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ซึ่งถูกซ้ำเติมจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้วิกฤตเศรษฐกิจขยายเป็นวงกว้าง ถึงตอนนี้ก็ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่

การจัดทำงบประมาณปี 67 จึงท้าทายฝีมือรัฐบาล จะสามารถนำมาเป็นเครื่องมือแก้ไข เยียวยา และขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ให้ฟื้นตัวในปีหน้าได้มากน้อยขนาดไหน น่าจับตาเป็นอย่างยิ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน