เปิดสาเหตุ ‘กฤษฎา’ ลาออกรมช.คลัง ถูกลดทอนอำนาจ ไม่ได้ดูหน่วยงานสำคัญ ได้ดูแค่สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ข้าราชการใจหาย มั่นใจเป็นผลจากการแบ่งงาน

วันที่ 8 พ.ค.2567 รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง ระบุว่า จากกรณีมีกระแสข่าวว่า นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งนั้น เป็นเรื่องที่ไม่มีการคาดการณ์มาก่อนล่วงหน้า โดยข้าราชการระดับสูงกระทรวงการคลังหลายท่านยังไม่ทราบข่าว และตกใจกับข่าวที่เกิดขึ้น เนื่องจากช่วงเช้าวันที่ 8 พ.ค. ทีมงานของนายกฤษฎา ได้เรียกขอข้อมูลจากหน่วยงานที่ได้รับการแบ่งงานให้กำกับดูแลใหม่ตามคำสั่งของนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง จึงไม่คิดว่าจะลาออก

ข้าราชการในกระทรวงการคลัง คาดว่าสาเหตุที่นายกฤษฎา ตัดสินใจลาออกในครั้งนี้ มีเหตุผลสำคัญมาจากการแบ่งงานในกำกับดูแลภายในกระทรวงการคลังใหม่ โดยถูกปรับลดจาก รมช.คลัง ลำดับที่ 1 มาเป็นลำดับที่ 3 โดยให้นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง มาเป็นลำดับที่ 1 และนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง คนใหม่ เป็นลำดับที่ 2 โดยทั้ง นายพิชัย นายจุลพันธ์ และนายเผ่าภูมิ เป็นรัฐมนตรีในโควตาของพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติวิสัยในการแบ่งงานของกระทรวงการคลัง ที่ รมช.จากพรรคร่วมจะมีบทบาทมากกว่านี้ ซึ่งปกติจะต้องเป็น รมช. ลำดับที่ 1

โดยวันที่ 7 พ.ค. นายพิชัยได้ลงคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 1011/2567 เรื่องการมอบอำนาจให้ รมช.คลัง ปฏิบัติราชการแทน รมว.คลัง โดยเพิ่มหน่วยงานในกำกับให้ นายจุลพันธ์ ในกรมหลักสำคัญของกระทรวง เช่น กรมศุลกากร กรมสรรพากร และกรมสรรพสามิต ซึ่งเป็นหน่วยงานจัดเก็บภาษีซึ่งเป็นหัวใจหลักของกระทรวง

เดิมนายกฤษฏาดูแลในส่วนของกรมสรรพสามิต ซึ่งมีบทบาทสำคัญในเรื่องการจัดเก็บภาษีน้ำมัน ซึ่งเป็นนโยบายด้านพลังงานซึ่งเป็นหัวใจหลักของพรรคร่วมไทยสร้างชาติ รวมทั้งนายจุลพันธ์ ยังได้กำกับดูแลธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เหมือนเดิม ซึ่งปกติจะต้องเป็นหน้าที่ของ รมว.คลัง กำกับดูแล

ขณะที่นายเผ่าภูมิ กำกับดูแลหน่วยงานสำคัญที่เป็นหัวใจสำคัญในการทำนโยบายด้านเศรษฐกิจ คือ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) รวมทั้งกำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และกรมธนารักษ์ ซึ่งเป็นทรัพย์สินสำคัญของกระทรวงการคลัง และเป็นแหล่งในการจัดเก็บรายได้ รวมถึงกำกับดูแลธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ซึ่งมีหน้าที่ผลักดันนโยบายในการดูแลผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

ทั้งนี้ นายกฤษฎา ถูกปรับลดหน่วยงานในกำกับดูแล เหลือเพียง สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำงานตามนโยบายเท่านั้น

ส่วนหน่วยงานหลักที่เคยกำกับดูแลอยู่ เช่น สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล การยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) ถูกดึงกลับไปอยู่ในการดูแลของ รมว.คลัง เป็นการลดอำนาจหน้าที่และบทบาทในการกำกับดูแลหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลัง ซึ่งอาจเป็นประเด็นที่ทำให้นายกฤษฎาเกิดความไม่พอใจเป็นอย่างมาก

“เดิมคาดว่านายกฤษฎา จะถูกปรับออกจาก ครม.เศรษฐา 1/1 เนื่องจากมองว่าจะดึงตัวนายเผ่าภูมิ เข้ามาเสริมในเรื่องการทำงานนโยบายเศรษฐกิจของกระทรวงการคลัง ในฐานะ รมช.คลัง แต่เหตุผลที่นายกฤษฎา ยังจำเป็นต้องอยู่ในรัฐบาลชุดนี้ เพราะคาดว่ายังมีภารกิจในการดูโผโยกย้ายข้าราชการกระทรวงการคลังในช่วงเดือน ก.ย.นี้ก่อน แต่เมื่อถูกลดทอนอำนาจในการกำกับดูแลหน่วยงานสำคัญไปหมด จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คาดว่านายกฤษฎาตัดสินใจยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่ง”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ ได้ทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว และขอให้นายกฤษฎา กลับไปทบทวนในเรื่องนี้อีกครั้ง ก่อนที่จะขอคำตอบอีกครั้งในวันที่ 9 พ.ค. นี้ ล่าสุดยังไม่ได้รับความเห็นใดๆ เพิ่มเติมจากนายกฤษฎาว่ายังยืนยันจะลาออกหรือไม่

ผู้สื่อข่าวกระทรวงการคลังได้โทรศัพท์ไปสอบถามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจาก นายกฤษฎา ตอบเพียงสั้นๆว่า “ขับรถอยู่ไม่สะดวกคุยไว้ คุยวันหลัง”

ด้านนางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ผู้ช่วยเลขานุการรมว.คลัง ปฏิบัติราชการประจำรมช.คลัง (นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ) ระบุว่า ยังไม่ทราบเรื่องดังกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน