แท้จริงแล้วคนทุกคนล้วนมีศักยภาพในตนเอง…ไม่เว้นกระทั่ง “ผู้พิการ” ท่ามกลางความเชื่อว่าผู้พิการไม่มีศักยภาพ ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ เป็นภาระ ตรงกันข้ามหากเรามองเข้าไปให้ถึงใจของผู้พิการ จะรู้ได้ว่าเขาไม่ได้ยินดีกับสิ่งเหล่านี้ และเขาเองก็ไม่ยอมแพ้ที่จะพัฒนาเพื่อดูแลช่วยเหลือตนเอง เช่นนี้การฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้พิการจึงเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกัน

ภายในการประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน : ประชากรกลุ่มเฉพาะ (Voice of the voiceless : the vulnerable populations จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพและภาคีเครือข่าย ได้เปิดเวทีเสวนาความเข้าใจ พร้อมขับเคลื่อนเพื่อดูแลคนพิการอย่างเท่าเทียม เริ่มต้นกิจกรรมด้วยการจำลองบรรยากาศความพิการ โดยวิทยากรเชิญชวนผู้เข้าร่วมจับคู่และสวมผ้าปิดตาให้สลับกันจูงมือนำทาง และให้บอกเล่าความรู้สึกว่าตอนที่ปิดตาและเกาะคู่ที่นำว่ารู้สึกเช่นไร ล้วนบอกเล่าตรงกันว่า รู้สึกกลัวเพราะมองไม่เห็น กังวลจะชนอะไรไหม แต่ก็มั่นใจในคนที่เคียงข้างเรา

เปิดฉากงานขับเคลื่อนเพื่อฟื้นฟูผู้พิการที่ น.ส.เสาวลักษณ์ วิจิตร ผู้อำนวยการกองส่งเสริมสิทธิและสวัสดิการคนพิการ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) เล่าว่า ภารกิจของ พก.มุ่งเน้นการประสานเชื่อมโยงกับกระทรวง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทุกระดับเพื่อการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อผู้พิการ เพื่อให้คนพิการเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการของผู้พิการทั้งด้านการศึกษา การแพทย์ การมีส่วนร่วมทางสังคม ได้แท้จริง ตลอดจนฉายภาพสถานการณ์ของผู้พิการ ตรงนี้ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทาย ซึ่งปัจจุบันมีผู้พิการขึ้นทะเบียนประมาณ 2 ล้านคน ยังต้องสนับสนุน เสริมพลังแก่ผู้พิการให้มีการรวมกลุ่มอย่างเข้มแข็ง ขจัดอุปสรรคในการดำรงชีวิต ซึ่งเป้าหมายสูงสุด คือ ทำให้ผู้พิการใช้ชีวิตทางสังคม มีรายได้ มีพลังทางเศรษฐกิจเข้มแข็ง

อย่างไรก็ตาม การทำงานเพื่อผู้พิการจะอิงตามกลไกระดับสากลและระดับประเทศ ตลอดจนมุ่งขยายผลสู่ระดับพื้นที่จังหวัด ซึ่งได้มีการตั้งศูนย์บริการคนพิการระดับจังหวัด ระดับชุมชนในโรงพยาบาลสุขภาพตำบล เพื่อให้บริการแก่ผู้พิการได้อย่างทั่วถึง สำหรับในปี 2562 ได้มุ่งเน้นการขับเคลื่อนงานไปสู่ระดับชุมชน มีการเตรียมโครงการสำคัญ เช่น สร้างเมืองเป็นมิตรสำหรับคนพิการ (สไมล์ซิตี้) ส่งเสริมนวัตกรรมเพื่อผู้พิการ ส่งเสริมการจ้างงาน การมีงานทำของผู้พิการด้วย

ในด้านสุขภาพ น.ส.จุฬาพลอย ตังเต็มโรจนะ สำนักสนับสนุนระบบบริการสุขภาพชุมชน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สปสช.เป็นองค์กรที่ซื้อบริการแทนประชาชน ที่ไม่มีสิทธิสวัสดิการสุขภาพอื่นๆ ราว 47 ล้านคน ให้การดูแลและคุ้มครองสิทธิบริการด้านการแพทย์ ซึ่งรัฐบาลจัดสรรงบประมาณ ผ่าน สปสช. จำนวน 3,426 บาทต่อคน ในจำนวนนี้จะถูกหัก 16 บาทเพื่อเข้ากองทุนฟื้นฟู ที่สำนักสนับสนุนฯ ดูแลอยู่ ส่วนนี้จะใช้เพื่อจ่ายชดเชยให้ผู้ที่มีสิทธิทั้งผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่ต้องการฟื้นฟูทางการแพทย์ แต่เฉพาะผู้พิการ สปสช.ได้นำเงินดังกล่าวมาจัดสรรเพื่อเป็นค่าอุปกรณ์เครื่องช่วยคนพิการ 76 รายการ เช่น เครื่องช่วยฟังแบบอนาล็อก แบบดิจิทัล 5 รายการ แขนเทียม 21 รายการ ขาเทียม 31 รายการ วีลแชร์ ราคาไม่เกิน 6,000 บาท เป็นต้น ยังขยายความร่วมมือไปยังระดับจังหวัดโดยร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 43 จังหวัด จัดตั้งกองทุนฟื้นฟูสุขภาพทางการแพทย์ให้ผู้พิการในจังหวัดต่างๆ โดยทั้ง สปสช.และอบจ.จะร่วมกันสนับสนุนงบประมาณ ให้แก่ผู้เขียนโครงการเพื่อขอรับทุนดำเนินกิจกรรมต่างๆเพื่อผู้พิการ เช่น ศูนย์ยืมอุปกรณ์ ปรับปรุงบ้าน ปรับสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของผู้พิการได้เหมาะสม เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันมีความร่วมมือใน 43 จังหวัด

ดร.สมพร หวานเสร็จ ศูนย์การศึกษาพิเศษ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงสิทธิผู้พิการด้านการศึกษา ว่า ปัจจุบันการทำงานเพื่อดูแลคนพิการมีความเชื่อมโยงกันมาก ที่ผ่านมาเด็กบางรายเป็นดาวน์ซินโดรม พ่อแม่จะถอดใจคิดว่าพิการพัฒนาไม่ได้ทำให้เด็กเสียโอกาส แต่ระบบการศึกษาได้วางระบบฟื้นฟูศักยภาพตั้งแต่แรกเกิดผ่านศูนย์การศึกษาทั่วประเทศ 77 แห่งมีนักวิชาชีพ นักกิจกรรมบำบัด จิตวิทยาคลินิกคอยดูแลฟื้นฟูเด็กที่มีภาวะเสี่ยงพิการ ณ เวลานี้ปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายที่ดีมากๆ ที่กำหนดให้บริการการศึกษาที่ครอบคลุมการจัดการศึกษาตลอดชีวิต แม้ในด้านคุณภาพอาจจะยังไม่ทั่วถึงเท่าเทียมกันทั้งหมด แต่ในหลักการมุ่งให้เด็กทุกคนได้สิทธิเข้าถึงบรืการการศึกษา ยังมีกองทุนการศึกษาสำหรับผู้พิการ อย่างไรก็ตาม หลักสูตรการจัดการศึกษายึดตามหลักสูตรปฐมวัย หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน หลักสูตรอาชีวศึกษา แต่จะมีการจัดทำแผนการการศึกษาเฉพาะบุคคลเพื่อเหมาะสมกับการเรียนรู้ นอกจากศูนย์การศึกษาพิเศษแล้ว ยังมีโรงเรียนเฉพาะความพิการ โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ที่มีกว่า 100 แห่งทั่วประเทศที่พร้อมให้บริการการศึกษาแก่เด็กทุกคน

ขณะที่ นายอภิชาติ การุณกรสกุล มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม กล่าวว่า ขณะนี้หลายหน่วยงานได้ร่วมขับเคลื่อนเพื่อส่งเสริมผู้พิการ หลายเรื่องประสบความสำเร็จ หลายเรื่องก้าวหน้าตนอยากขอให้รัฐบาลใหม่ ผู้บริหารที่เกี่ยวข้องลงมาดูนำมาไปขยายผล โดยเฉพาะประเด็นการให้ผู้พิการเข้าถึงโอกาสงานและการมีอาชีพ ขณะนี้เรามีกฎหมายที่ดี คือ พ.ร.บ.ส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กำหนดให้สถานประกอบการ 100 คนขึ้นไปต้องจ้างคนพิการทำงาน 1 คน แต่ที่ผ่านมากฎหมายยังออกฤทธิ์ไม่เต็มที่ ยังมีบริษัทอีกจำนวนหนึ่งที่เลือกจะส่งเงินเข้ากองทุนมากกว่าจ้างงานผู้พิการ มองในแง่หนึ่งก็ดี แต่มองอีกมุมหนึ่งการที่บริษัทไม่จ้างคนพิการก็ทำให้คนพิการพลาดโอกาสเข้าถึงงาน ที่สำคัญการจะให้คนพิการเดินเข้าไปสมัครงานเองก็ค่อนข้างยากปัจจัยหนึ่งคือวุฒิการศึกษา ตรงนี้เป็นช่องว่างที่ตนอยากให้แนวทางอื่นๆ เช่น เปิดทางให้ทำงานเชิงสังคม ให้ทุนไปประกอบอาชีพ เมื่อเขามีรายได้ก็มีอิสระมากขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น ที่สำคัญผู้พิการเป็นส่วนหนึ่งในชุมชน สังคมเมื่อเขามีมีคุณภาพชีวิตที่ดีก็ช่วยเสริมพลังให้แก่ชุมชนได้เข้มแข็ง

ถึงเวลาที่ต้องร่วมด้วยช่วยกัน สนับสนุน ฟื้นฟูคุณภาพชีวิตผู้พิการให้ดียิ่งขึ้น เปลี่ยนความคิดจากภาระ เป็นอีกพลังที่จะช่วยกันพัฒนาประเทศ.








Advertisement

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน