เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา มีข่าวใหญ่ในวงการวัสดุก่อสร้างที่ส่งผลดีสำหรับผู้บริโภค นั่นคือการบุกทลายแหล่งต้นตอการผลิตเหล็กที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานของโรงงานผลิตเหล็กรายใหญ่แห่งหนึ่งที่จังหวัดชลบุรี ทั้งหมดเป็นเหล็กเบาที่มีจำนวนถึงกว่า 10,000 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 300 ล้านบาท ซึ่งหากเหล็กดังกล่าวหลุดจากโรงงานถึงมือผู้บริโภค และถูกนำไปใช้ในการก่อสร้างจะส่งผลเสียหายต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอย่างมหาศาล

หลายคนอาจไม่รู้ การบุกจับครั้งนี้เป็นผลงานของหน่วยงานที่มีชื่อว่า “สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม” หรือที่เรียกกันย่อๆ “สมอ.” ซึ่งมีภารกิจในการลงพื้นที่ตรวจติดตามผู้ทำ ผู้นำเข้า และผู้จำหน่ายสินค้าในท้องตลาดอย่างเข้มงวดและสม่ำเสมอ โดยเป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญของกระทรวงอุตสาหกรรมในการปกป้องคุ้มครองผู้บริโภคให้ใช้สินค้าอย่างปลอดภัยสบายใจ

นอกจากอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย และภารกิจข้างต้นแล้ว นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เผยว่า สมอ. ยังมีบทบาทในการกำหนดมาตรฐานและกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ ตรวจสอบและรับรองด้านการมาตรฐานของผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมต่างๆ เนื่องจากทุกประเทศในโลกที่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว จะต้องมีการกำหนดมาตรฐานในสินค้าทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นเกษตร อุตสาหกรรม อาหารและยา ฯลฯ ที่ผู้คนใช้บริโภคในชีวิตประจำวัน ขณะเดียวกันหากผู้ประกอบการในประเทศผลิตสินค้าได้มาตรฐานตามกำหนดแล้ว สินค้าต่างประเทศที่ไม่ได้มาตรฐานก็จะถูกกีดกันไม่ให้นำเข้ามาจำหน่ายถึงมือคนไทยอย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าที่กระทบต่อความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินอย่างวัสดุก่อสร้าง เช่น ปูนซีเมนต์ อิฐมวลเบา เหล็กเส้น และหลังคาเมทัลชีท เพราะหากไม่ได้มาตรฐานแล้วนำไปเป็นโครงสร้างอาคารหรือมุงหลังคาก็จะทำให้มีโอกาสพังถล่มได้

“สำหรับบ้านหรืออาคารที่ก่อสร้างโดยใช้เหล็กที่ไม่ได้มาตรฐานนั้น ลองนึกภาพเหล็กเส้นที่นำไปผูกเป็นตาราง จากนั้นก็เทคอนกรีตเข้าไป เหล็กจะทำหน้าที่ยึดโยงคอนกรีตเพื่อให้เกิดความแข็งแรง แล้วก็จะรับน้ำหนักได้ตามที่วิศวกรคำนวณบนพื้นฐานมาตรฐาน แต่เนื่องจากเจ้าของบ้านส่วนใหญ่จะวางใจผู้รับเหมา หากผู้รับเหมาเจตนาโกงเพื่อประหยัดต้นต้นทุนด้วยการใช้เหล็กไม่ได้มาตรฐาน เช่น เหล็กควรจะมีขนาดเท่านิ้วโป้ง แต่รีดจนเหลือเพียงขนาดนิ้วก้อย เจ้าของบ้านก็จะไม่มีทางรับรู้จนกว่าบ้านจะถล่มและพังทลาย”

“ดังนั้น อีกหนึ่งภารกิจสำคัญของ สมอ.ก็คือ การรณรงค์ให้คนไทยตระหนักถึงความสำคัญของมาตรฐานสินค้า อย่าไปเน้นของราคาถูก เมื่อสินค้าคุณภาพไม่ทนทานก็ต้องซื้อหลายครั้ง ไม่คุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายที่เสียไป เปรียบเทียบกับของดีราคาสูงแต่ซื้อครั้งเดียวได้งานได้เป็นเวลานาน ตรงนี้ก็จะมีกองส่งเสริมมาตรฐานจัดทำโครงการประชาสัมพันธ์ต่างๆ เพื่อปลูกฝังค่านิยมให้กับคนไทย มีการอบรมให้ความรู้กับเยาวชนว่ามาตรฐานคืออะไร”

เลขาธิการ สมอ.ยังทิ้งท้ายโดยฝากถึงประชาชนผู้บริโภคทั่วไปที่ต้องการซื้อสินค้าอุตสาหกรรมที่ได้คุณภาพและความปลอดภัย มีวิธีการสังเกตง่ายๆ คือ เมื่อใดที่เห็นสินค้านั้นมีเครื่องหมาย มอก.ติดอยู่ ก็วางใจได้ว่า สมอ.คุ้มครองผู้บริโภคให้ปลอดภัยจากการใช้สินค้านั้นแล้ว หรือหากเป็นสินค้าที่ ‘ผู้ซื้อไม่ได้ใช้ ผู้ใช้ไม่ได้ซื้อ’ ในกรณีปลูกสร้างหรือต่อเติมบ้านก็ควรกำชับผู้รับเหมาว่าต้องเลือกวัสดุที่ได้รับเครื่องหมาย มอก. เท่านั้น และควรตรวจสอบสินค้านั้นด้วยตัวเองจะดีที่สุด

หมายเหตุ: ผู้บริโภคควรต้องรู้ว่า ไม่ใช่สินค้าทุกอย่างจะมี มอก. รวมถึงยังมีผู้เข้าใจผิดเกี่ยวกับสินค้าที่นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศ ทั้งนี้ผู้บริโภคจะต้องมองหา ‘ตราสัญลักษณ์ มอก. บนสินค้า’ โดยสินค้าที่ได้รับ มอก. จะต้องมีตราสัญลักษณ์ มอก. บนตัวสินค้านั้นๆ หรือหากเป็นสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศก็ต้องตรวจสอบให้มั่นใจว่า มีเครื่องหมาย มอก. เป็นต้นว่า ท่อน้ำประปา PVC ต้องมีเลข มอก. 17-2532 หรือหลังคาเมทัลชีท ต้องมีเลขที่ มอก. 2753-2559 หรือ 2228-2559 เท่านั้น และจากข้อมูลกรมศุลกากรในปี 2559 พบว่า สินค้าแผ่นเหล็กเคลือบโลหะ หรือเมทัลชีท มีการนำเข้ามาจากต่างประเทศทั้งจีน เวียดนาม เกาหลี ใต้หวัน กว่า 1 ล้านตัน* (ข้อมูลจาก www2.ops3.moc.go.th) และจากข้อมูลของผู้ผลิตในประเทศบางรายระบุว่าสินค้านำเข้าเหล่านี้ยังไม่มีเครื่องหมาย มอก. ซึ่งเป็นการยากที่ผู้บริโภคจะสามารถตรวจสอบคุณภาพตามที่ทางผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าระบุไว้ได้ และเมื่อผู้บริโภค ไม่สามารถแยกแยะคุณภาพได้ ทำให้ราคาจึงเป็นตัวตัดสินใจในการเลือกซื้อ ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือ ต้องมองหาตราสัญลักษณ์ มอก. บนตัวสินค้าก่อนการตัดสินใจซื้อ และปฏิเสธสินค้าที่ไม่มี มอก. ถึงแม้ว่าราคาจะถูกกว่า แต่ในระยะยาวอาจไม่ปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน