ย้อนไปเมื่อเดือนเมษายน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ได้จัดการประชุมคณะผู้บริหารด้านการเสริมสร้างบทบาทหญิงชาย (Chief Gender Equality Officer) หรือ CGEO หัวหน้าศูนย์ประสานงานด้านความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย (Gender Focal Point) หรือ GFP รวมถึงทุกหน่วยงานสังกัดกระทรวง พม. ภายหลังการประชุมมีการกำหนดแนวทางการพัฒนา ใน 5 มิติ เพื่อให้กระทรวง พม. เป็นผู้นำการขับเคลื่อนการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ ประกอบด้วย

  1. มิติการพัฒนากลไก โดยให้มีการแต่งตั้ง CGEO ระดับกรม และ GFP ในทุกกรม และทบทวนการดำเนินการตามแผนแม่บทด้านการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ
  2. มิติการพัฒนาบุคลากร โดยให้ความรู้เรื่องเพศภาวะและการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ รวมถึงการบูรณาการ เพศภาวะในการปฏิบัติงานกับกลุ่มเป้าหมายของหน่วยงาน
  3. มิติการพัฒนาการปฏิบัติงาน โดยจัดเก็บข้อมูลจำแนกเพศในองค์กรทั้งบุคลากรและผู้ใช้บริการ และงบประมาณที่มีมุมมองมิติเพศภาวะ (Gender Responsive Budgeting – GRB)
  4. มิติการพัฒนาสภาวะแวดล้อมและกฎระเบียบภายในองค์กร ปรับปรุงและพัฒนามาตรการและสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ เช่น ความเสมอภาคระหว่างเพศในการสรรหาและแต่งตั้ง การจัดห้องให้นมบุตร ห้องดูแลเด็กเล็ก ห้องปั๊มน้ำนมมารดา ห้องน้ำสำหรับคนพิการ ผู้สูงอายุ กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ และจัดทำมาตรการป้องกันและแก้ไขการล่วงละเมิดหรือการคุกคามทางเพศในการทำงานทุกหน่วยงาน
  5. มิติการติดตามและประเมินผล โดยทุกส่วนราชการมีหน้าที่ในการติดตามและการรายงานการดำเนินงานในการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ

เมื่อวันที่ 29 มิถุนายนที่ผ่านมา นายปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนากลไกศูนย์ประสานงานด้านความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย โดยมีนางสาววิจิตา รชตะนันทิกุล รองอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เป็นผู้กล่าวรายงาน อีกทั้งยังร่วมหารือกับ คุณหญิง ทิพาวดี เมฆสวรรค์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ รองศาสตราจารย์ ดร.จุรี วิจิตรวาทการ รวมถึง CGEO และ GFP เพื่อหารือนโยบายและรับฟังความคืบหน้าด้านความเสมอภาคระหว่างเพศ

ซึ่งนายปรเมธีกล่าวในที่ประชุมครั้งนี้ว่า “กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลในเรื่องของการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ นำไปสู่การกำหนดทิศทางต่างๆ รวมถึงนโยบายการดำเนินการที่ต้องคำนึงถึงประเด็นเพศภาวะและความแตกต่างทางเพศ ซึ่งเป็นอุปสรรคสำหรับกลุ่มเปราะบาง ตั้งแต่เด็ก จนไปถึงวัยผู้สูงอายุ เพื่อให้สะดวกในการเข้าถึงการบริการและสิทธิสวัสดิการสังคมของกระทรวง พม. อย่างเท่าเทียมเสมอภาค ไม่เลือกปฏิบัติต่อเพศ

นับเป็นการเสริมสร้างความรู้และความตระหนักในประเด็นความเสมอภาคระหว่างเพศแก่หน่วยงานของ กระทรวง พม. โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้และประสบการณ์ในประเด็นสิทธิสตรี และการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศมาให้ความรู้ แลกเปลี่ยน และข้อเสนอแนะในการขับเคลื่อนการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ เพื่อขับเคลื่อนกระทรวง พม. เป็นองค์กรต้นแบบในการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน