เป็นเวลานานนับศตวรรษแล้วที่ชาวบ้านทางพื้นที่ภาคใต้ของประเทศ นำภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย ด้วยการนำต้น “กระจูด” วัชพืชที่ขึ้นอยู่มากมายเต็มป่าพรุ มาทำประโยชน์ด้วยการจักสานเป็นของใช้ภายในครัวเรือนและของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น เสื่อปูนอน กระสอบใส่ข้าวสาร เป็นต้น

ปัจจุบัน มีการต่อยอดเพิ่มมูลค่าให้กับ “กระจูด” ด้วยการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีความหลากหลาย ใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง เข้ากับยุคสมัย อาทิ ของตกแต่งบ้าน หมวก กระเป๋า รองเท้า ที่มีลวดลายและสีสันทันสมัย โดนใจผู้บริโภค เป็นการเปลี่ยนวัชพืชไร้ค่า เป็นงานหัตถกรรมล้ำค่า สร้างรายได้ และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้ชาวชุมชน

กระจูด ขุมทรัพย์ในป่าพรุ

“กระจูด” เป็นพืชตระกูลเดียวกับ “กก” มีลำต้นกลมสีเขียวอ่อน ชอบขึ้นในพื้นที่น้ำขัง ทำให้ต้น “กระจูด” เติบโตได้ดีในพื้นที่ป่าพรุ เช่นที่ป่าพรุทะเลน้อย จ.พัทลุง ป่าพรุควนเคร็ง อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช เป็นต้น

ทราบไหมว่า….. กว่าที่เราจะได้ผลิตภัณฑ์จาก “กระจูด” มาใช้งานสักชิ้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะทุกขั้นตอนต้องอาศัยความเชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกฝนกันมาอย่างดี ตั้งแต่ขั้นตอนการเก็บกระจูด ที่มีอุปกรณ์หลักเพียงแค่แรงกายและ 2 มือเปล่าๆ ของชาวบ้าน และที่สำคัญต้องไม่ทำให้แหล่งกระจูดเสียหาย จากนั้นนำ “กระจูด” ที่ได้ไปคลุกโคลนป้องกันไม่ให้กระจูดแตกง่าย และเหนียวนำไปตากแดดจนแห้งดี นำไปรีดจนแบน และทุบให้นิ่ม ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการจักสาน โดยจะเห็นได้ชัดว่าทุกขั้นตอน ต้องอาศัยฝีมือและภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษที่ถ่ายทอดกันมายาวนาน

ว่ากันว่า….คุณสมบัติเด่นของ “กระจูด” ก็คือ สามารถดูดความชื้นได้ดี เหนียวและทน ทำให้ชาวบ้านนิยมนำมาทำเป็นเสื่อสำหรับปูนอน หรือภาษาใต้เรียกว่า “สาดจูด” เพราะระบายความร้อนได้ดี นอนแล้วเย็นสบาย และเมื่อนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์อื่น อย่าง กระเป๋า จะมีความทนทานเป็นพิเศษ ไม่เปื่อยขาดง่าย ยิ่งใช้ยิ่งนิ่ม ยิ่งเก่าเท่าไรสีจะยิ่งสวยขึ้นเท่านั้น

ภูมิปัญญาพื้นบ้านสู่เส้นทางแฟชั่น

ในอดีต… ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณรอบป่าพรุและบริเวณใกล้เคียง มีอาชีพและรายได้หลัก จากการทำนา ทำสวน และบางส่วนออกเรือทำประมง และใช้เวลาว่างในการสานกระจูดใช้เองในครัวเรือน และบางส่วนนำไปจำหน่ายนอกหมู่บ้าน เพื่อหาอาชีพและรายได้เสริมของครอบครัว โดยผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ยังเป็นเสื่อกระจูดแบบบ้านๆ ลวดลายธรรมดา

ต่อมาเมื่อผลิตภัณฑ์จากกระจูดเริ่มเป็นที่รู้จัก และเริ่มมีความต้องการจากตลาด ชาวบ้านจึงได้มีการรวมตัวกัน เกิดวิสาหกิจชุมชนจักสานกระจูดขึ้นมาตามชุมชนต่างๆ ซึ่งแต่ละชุมชนได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น อาทิ ของใช้ในบ้าน ประเภท ตะกร้า หมอน ที่รองจานและแก้ว และผลิตภัณฑ์ในหมวดแฟชั่น ได้แก่ หมวก รองเท้า กระเป๋า เป็นต้น โดยได้รับช่วยเหลือจากทั้งหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และเอกชน มาเป็นพี่เลี้ยงให้กับแต่ละวิสาหกิจ โดยสินค้าที่มีการตอบรับและสร้างรายได้หลัก ให้กับชาวบ้านมากที่สุด ก็คือ “กระเป๋ากระจูด” นั่นเอง

ปัญหาหนึ่งของวิสาหกิจชุมชนจักสานกระจูดหลายแห่งพบเจอเป็นประจำ คือ ช่องทางการตลาดและช่องทางการประชาสัมพันธ์ที่ยังไม่กว้างพอ เพราะสมาชิกส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านในชุมชนที่ถนัดงานจักสานมากกว่า รวมถึงปัญหาการกดราคาจากพ่อค้าคนกลางที่รับซื้อในราคาต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

เพื่อช่วยวิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการขนาดย่อมจากปัญหาดังกล่าว บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ บริษัทในกลุ่ม ปตท. ที่ดำเนินธุรกิจด้านน้ำมันและธุรกิจค้าปลีกชั้นนำของไทยและต่างประเทศ ที่มีวิสัยทัศน์ในการเป็นแบรนด์ชั้นนำระดับโลก ควบคู่แนวคิดในการสร้างประโยชน์ให้กับสังคมชุมชน เพื่อให้เศรษฐกิจฐานรากของประเทศมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและเติบโตไปด้วยกันอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน จึงได้นำจุดแข็ง คือ จำนวนสถานีบริการน้ำมัน PTT Station กว่า 1,900 แห่งทั่วประเทศ มาเป็นช่องทางการจำหน่ายให้กับสินค้าดีสินค้าเด่นประจำท้องถิ่น โดยได้ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร จัดตั้ง “โครงการไทยเด็ด” คัดสรรสินค้าจากชุมชนต่างๆ มาให้ผู้แทนจำหน่ายสถานีบริการน้ำมัน PTT Station ทั่วประเทศคัดเลือกไปวางจำหน่ายที่ “มุมสินค้าไทยเด็ด” ในสถานีบริการ PTT Station ที่เข้าร่วมโครงการฯ โดย “กระเป๋ากระจูด” ได้รับการคัดเลือกจากโออาร์ให้เป็นสินค้า “ไทยเด็ด Select รุ่นแรก”

หลังจากที่โออาร์เข้ามาให้ความช่วยเหลือโปรโมทสินค้าและช่องทางการจำหน่าย “กระเป๋ากระจูด” ได้รับการตอบรับอย่างดีจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ และรักงานแฮนด์เมดฝีมือชาวบ้าน จนมียอดการสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากเริ่มแรก 50-60% ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างน้อยวันละ 500 บาทต่อคน และยังมีการขยายเครือข่ายชาวบ้านเพื่อผลิต “กระเป๋ากระจูด” เพิ่มขึ้น ที่สำคัญ สมาชิกชุมชนไม่ต้องออกไปทำงานนอกถิ่นหารายได้ เป็นการสร้างความสัมพันธ์ของสมาชิกภายในครอบครัวและชุมชนให้แน่นแฟ้นมากขึ้น และยังเป็นการต่อยอดภูมิปัญญาพื้นบ้านของไทยไม่ให้สูญหาย….

“ไทยเด็ด เด็ดที่ความคิดของคนไทย ที่ช่วยเหลือกัน”


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน