เมื่อประเทศไทยกำลังยกระดับเศรษฐกิจด้วย “นวัตกรรม” การเลือกลงทุนในโครงการ “วังจันทร์วัลเลย์” บนพื้นที่ 3,454 ไร่ ในตำบลป่ายุบใน อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พัฒนาพื้นที่ให้เป็นฐานที่ตั้งสำคัญของเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation; EECi) ส่งเสริมนวัตกรรมแบบครบวงจร เป้าหมายเพื่อเป็นแหล่งวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ตามนโยบาย Thailand 4.0 สร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้ประเทศ

กลุ่ม ปตท. มีเป้าหมายในการพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ ภายใต้วิสัยทัศน์ Smart Natural Innovation Platform ที่มีระบบนิเวศนวัตกรรมที่เป็นเลิศ มีสิ่งอำนวยความสะดวกเพียบพร้อม รองรับการทำงานและการอยู่อาศัยได้อย่างครบครัน เพื่อเป็น Smart City เมืองนวัตกรรมแห่งอนาคต ที่สมบูรณ์แบบแห่งแรกของประเทศ

ภายในพื้นที่ของ “วังจันทร์วัลเลย์” ประกอบด้วยพื้นที่ใช้ประโยชน์หลายส่วน ซึ่งส่วนหนึ่งถูกจัดสรรให้เป็นพื้นที่เพื่อการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม (Innovation Zone) โดยจุดนี้เป็นที่ตั้งของอาคารกลุ่มนวัตกรรม EECi ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ( สวทช. ) ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา 4 เมืองนวัตกรรม ประกอบด้วย เมืองนวัตกรรมชีวภาพ (BIOPOLIS), เมืองนวัตกรรมระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (ARIPOLIS), เมืองนวัตกรรมด้านการบินและอวกาศ (SPACE INNOPOLIS) และ เมืองนวัตกรรมอาหาร (FOOD INNOPOLIS) นอกจากนั้นยังมีหน่วยงานจากภาครัฐ บริษัทในกลุ่ม ปตท. และภาคเอกชนอื่นๆ เข้าร่วมพัฒนาพื้นที่อีกด้วย

และในพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะ” (Intelligent Operation Center: IOC) ซึ่งถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางในการควบคุมระบบทั้งหมดด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย เพื่อยกระดับ ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแบบก้าวกระโดด มองจากภายนอกอาคาร IOC เป็นอาคารปฏิบัติการ 3 ชั้น ออกแบบภายใต้แนวคิดเมืองอัจฉริยะ (Smart City) มีพื้นที่ใช้สอยราว 3,700 ตารางเมตร พื้นที่ดาดฟ้าประมาณ 1,300 ตารางเมตร มีการวางโครงข่ายเชื่อมโยงกับระบบอัจฉริยะต่างๆ เพื่อบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ และนำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์ต่อยอดในเชิงธุรกิจ

นอกจากนี้การออกแบบยังเป็นการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล หรือ Universal design เอื้อต่อการใช้งานของผู้พิการ และการก่อสร้างตามมาตรฐาน LEED หรือ Leadership in Energy and Environmental Design ในระดับ Certified ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ถูกนำมาใช้ประเมินการออกแบบอาคารเพื่อเน้นการพัฒนาที่ยั่งยืน ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเป็นระบบอาคารเขียวที่ถูกนำมาใช้ทั่วโลก โดยตัวอาคารใช้อุปกรณ์และวัสดุก่อสร้างที่ประหยัดพลังงานและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น ระบบปรับอากาศและระบบไฟส่องสว่างชนิดประหยัดพลังงาน อุปกรณ์ห้อง Server ชนิดประหยัดพลังงาน สุขภัณฑ์ประหยัดน้ำ เป็นต้น

ขณะนี้การก่อสร้างและการวางระบบต่างๆ เสร็จสมบูรณ์ครบ 100% แล้ว และเปิดอย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2563 ผ่านมา

สำหรับพื้นที่ใช้สอย 3,700 ตารางเมตร ด้านในตัวอาคาร แบ่งการใช้งานอย่างคุ้มค่า ประกอบด้วยพื้นที่สำนักงานห้องสัมมนาขนาดใหญ่ ห้องประชุม ซึ่งทั้งหมดควบคุมด้วยระบบอัจฉริยะ โดยห้องควบคุมปฏิบัติการ (Control Room) ที่แสดงภาพที่ส่งจากระบบปฏิบัติการต่างๆ บนวิดีโอวอล (Video Wall) สูง 2.7 เมตร และยาว 14.5 เมตร (จอ LED ขนาด 55 นิ้ว จำนวน 48 ชุด) โดยมีพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมและสั่งการระบบปฏิบัติการต่างๆ

ไม่ว่าจะเป็น SCADA : การตรวจสอบสถานะ ควบคุมการทำงานของอุปกรณ์ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ แบบเรียลไทม์ เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา ระบบน้ำเสีย, ระบบตรวจสอบและการทำงานของอุปกรณ์งานระบบอาคาร เช่น เครื่องปรับอากาศ ลิฟต์ ไฟส่องสว่าง, การแสดงผลควบคุมและสั่งการระบบไฟตามถนน ทางเดิน, การแสดงผลควบคุมและสั่งการระบบ CCTV ระบบสัญญาณเตือนไฟไหม้ และอื่นๆ

สำหรับไฮไลต์อีกพื้นที่หนึ่งก็คือ Smart Meeting Room ห้องประชุมจุได้ประมาณ 40 ที่นั่ง และมีสิ่งอำนวยความสะดวก ดังนี้

  • ระบบประชุมทางไกล พร้อมกระจกไฟฟ้าเปลี่ยนสถานะเป็นใสหรือขุ่นเพื่อให้ผู้ประชุมสามารถมองลงมาที่ห้อง Control Room ได้
  • จอ Video Wall แบบ 3×3 ขนาดจอ 55 นิ้วและจอแสดงผลขนาด 75 นิ้ว 2 ชุด
  • จอ Smart Touch-screen Interactive Display ขนาด 70 นิ้ว สามารถเขียนหน้าจอและบันทึกลงคอมพิวเตอร์ หรือส่งทางอีเมล์ได้
  • แสดงผลบนจอภาพโดยการเชื่อมต่อแบบไร้สายกับคอมพิวเตอร์ Tablet โทรศัพท์มือถือ
  • สั่งงานอุปกรณ์ไฟฟ้าด้วยเสียงหรือระบบไร้สายผ่าน Tablet เช่น ลำโพง สวิตช์ควบคุมไฟแสงสว่าง

ปัจจุบัน วังจันทร์วัลเลย์เป็นเขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ถือเป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมในการพัฒนาสู่เมืองอัจฉริยะ (Smart City) ของประเทศ ด้วยระบบนิเวศนวัตกรรมที่เป็นเลิศ และแผนพัฒนาระบบอัจฉริยะต่างๆ ครบทั้ง 7 ด้าน ตามหลักเกณฑ์การส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ Smart City Thailand ทำให้เป็นเมืองที่มีความปลอดภัย น่าอยู่ เพื่อยกระดับขีดความสามารถของไทย พร้อมทั้งรองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจตามนโยบาย Thailand 4.0 ต่อไป


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน