ทันทีที่รัฐบาลไทย ‘ปลดล็อก’ ให้กัญชาและกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนสามารถปลูกและนำไปใช้ประโยชน์สร้างมูลค่าเพิ่ม โดยเฉพาะกัญชงนับเป็นพืชที่มีศักยภาพในการนำมาใช้ประโยชน์เชิงธุรกิจในอุตสาหกรรมหลากหลาย

นอกจากเส้นใยที่นำไปใช้ประโยชน์ด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอแล้ว ในส่วนของ ‘แกนกัญชง’ ยังสามารถแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง ยกตัวอย่างผลงานวิจัยของ อ.ดร.ประชุม คำพุฒ หัวหน้าหน่วยวิจัยวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และรองผู้อำนวยการสำนักความร่วมมืออุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

หัวหน้าหน่วยวิจัยวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มทร.ธัญบุรี อธิบายถึงผลงานวัสดุก่อสร้างจากแกนกัญชงว่า หลังจากได้รับการสนับสนุนวัตถุดิบแกนกัญชงจากการยาสูบแห่งประเทศไทย และบริษัท เฮมพ์ไทย จำกัด ก็ได้ทดลองทำขึ้นมาหลักๆ 2 แบบ แบบแรกเป็น ‘อิฐมวลเบา’ ซึ่งมีขนาดเท่ากับอิฐมวลเบาทั่วไปในท้องตลาด โดยใช้ส่วนผสมจากยิปซั่มพลาสเตอร์และใช้แกนของต้นกัญชงที่เหลือทิ้งจากการลอกเปลือกไปแล้วมาบด สามารถบดได้ทั้งขนาดหยาบ ปานกลาง ไปจนถึงละเอียด การบดก็จะส่งผลต่อคุณสมบัติของอิฐ หากละเอียดจะมีความแข็งแรงทั้งยังมีผลในด้านของเนื้อสัมผัสที่จะออกมาเป็นลวดลายต่างๆ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ว่าจะนำไปทำอะไร

“แบบที่สองคือ ‘วัสดุทดแทนไม้’ หรือที่เรียกว่าพาร์ติเกิ้ลบอร์ด (Particle board) มีกาวเป็นตัวประสานก่อนขึ้นรูปด้วยการอัดด้วยความร้อนเช่นเดียวกับไม้อัดทั่วไป จะเป็นกาวธรรมชาติหรือกาวเคมีก็ได้ สามารถขึ้นรูปเป็นขนาดบางหรือหนาก็ได้ ถ้าเป็นขนาดหนาก็จะนำไปใช้งานประเภทจานรองแก้ว หรือที่วางตกแต่งบนโต๊ะอาหาร แต่ถ้าเป็นขนาดบางสามารถทำเป็นโต๊ะได้ ขึ้นอยู่กับการเลือกใช้งาน นอกจากนี้ยังสามารถเพิ่มออปชั่นได้โดยการที่ทำขนาดเท่ากับอิฐมอญ แต่เป็นรูปแบบไม้ สำหรับนำมาก่อผนังเหมือนกับเป็นลายไม้ ลายอิฐ ซึ่งตัวนี้ก็เป็นฉนวนกันความร้อนได้อย่างดี”

หัวหน้าหน่วยวิจัยวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มทร.ธัญบุรี ให้ข้อมูลอีกว่า ยังมีทีมวิจัยของสถาบันอื่นที่นำแกนกัญชงมาทำเป็นเฮมพ์กรีตก็คือผสมในคอนกรีต แต่มีน้ำหนักค่อนข้างมาก แตกต่างไปจากเฮมพ์กรีตในต่างประเทศซึ่งมีน้ำหนักเบา โดยกำลังมีงานวิจัยที่ทดลองนำแกนกัญชงมาทรีตด้วยสารเคมีบางชนิดเพื่อให้เกาะกับคอนกรีตแล้วสามารถรับแรงได้ดี ขณะเดียวกันก็ต้องน้ำหนักเบาด้วยการผสมแกนกัญชงให้มากที่สุด แต่ที่สำคัญคือประเทศไทยเวลานี้ยังไม่มีหน่วยงานใดที่ทำเฮมพ์กรีตหรืออิฐบล็อคกัญชงที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม จำเป็นต้องมีขั้นตอนในการยื่นขอ มอก. เพื่อให้รองรับกับการที่อุตสาหกรรมจะนำไปใช้งานในเชิงพาณิชย์

“มั่นใจว่าการนำแกนกัญชงมาทำเป็นวัสดุก่อสร้างประเภทต่างๆ จะช่วยเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจได้อีกมากมาย ยกตัวอย่างเช่น ไม้อัดที่ผสมแกนกัญชงมีจุดเด่นที่เนื้อสัมผัสมีความแปลกแตกต่างไปจากไม้อัดทั่วไป ซึ่งเวลานี้มีสถาปนิกและผู้รับเหมาก่อสร้างที่เริ่มให้ความสนใจนวัตกรรมใหม่นี้กันแล้ว จึงขอฝากถึงภาครัฐว่า อยากให้สนับสนุนหน่วยงานวิจัยในการนำแกนกัญชงมาต่อยอดสร้างเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ รวมถึงส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นที่จะลงทุน เพราะเมื่อเราทำงานวิจัยเป็นผลสำเร็จแล้วก็เรียกเป็นองค์ความรู้ แต่ถ้าไม่มีโอกาสเข้าสู่กระบวนการถัดไปในโรงงาน ก็เท่ากับว่าไม่สามารถไปต่อได้”

สำหรับใครที่อยากเห็นของจริง “วัสดุก่อสร้างจากแกนกัญชง” รวมถึงผลงานนวัตกรรมอื่นๆ จากกัญชาและกัญชง ไปชมกันได้ที่งาน “มหกรรมกัญชากัญชง 360 องศา เพื่อประชาชน” ซึ่งรวบรวมองค์ความรู้ของความก้าวหน้าด้วยกัญชาทางการแพทย์ และเศรษฐกิจไทยสู่เศรษฐกิจโลกด้วยกัญชง จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกับสำนักงานเขตสุขภาพที่ 9 โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ ระหว่าง 5-7 มีนาคม 2564 ณ สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ฟรี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน