ทะเล เปรียบได้กับบ้านหลังใหญ่ของสิ่งมีชีวิตน้อยใหญ่ใต้ผืนน้ำ และเป็นทั้งแหล่งอาหาร สร้างอาชีพ สร้างรายได้ หล่อเลี้ยงวิถีชีวิตคนในชุมชนที่อาศัยอยู่รอบชายฝั่ง เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่มีค่า รวมทั้ง เป็นแหล่งพลังงานสำคัญที่ใช้ในชีวิตประจำวันของเรา

บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ซึ่งมีพื้นที่ปฏิบัติการส่วนใหญ่อยู่นอกชายฝั่ง ทะเล จึงเป็นเสมือนบ้านอีกหลังหนึ่ง สิ่งมีชีวิตใต้ทะเลและชุมชนรอบชายฝั่งเป็นเสมือนเพื่อนบ้านที่อยู่ร่วมกัน สร้างคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดีร่วมกัน ซึ่งที่ผ่านมา ปตท.สผ. ได้จัดทำโครงการและกิจกรรมเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและนิเวศทางทะเล และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเราเรียกว่า “ทะเลเพื่อชีวิต” (Ocean for Life) โดยได้ร่วมมือกับ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หน่วยงานราชการ สถาบันศึกษา องค์กรต่าง ๆ และชุมชนซึ่งอยู่บริเวณชายฝั่ง รวมทั้ง ได้นำความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรม เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ มาประยุกต์ใช้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลในมิติที่กว้างขึ้น

ปตท.สผ. เริ่ม “ทะเลเพื่อชีวิต” กับระบบการทำงานของบริษัทเองด้วย เช่น ในการผลิตปิโตรเลียม ปตท.สผ. ได้นำน้ำจากกระบวนการผลิตกลับเข้าสู่แหล่งกักเก็บปิโตรเลียม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดกระบวนการผลิตที่สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้ง ได้นำยานขับเคลื่อนใต้น้ำแบบอัตโนมัติ (AUV) มาใช้ในการตรวจสอบและบำรุงรักษาอุปกรณ์ใต้น้ำให้มีความปลอดภัยอยู่เสมอ และอยู่ในระหว่างศึกษาการจัดวางปะการังเทียมรูปแบบโครงสร้างเหล็ก จากกระบวนการรื้อถอนสิ่งติดตั้งและอุปกรณ์ต่าง ๆ จากการผลิตปิโตรเลียม เพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลต่าง ๆ

ต่อมา คือ การตรวจติดตามสุขภาพของมหาสมุทรและความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น การศึกษาและวิเคราะห์ปริมาณไมโครพลาสติก ซึ่งเป็นการวิจัยครั้งแรกในอ่าวไทย ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ การติดตั้งทุ่นสมุทรศาสตร์เพื่อวัดคุณภาพน้ำทะเลที่เกาะมันใน จังหวัดระยอง ร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง การติดตั้งกล้องใต้น้ำบริเวณขาแท่นผลิตปิโตรเลียมของ ปตท.สผ.ซึ่งอยู่กลางทะเล เพื่อติดตามและจัดทำข้อมูลสัตว์ทะเล รวมทั้ง การใช้โดรนจากเออาร์วี ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ปตท.สผ. บินสำรวจระบบนิเวศชายฝั่ง บริเวณสถานีวิจัยคณะประมง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี และแนวปะการัง บริเวณเกาะมันใน จังหวัดระยอง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับทะเลทั้งบริเวณใกล้ชายฝั่ง และกลางทะเล เพื่อหาแนวทางการป้องกัน ฟื้นฟู ดูแล และอนุรักษ์ทะเลอย่างเป็นแบบแผนต่อไป

สำหรับการฟื้นฟู ดูแล อนุรักษ์ทะเลบริเวณชายฝั่ง ปตท.สผ. ได้จัดทำโครงการเพื่อการป้องกันมลภาวะจากบนบกลงสู่ทะเล ด้วยการสร้างโมเดลการบริหารจัดการขยะทะเล ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย นำเทคโนโลยีในการกำจัดและแปรรูปขยะ รวมทั้ง การสร้างความรู้ความเข้าใจกับชุมชนในการนำขยะกลับมาใช้ใหม่และสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น การนำพลาสติกเหลือใช้มาทำกระเบื้อง กระถาง และทุ่นแนวเขตอนุรักษ์ ซึ่งดำเนินการควบคู่ไปกับสร้างจิตสำนึกให้ชุมชนตระหนักถึงความสำคัญของทะเล รวมไปถึงการฟื้นฟูป่าชายเลนที่เสื่อมโทรม เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์พื้นที่ป่าชายเลน ซึ่ง ปตท.สผ. มีเป้าหมายปลูกป่าชายเลนกว่า 5,000 ไร่ ในพื้นที่จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ให้เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ และช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ เพื่อลดภาวะโลกร้อน

สำหรับการปกป้องสัตว์ทะเลหายาก เช่น เต่าทะเล ปตท.สผ. ได้สนับสนุนศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล กองทัพเรือ สัตหีบ ในการปรับปรุงบ่ออนุบาลเต่าในช่วงวัยต่าง ๆ ให้มีมาตรฐานสากล เพื่อเพิ่มอัตรารอดของลูกเต่า ซึ่งตามธรรมชาติแล้ว มีอัตรารอดเพียง 1-2 ตัวต่อไข่เต่า 1,000 ฟอง รวมทั้ง สนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น เครื่องมือผ่าตัด เครื่องเลเซอร์สมานแผลให้กับโรงพยาบาลเต่าทะเล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาเต่า ที่ผ่านมา สามารถช่วยเหลือเต่าที่เจ็บป่วยและบาดเจ็บได้กว่า 2,000 ตัว และตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน สามารถปล่อยเต่าคืนสู่ธรรมชาติแล้วกว่า 10,000 ตัว ศูนย์ฯ นี้ ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมอีกด้วย

ส่วนสัตว์น้ำเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของชาวประมง ปตท.สผ. ได้ร่วมกับชุมชนจัดตั้ง ศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักสัตว์น้ำเศรษฐกิจ เพื่อเป็นแหล่งถ่ายทอดองค์ความรู้ ส่งเสริมการทำประมงพื้นบ้านเชิงอนุรักษ์ และเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำให้สมดุลกับการจับขาย โดยเริ่มจากการขยายพันธุ์ปู สามารถสร้างเครือข่ายชุมชนที่เข้มแข็ง และขยายผลสู่สัตว์น้ำเศรษฐกิจอื่น ๆ เช่น กุ้ง หอย ปลาหมึก โดย ปตท.สผ.มีเป้าหมายจะจัดตั้งศูนย์ฯ ดังกล่าวใน 17 จังหวัดรอบอ่าวไทย ซึ่งปัจจุบัน ได้จัดตั้งแล้ว 5 ศูนย์ฯ ในจังหวัดสงขลา ปัตตานี และนครศรีธรรมราช สามารถเพาะฟักลูกปูและนำไปปล่อยคืนสู่ทะเลได้กว่า 5,000 ล้านตัว และช่วยให้ชาวประมงพื้นบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยครัวเรือนละ 60,000 บาทต่อปี

การจัดตั้งศูนย์ฯ ยังทำควบคู่ไปกับ การวางซั้ง หรือ บ้านปลา จากภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัสดุจากธรรมชาติ เพื่อเพิ่มแหล่งที่อยู่อาศัยให้กับสัตว์น้ำวัยอ่อน นอกจากนี้ ยังสนับสนุนชุมชนตั้ง กลุ่มอาชีพผลิตและจำหน่ายอาหารทะเล พัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้มีมาตรฐานยิ่งขึ้น และจัดจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อเพิ่มการเข้าถึงสินค้าของผู้บริโภค

อีกหนึ่งโครงการสำคัญที่ดำเนินการมาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว คือ โครงการแหล่งเรียนรู้เรือหลวงไทยใต้ทะเล ซึ่ง ปตท.สผ. ได้ร่วมกับกองทัพเรือ หน่วยงานราชาการ องค์กร และชุมชน นำเรือรบหลวงที่ปลดประจำการจากกองทัพเรือ มาทำเป็นแนวปะการังเทียม โดยวางเรือหลวงปราบ ที่เกาะง่ามน้อย จังหวัดชุมพร และเรือหลวงสัตกูด ที่เกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี ปัจจุบัน เรือทั้ง 2 ลำ เป็นบ้านที่อุดมสมบูรณ์ของสัตว์ทะเล มีปลาเพิ่มขึ้น 60-70 ชนิด รวมทั้ง สัตว์น้ำ ปะการัง และสัตว์เกาะติด และยังพบเห็นฉลามวาฬอยู่เสมอ บริเวณเรือหลวงทั้ง 2 ลำ จัดเป็นแหล่งดำน้ำที่สวยงาม มีชื่อเสียงระดับโลก ซึ่งในสถานการณ์ปกติ สามารถสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้กับชุมชนได้ถึงปีละกว่า 59 ล้านบาท

ภารกิจ “ทะเลเพื่อชีวิต” ไม่ได้มีเพียงเท่านี้ ปตท.สผ. ยังมุ่งหวังที่จะเป็น “ศูนย์ข้อมูลทางทะเล” ที่เชื่อมโยงโครงข่ายข้อมูลกับหน่วยงานต่างๆ ตลอดจนให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูล เพื่อร่วมกันพิทักษ์ อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล และร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างรอยยิ้มและคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเพื่อนบ้านของเราตามความมุ่งหมาย “ทะเลเพื่อชีวิต” ของเรา


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน