ตลอด 2 ปีที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 สังคมไทยและสังคมโลกต่างเจอความเปลี่ยนแปลงมากมาย ผู้คนต้องปรับเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิต แตกต่างไปจากที่เคยเป็น หนึ่งในความท้าทายที่เกิดขึ้น คือ ความไม่รู้และความไม่เข้าใจถึงพฤติกรรมสุขภาพและสุขภาวะ ซึ่งส่งผลต่อปัญหาสุขภาพของคนไทยอย่างต่อเนื่อง

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงจัดงาน ‘Thaihealth Watch‘ ขึ้นเป็นปีที่ 3 ซึ่งปีนี้อยู่ภายใต้แนวคิด ‘Adaptive Living’ ปรับการใช้ชีวิต พร้อมก้าวไปในยุคโควิด-19 กับเทรนด์สุขภาพ ปี 2565 โดยร่วมกับ สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด และภาคีเครือข่ายทางวิชาการ สรุปพฤติกรรมและภาวะสุขภาพของคนไทย พร้อมจับตามทิศทางสุขภาพของคนไทยในปีหน้า

10 เทรนด์สุขภาพน่าจับตามอง ปี 2565

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. ได้เปิด 10 ประเด็นทิศทางสุขภาพคนไทย ที่มีผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และประเด็นที่ยังเป็นกระแสต่อเนื่องจากปีนี้ ซึ่งครอบคลุม 3 หลักการสำคัญ คือ 1.สถานการณ์สุขภาพคนไทย (Situation) ปี 2563 – 2564 เพื่อเห็นทิศทางหรือแนวโน้มโรคที่เกิดขึ้น รวมถึงสถิติเชิงประเด็นที่เกี่ยวข้อง 2.กระแสความสนใจในสื่อสังคมออนไลน์ (Social Trend) ที่สะท้อนแนวโน้มพฤติกรรมสุขภาพของคนไทย และ 3.ข้อแนะนำ(Solution) ทั้งในระดับปัจเจกบุคคล อาทิ แพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อตรวจสอบข่าว โคแฟค มาตรการชุมชนเพื่อชุมชน Home-Community Isolation หลักสูตรเลี้ยงลูกออนไลน์ NET PA-MA และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อสังคม อาทิ ร่างกฎหมายอากาศเพื่อสุขภาพ ลดปัญหามลพิษทางอากาศ สนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านถุงยางอนามัย (พ.ศ. 2563-2573) ลดปัญหาท้องไม่พร้อม และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

“การดำเนินชีวิตปี 2565 ที่ยังมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่ จำเป็นต้องเรียนรู้ และปรับตัวให้มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ปลอดภัยและส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”

ด้าน นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. กล่าวว่า Thaihealth Watch ถือเป็นนวัตกรรมที่เชื่อมโยงประเด็นทิศทางสุขภาพคนไทย ปี 2565 ใน 4 มิติ ได้แก่ มิติทางกาย จิต ปัญญา และสังคม ซึ่งมี 10 ประเด็นที่น่าจับตาต่อเนื่องจากปี 2564

ประเด็นที่เกี่ยวข้องทางกายและจิต มีทั้ง 1. โควิดกลายพันธุ์ ทำให้ต้องดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ต้องเรียนรู้และปรับตัวเมื่อต้องอยู่กับโควิด-19 2. ดูแลสุขภาพซึ่งกันและกัน ลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพของคนในชุมชน 3. สร้างความมั่นคงทางอาหาร ลดโภชนาการขาด-เกิน เพิ่มโอกาสให้คนด้อยโอกาส คนไร้บ้าน เข้าถึงแหล่งอาหาร รวมถึงเด็ก กลุ่มเรียนออนไลน์ ที่รับประอาหารเดลิเวอรี่เกินความจำเป็น 4. ส่งเสริมการเลี้ยงลูก ที่เป็นการเรียนรู้ด้วยจิตวิทยาเชิงบวก เน้นการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง ชุมชน รวมถึงสังคม 5. รณรงค์และร่วมแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนและสังคม เพื่อสร้างบ้านให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย

ส่วนประเด็นที่เกี่ยวข้องกับปัญญาและสังคม คือ 6. สร้างทักษะการรู้เท่าทันสื่อ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันเกี่ยวกับข่าวลวงบนโลกออนไลน์อย่างมีประสิทธิภาพ 7. สร้างค่านิยม จิตวิทยาเชิงบวก และกลไกเฝ้าระวังทางสังคม เพื่อเป็นมาตรการเฝ้าระวัง พนันออนไลน์ของเด็กไทย ที่พบว่า 37.6% ถูกหลอกให้เล่นพนันออนไลน์ โดย 30% ใช้เงินเล่นมากกว่า 1,000 บาทต่อครั้ง 8. เด็กไทยใส่ถุงยางเพิ่ม แต่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ยังคงพุ่ง เนื่องจากการเข้าไม่ถึงถุงยางและค่านิยมของคู่นอน 9. ขยะหน้ากากอนามัย พิษภัยที่กำลังล้นเมือง และ 10. อากาศสะอาด เน้นการมีส่วนร่วม เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะมลพิษจากฝุ่น PM 2.5

สสส. พร้อมนำเสนอแนวทางการทำงานที่สามารถช่วยแก้ไข บรรเทา ปัญหาทิศทางสุขภาพ 10 ประเด็นสุขภาพ เพื่อสร้างความตระหนักรู้และขยายผลให้กว้างขวางมากขึ้น อาทิ โครงการปทุมวันโมเดล สร้างโมเดลจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน สู่เมืองนวัตกรรมแห่งยุค 4.0 โครงการตามสั่ง-ตามส่ง แพลตฟอร์มส่งอาหาร-ส่งคนจากความร่วมมือชุมชน รวมถึงคู่มือต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นแนวทางการใช้ชีวิตในยุคโควิด-19ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว

ชูแนวคิด ‘Adaptive Learning’ เอาตัวรอดยุคโควิด-19

ขณะที่ นพ.ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล จิตแพทย์ประจำโรงพยาบาลไทยนครินทร์ และอดีตผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิต สสส. กล่าวเสริมประเด็นเด็กไทย เมื่อต้องเรียนออนไลน์ในยุคโควิด-19 ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกจากจะส่งผลให้เด็กขาดโอกาสทางการศึกษาแล้ว ยังเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อพฤติกรรมสุขภาพและพฤติกรรมทางสังคม ทั้งยังเพิ่มโอกาสเกิดการตั้งครรภ์ในวัยเด็ก ปัญหายาเสพติด รวมถึงอาจเกิดการต่อต้านสังคมตามมา

นพ.ประเวช แนะนำว่า พ่อแม่ และผู้ปกครอง ควรร่วมวางแผนการเรียนรู้ของเด็ก ต้องมีความเข้าใจด้านอารมณ์และความต้องการของเด็ก ไม่ควรมอบพื้นที่การเรียนรู้ทั้งหมดไว้ที่โรงเรียน ควรแบ่งพื้นที่การเรียนตามวิชา และพื้นที่การใช้ชีวิต การมีวินัย ทักษะด้านอารมณ์ รวมถึงการเข้าหาสังคมให้เด็ก

พร้อมแนะนำการดูแลลูกยุคโควิด 3 ประเด็นด้วยกัน คือ 1. สร้างรากฐานจากพื้นที่ความสัมพันธ์ให้ดี คือ ควรคาดหวังในระดับที่เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็กแต่ละช่วงวัย ผ่านปฏิสัมพันธ์ที่เข้าใจ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการฝึกฝนตัวเอง และสร้างวินัยการดำรงชีวิตได้ 2. เสริมพื้นที่พัฒนาการเรียนรู้ที่หลากหลาย เน้นกระบวนการเรียนรู้ที่สามารถวางรากฐานให้เด็กค้นเจอตัวเองได้มากยิ่งขึ้น และ 3. ประสานพื้นที่เข้าด้วยกัน คือ โรงเรียน พ่อแม่ และเด็ก ต้องปรับตัวเพื่อสามารถรับมือกับสถานการณ์ที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

เมื่อเข้าใจประเด็นการเลี้ยงลูกทั้ง 3 หัวข้อ เราสามารถปรับทัศนคติการมองลูกของเรา ว่าแท้จริงแล้วเกิดอะไรขึ้นกับเด็กบ้าง เพื่อปูพื้นฐานการก้าวสู่สังคมและโลกศตวรรษที่ 21 อย่างรู้เท่าทัน สิ่งสำคัญ คือ ทุกฝ่ายต้อง Adaptive Learning เรียนรู้และปรับตัวยุคโควิด-19 ให้ได้”

ท้ายนี้ สสส. เปิดให้ประชาชนและผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดข้อมูล Thaihealth Watch 2022 จับตาทิศทางสุขภาพคนไทย ปี 2565 ได้ที่เว็บไซต์ https://resourcecenter.thaihealth.or.th/thaihealth-watch


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน