ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ยังมีอีกหนึ่งภัยคุกคามทางสุขภาพที่เป็นความท้าทาย
ของไทยมาอย่างต่อเนื่อง นั่นก็คือ “วัณโรค” (Tuberculosis – TB) จากข้อมูลของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในปี 2563 ประเทศไทยมีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่จำนวนมากกว่า 105,000 รายต่อปี หรือคิดเป็น 150 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน และมีผู้เสียชีวิตจากวัณโรคถึง 10,000 รายต่อปี หรือเฉลี่ยวันละไม่ต่ำกว่า 40 คน จะเห็นได้ว่า วัณโรคยังเป็นสาเหตุหลักและเป็นภัยเงียบที่คร่าชีวิตคนไทยเป็นจำนวนมาก ดังนั้นหนทางเดียวที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถพิชิตวัณโรคได้ คือการเดินหน้าค้นหาผู้ป่วยวัณโรคเชิงรุก พร้อมดึงเทคโนโลยีทางการแพทย์มาใช้ในการตรวจวินิจฉัย เพื่อหยุดการแพร่เชื้อ โดยตั้งเป้าการรักษาให้ครอบคลุมร้อยละ 90 ของผู้ป่วยภายในปี 2568

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายระดับประเทศนี้ ฟูจิฟิล์ม ประเทศไทย ร่วมกับ ราชวิทยาลัยรังสีแพทย์แห่งประเทศไทย จัดงานสัมมนาเรื่อง “End TB”, Where are we and what’s next? เพื่อเปิดมุมมองทางการรักษาและช่วยเพิ่มโอกาสการรักษาให้แก่ผู้ป่วยวัณโรคอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

แพทย์หญิงผลิน กมลวัทน์ ผู้อำนวยการกองวัณโรค กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า “วัณโรคเป็นโรคที่มีมายาวนานกว่า 100 ปี และยังคงมีการแพร่ระบาดอยู่อย่างต่อเนื่อง ความท้าทายที่สำคัญในการรับมือต่อโรคนี้คือการเข้าถึงผู้ป่วยนอกระบบให้ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งก่อนหน้านี้ประเทศไทยเป็น 1 ใน 14 ประเทศที่องค์การอนามัยโลก (WHO) จัดเป็นกลุ่มประเทศที่มีภาระวัณโรคสูง (High TB Burden) และจากความพยายามร่วมกันของทุกฝ่าย ทำให้ในปี 2564 ประเทศไทยพ้นจากการเป็น 1 ใน 14 ประเทศที่มีปัญหาวัณโรคดังกล่าว โดยสามารถลดอุบัติการณ์ของโรควัณโรคได้ร้อยละ 10 เพิ่มอัตราการรักษาได้ร้อยละ 80 และลดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการรักษาลงได้ถึงร้อยละ 30

ดังนั้น การจะยุติการแพร่ระบาดของวัณโรคให้หมดได้ คือการค้นหาผู้ติดเชื้อให้เร็ว ด้วยการใช้มาตรการเชิงรุก เพื่อระงับการแพร่ระบาดของเชื้อ พร้อมทั้งใช้นวัตกรรมทางการแพทย์ที่ทันสมัย อย่างล่าสุดมีการดึงเครื่องเอกซเรย์ระบบดิจิทัลที่มีเทคโนโลยี AI มาใช้ในการวินิจฉัยร่วมกับวิธีการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้ออณูจุลชีววิทยา (Molecular technique) ที่สามารถอ่านผลเอกซเรย์ได้ทันที ซึ่งต่างจากการวินิจฉัยผลแบบเดิมที่ใช้การเก็บตัวอย่างไปเข้าห้องแล็บ เพื่อทำการวิเคราะห์ ซึ่งมีความล่าช้าและมีค่าใช้จ่ายสูง กว่าจะทราบผลเชื้อก็เกิดการแพร่กระจายไปมากแล้ว โดยกรมควบคุมโรคได้ตั้งเป้าหมายว่า ประเทศไทยต้องขยายการรักษาให้ครอบคลุมร้อยละ 90 ของผู้ป่วยภายในปี 2568 จากเดิมที่ทำได้เพียงร้อยละ 84”

ทางด้าน นายอดิสรณ์ ท่าพริก ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เจ.เอฟ.แอดวาน เมด จำกัด กล่าวถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทางรังสีวิทยาและสารสนเทศ เพื่อตอบสนองนโยบายการกำจัดวัณโรค ว่า “การตรวจค้นหาผู้ป่วยวัณโรคเชิงรุกเป็นวิธีการที่สำคัญ เพื่อยุติการแพร่ระบาดของวัณโรคและให้ได้ผลสัมฤทธิ์ตามที่กรมควบคุมโรคตั้งเป้าหมายไว้ ยิ่งตรวจได้เร็วเท่าไหร่ เราก็จะสามารถควบคุมโรคได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องนำนวัตกรรมทางเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเสริมการทำงาน เพราะการวิเคราะห์ข้อมูลต้องมีความรวดเร็วและแม่นยำ และยิ่งไปกว่านั้น ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์และสารสนเทศก็ช่วยให้อุปกรณ์ทางการแพทย์มีขนาดเล็กลงและเคลื่อนย้ายสะดวก สามารถเข้าถึงผู้ป่วยในหลายพื้นที่ อีกทั้งยังสามารถเชื่อมต่อเข้าเครือข่ายศูนย์จัดเก็บข้อมูลผ่านระบบ VPN Tunnel Site to Site ที่สามารถจัดเก็บข้อมูลผู้ป่วยได้อย่างเป็นระบบในที่เดียว มีความปลอดภัยและเสริมประสิทธิภาพการตรวจเชิงรุกได้ดียิ่งขึ้น ลดความล่าช้าของการรักษาผู้ป่วยวัณโรค

มร.ยูโตะ คุมาไก ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟูจิฟิล์ม (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ฟูจิฟิล์ม มุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมเพื่อการดูแลสุขภาพ และเครื่องมือทางการแพทย์จากความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจผลิตฟิล์มถ่ายภาพ โดยมีเป้าประสงค์เพื่อลดภาระทางการแพทย์ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทย และเมื่อเร็ว ๆ นี้เรายังได้ประกาศแคมเปญใหญ่ระดับโลก “NEVER STOP” เพื่อตอกย้ำความมุ่งมั่นในการเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนสถานการณ์วัณโรคในประเทศไทย ผ่านทางเทคโนโลยี ซึ่งเป็นนวัตกรรมสร้างสรรค์ของฟูจิฟิล์ม เราเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมทางเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ประสานเทคโนโลยี AI เพื่อพัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น เครื่องเอกซเรย์ดิจิทัลเคลื่อนที่ อย่าง FDR X Air และ FDR Nano ซึ่งเป็นเครื่องเอกซเรย์ดิจิทัลเคลื่อนที่ที่ใช้ในการวินิจฉัยวัณโรคปอด และสอดคล้องกับมาตรฐานเครื่องเอกซเรย์ที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ (WHO) โดยสามารถช่วยบุคลากรทางการแพทย์วินิจฉัย และระบุตำแหน่งความผิดปกติในปอดได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ เพิ่มประสิทธิภาพทางการรักษาและลดอัตราการเสียชีวิต นวัตกรรมทางการแพทย์ของเราได้รับการยอมรับและนำไปใช้อย่างกว้างขวางในหลายพื้นที่ ในสถาบันทางการแพทย์ และโรงพยาบาลชั้นนำอย่างแพร่หลายทั่วโลก

วัณโรคเป็นภัยเงียบตัวร้ายของสังคมไทย ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าถึงผู้ป่วยนอกระบบ เพื่อลดความล่าช้าในการวินิจฉัยและการรักษา รวมถึงการป้องกันการแพร่กระจายของโรค เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าก็เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูง ช่วยลดอาการรุนแรงและอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยวัณโรค อันจะนำไปสู่การยุติปัญหาวัณโรคของประเทศไทยได้ในที่สุด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน