นับเป็นอีกห้วงเวลาสำคัญที่ทั่วโลกต้องเผชิญกับวิกฤตพลังงานครั้งใหญ่อีกครั้ง เพราะความต้องการพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นจากเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน และปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ลดลง ในขณะที่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดยังมีความผันผวนและไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้ราคาเชื้อเพลิงทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหินดีดตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์

พลิกวิกฤตเป็นโอกาสด้านพลังงาน
หากเรามองย้อนกลับไปในอดีตจะเห็นว่าทุกครั้งที่ประเทศไทยต้องเผชิญวิกฤตพลังงานจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานครั้งใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ไทยประสบปัญหาขาดแคลนไฟฟ้าอย่างหนัก ทำให้รัฐบาลในขณะนั้นมีแนวคิดที่จะสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ คือ โครงการเขื่อนยันฮี จ.ตาก (ปัจจุบันคือ เขื่อนภูมิพล) ซึ่งไทยต้องขอกู้เงินจากธนาคารโลกถึง 65 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีเงื่อนไขว่า ต้องชำระหนี้คืนด้วยตัวเอง ห้ามเอาเงินงบประมาณไปคืน และห้ามการเมืองเกี่ยวข้อง ทำให้นายเกษม จาติกวณิช อดีตผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดร.สายหยุด แสงอุทัย และนายพร แก่นเพ็ชร ต้องร่างกฎหมายท่ามกลางไฟฟ้าที่ติดๆ ดับๆ เพื่อเสนอต่อสภาฯ จึงเรียกขานร่างพระราชบัญญัติการไฟฟ้ายันฮีฉบับนี้ว่า “พ.ร.บ.ใต้แสงเทียน” จนในที่สุดไทยสามารถสร้างเขื่อนยันฮีพร้อมโรงไฟฟ้าพลังน้ำแห่งแรกของประเทศไทยในปี 2507 ทำให้มีกำลังไฟฟ้ามากพอที่จะทำให้พื้นที่ต่างๆ สว่างไสวเพียงพอสำหรับการใช้ชีวิตที่สะดวกสบาย ต่อมารัฐบาลได้ควบรวม 3 หน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับการผลิตไฟฟ้าคือ การไฟฟ้ายันฮี การไฟฟ้าลิกไนท์ และการไฟฟ้าตะวันออกเฉียงเหนือให้เป็นหน่วยงานเดียวกันคือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2512 ทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบการจัดหาไฟฟ้าให้เกิดความมั่นคงและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

การก่อสร้างเขื่อนยันฮี
หลังจากนั้นในปี 2516 และ 2522 ไทยต้องเผชิญกับวิกฤตราคาน้ำมันโลกที่ขยับสูงขึ้น 10 เท่าตัว ทำให้ กฟผ. ต้องทบทวนนโยบายเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าใหม่ โดยตัดสินใจนำเอาก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยมาใช้เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าแทนน้ำมันเตาและน้ำมันดีเซลที่โรงไฟฟ้าบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา

“ตอนนั้นผมมุ่งอยู่อย่างเดียวอยากจะเอาก๊าซธรรมชาติขึ้นมาให้ได้ เพราะถ้าไม่รีบแก้ปัญหานี้ เมืองไทยก็จะไม่มีวันแก้ปัญหาน้ำมันได้” นายเกษม จาติกวณิช อดีตผู้ว่าการ กฟผ. กล่าว

การนำก๊าซธรรมชาติมาผลิตไฟฟ้าในขณะนั้นถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของไฟฟ้าไทยที่สะท้อนถึงความสำเร็จในการพึ่งพาพลังงานในประเทศ ทำให้มีไฟฟ้าใช้อย่างมีเสถียรภาพ ในราคาที่เหมาะสม

ดังนั้นวิกฤตพลังงานในปี 2565 จึงเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญที่ช่วยเร่งให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดรวดเร็วมากขึ้น

เร่งเดินหน้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดตอบโจทย์พลังงานสะอาด-ต้นทุนต่ำ
การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของภาคพลังงานเป็นหนึ่งในแนวทางหลักที่หลายประเทศให้ความสำคัญและเร่งเดินหน้าเพื่อสนับสนุนเป้าหมายดังกล่าว เช่นเดียวกับประเทศไทยที่แสดงความจริงจังในเรื่องนี้ด้วยการเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำในเขื่อนของ กฟผ. หรือโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด ซึ่งตอบโจทย์ทั้งพลังงานไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและลดต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าของประชาชน เนื่องจากเป็นการผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานระหว่างพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีอยู่อย่างไม่จำกัด ไม่มีต้นทุนค่าเชื้อเพลิง โดยทำงานร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำของ กฟผ. ที่มีอยู่เดิม

ปัจจุบันโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธรถือเป็นต้นแบบโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดแบบผสมผสานแห่งแรกของไทยที่เห็นผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้า เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากและส่งเสริมการท่องเที่ยว กฟผ. จึงตั้งเป้าเร่งดำเนินโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดให้ครบ 2,725 เมกะวัตต์ ตามแผน PDP2018 Rev.1 ภายใน 5-10 ปี สำหรับใน 2565 กฟผ. ได้เร่งเดินหน้าโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนอุบลรัตน์ กำลังผลิต 24 เมกะวัตต์ พร้อมติดตั้งแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน (BESS) เพื่อช่วยในการบริหารจัดการไฟฟ้าทำให้ระบบไฟฟ้ามีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น

พัฒนาโครงข่ายระบบไฟฟ้าให้ทันสมัย ปิดจุดอ่อนพลังงานหมุนเวียน
นอกจากการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดแล้ว กุญแจสำคัญที่จะช่วยทำให้เปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดเป็นไปอย่างราบรื่นคือ การพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย (Grid Modernization) สามารถนำพลังงานหมุนเวียนมาปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม โดยไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบผลิตไฟฟ้าในภาพรวม อาทิ

  • ระบบพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Forecast) สามารถพยากรณ์กำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ทุก ๆ ครึ่งชั่วโมงจนถึงอีก 7 วันข้างหน้า ทำให้สามารถบริหารจัดการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนควบคู่กับโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงอื่น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
  • ติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (BESS) ภายในสถานีไฟฟ้าแรงสูง เพื่อลดความผันผวนที่เกิดขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยนำร่องที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ และสถานีไฟฟ้าแรงสูงชัยบาดาล จ.ลพบุรี
  • ปรับปรุงสถานีไฟฟ้าแรงสูงดิจิทัล (Digital Substation) เพื่อเพิ่มความสามารถในการควบคุมและส่งจ่ายไฟฟ้าอย่างมีเสถียรภาพ โดยเตรียมนำร่องเข้าใช้งานในปี 2565 จำนวน 2 แห่ง คือ สถานีไฟฟ้าแรงสูงกันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ และสถานีไฟฟ้าแรงสูงตราด จ.ตราด

บริการพลังงานต้องยืดหยุ่น ตอบโจทย์ผู้ใช้ไฟที่หลากหลาย
ปัจจุบันความต้องการใช้ไฟฟ้าของประชาชนมีความหลากหลายมากขึ้น กฟผ. จึงปรับรูปแบบธุรกิจสู่บริการด้านพลังงานอย่างครบวงจร (Energy Solutions Provider) เพื่อตอบโจทย์ความต้องการผู้ใช้ไฟทุกกลุ่ม เช่น

  • ธุรกิจ EGAT EV Business ตอบโจทย์ความต้องการผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ โดยปัจจุบัน กฟผ. ได้ขยายสถานี EleX by EGAT ทั้งแบบชาร์จเร็วและชาร์จธรรมดาในพื้นที่ต่าง ๆ จำนวน 49 สถานีทั่วประเทศ และในปี 2565 ตั้งเป้าจะขยายสถานีให้ได้รวมกว่า 120 สถานี พัฒนาแอปพลิเคชัน EleXA สำหรับบริการค้นหา ชาร์จ และจ่ายเงิน พัฒนา BACKEN ซึ่งเป็นระบบบริหารจัดการสถานีชาร์จ รวมถึงให้บริการดูแลและติดตั้งอุปกรณ์ชาร์จอีวีอัจฉริยะภายใต้แบรนด์ Wallbox เพื่อสนับสนุนการสร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ

  • ธุรกิจจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (L NG) เร่งจัดหาและนำเข้า LNG แบบตลาดจร เพื่อช่วยลดต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า โดยในช่วงวิกฤตพลังงานสามารถแบ่งเบาภาระประชาชนประมาณ 500 ล้านบาท พร้อมเดินหน้าร่วมทุนโครงการก่อสร้างคลังจัดเก็บและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติเหลวแห่งที่ 2 ที่ ต.หนองแฟบ จ.ระยอง กับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อขยายโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติในประเทศ สนับสนุนความมั่นคงทางพลังงานของประเทศในระยะยาว คาดว่าจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในเดือนพฤศจิกายน 2565
  • บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด ลุยธุรกิจนวัตกรรมพลังงานและเทคโนโลยีแห่งอนาคต (New S-curve) เช่น เทคโนโลยีการทำตลาดซื้อขายไฟฟ้า การซื้อขายคาร์บอนเครดิต

เพิ่มพื้นที่สีเขียว ดูดซับคาร์บอน
นอกจากการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าแล้ว การดูแลสังคมชุมชนให้อยู่ดีมีสุขก็เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดำเนินการอย่างจริงใจและต่อเนื่อง ซึ่ง กฟผ. ได้ผนึกกำลังภาคีเครือข่ายสานต่อโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2537 สู่โครงการปลูกป่าล้านไร่อย่างมีส่วนร่วมเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยตั้งเป้าปลูกป่า 1 ล้านไร่ ภายในระยะเวลา 10 ปี ระหว่างปี พ.ศ.2565 – 2574 ทั้งป่าต้นน้ำ ป่าบก และป่าชายเลน รวมถึงพัฒนาแพลตฟอร์มบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะ (Enzy Platform) สำหรับติดตามและควบคุมการประหยัดพลังงานรายอาคาร ปัจจุบันนำร่องใช้งานในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่และกลุ่มอุตสาหกรรม การจัดตั้งศูนย์ศึกษาและพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในพื้นที่ 7 เขื่อนพระนาม 3 โรงไฟฟ้า เพื่อร่วมส่งเสริมและสร้างภูมิคุ้มกันให้ชุมชนด้วยตามแนวทางศาสตร์พระราชา โครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 โดยมุ่งหวังให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

แม้วิกฤตพลังงานที่เกิดขึ้นจะทำให้การดำเนินงานต่าง ๆ ของ กฟผ. ต้องทำด้วยความรอบคอบมากขึ้น แต่การพัฒนาพลังงานไฟฟ้าเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดยังจำเป็นต้องเร่งเดินหน้าควบคู่กับการสร้างสมดุลพลังงานโดยคำนึงถึงประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญตามแนวคิด “EGAT for ALL : กฟผ. เป็นของคนไทยทุกคนและทำเพื่อทุกคน” เพื่อชูศักยภาพความมั่นคงทางพลังงานอย่างยั่งยืนของประเทศที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อันจะเป็นแต้มต่อสำคัญของประเทศไทยในการสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุนบนเวทีเศรษฐกิจการค้าโลกต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน