เมื่อไม่นานมานี้ The Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศชั้นนำของประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติที่ทำหน้าที่ประเมินการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้ออกรายงานฉบับล่าสุดเกี่ยวกับวิกฤตโลกร้อนที่น่ากังวล เนื่องจากระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปัจจุบัน (กรณีแต่ละประเทศไม่มีมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก) จะทำให้โลกมีแนวโน้มร้อนขึ้นถึง 3.2 องศาเซลเซียส และแม้แต่ละประเทศจะดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้สำเร็จตามแผนที่วางไว้ภายใต้ Paris Agreement ก็จะรักษาระดับอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นได้เพียง 2.2 องศาเซลเซียส ซึ่งยังเป็นระดับที่แย่กว่าเป้าหมายสุดท้ายในการรักษาระดับอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส สะท้อนให้เห็นว่าโลกต้องการ Action ที่เร่งด่วนจากทุกประเทศมากกว่านี้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว

ล่าสุดสถานการณ์สำคัญอย่างสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน กลายเป็นปัจจัยใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อแผนการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนด้วย โดยสถานการณ์ดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะส่งผลทั้งในทางลบและบวกพร้อมกัน ซึ่งธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ระบุว่า ถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องกลับมาแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมควบคู่กับการเร่งพัฒนาพลังงานทดแทน

  • ถอยหลังกลับมา…การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมสะดุดลงจากการที่สหภาพยุโรป (European Union : EU) อาจต้องพึ่งพาถ่านหินเพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนการใช้ก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย โดยการที่ EU พึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียค่อนข้างมาก (นำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียในสัดส่วน 20% และ 45% ของปริมาณการนำเข้าทั้งหมดตามลำดับ) กลายเป็นจุดอ่อนที่รัสเซียใช้ตอบโต้มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจของ EU จนทำให้หลายประเทศต้องเร่งหาช่องทางลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย ซึ่งในระยะสั้นหลายประเทศอาจจำเป็นต้องกลับไปใช้พลังงานจากถ่านหินเพิ่มขึ้น สังเกตจากปริมาณการนำเข้าถ่านหินของ EU ในเดือนมีนาคม 2565 ที่เพิ่มขึ้นถึง 40% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการเปลี่ยนไปใช้พลังงานจากแหล่งอื่นต้องใช้ระยะเวลาในการลงทุนด้านโครงสร้าง ขณะที่โรงไฟฟ้าถ่านหินถือเป็นแหล่งพลังงานเดิมที่หลายประเทศเคยใช้เป็นหลักอยู่แล้ว โดยบางประเทศมีแผนที่จะใช้โรงไฟฟ้าถ่านหินที่ถูกถอดออกจากระบบเครือข่ายไฟฟ้าไปแล้วเป็นโรงไฟฟ้าสำรอง เพื่อให้สามารถเปิดดำเนินการได้ทันทีหากการนำเข้าพลังงานงานจากรัสเซียหยุดชะงักกะทันหัน ทั้งนี้ International Energy Agency (IEA) ระบุว่าการใช้พลังงานถ่านหินมีส่วนทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึงราว 40% ของโลก ดังนั้น การที่ EU อาจจำเป็นต้องกลับมาใช้ถ่านหินเพิ่มขึ้นจึงถือเป็นการก้าวถอยหลังในเส้นทางที่มีการลดโลกร้อนเป็นเป้าหมาย
  • เพิ่มจังหวะการรุกครั้งใหม่…มุ่งเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานทดแทนในระยะยาว เพื่อให้การแก้ปัญหาด้านพลังงานเป็นไปอย่างยั่งยืนในระยะยาว EU ได้ประกาศแผน REPowerEU ซึ่งมีเป้าหมายหลักในการยุติการนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียอย่างสิ้นเชิงภายในปี 2573 โดยส่วนหนึ่งจะทดแทนด้วยการกระจายแหล่งจัดหาก๊าซธรรมชาติจากผู้ผลิตรายอื่นอย่างสหรัฐฯ และกาตาร์ ขณะที่อีกส่วนหนึ่งจะเพิ่มการผลิตพลังงานทดแทนอื่น อาทิ ก๊าซชีวภาพ (ไบโอมีเทน) ซึ่งตั้งเป้าเพิ่มปริมาณการผลิตเป็น 3.5 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตรภายในปี 2573 (ทดแทนก๊าซธรรมชาติที่นำเข้าจากรัสเซียได้ราว 20%) รวมถึงตั้งเป้าเพิ่มการนำเข้าและผลิต Renewable Hydrogen อีก 15 ล้านตัน (ทดแทนก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียได้ราว 16-32%) สะท้อนให้เห็นว่าจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ก็มีส่วนเร่งให้เกิดการลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล และหันมาผลิตพลังงานทดแทนขึ้นเองเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานควบคู่ไปกับการลดปัญหาภาวะโลกร้อน

นอกจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน จะผลักดันให้ EU ลดการใช้พลังงานฟอสซิลในระยะยาวแล้ว ผลกระทบทางอ้อมของสงครามที่ทำให้ราคาพลังงานโลกปรับสูงขึ้น ก็ได้เพิ่มแรงจูงใจให้ประเทศอื่น ๆ หันมากระจายแหล่งพลังงานไปยังพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม หนทางสู่การแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนถือว่ายังอีกยาวไกลและไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ซึ่งจากรายงาน IPCC ที่กล่าวถึงข้างต้นได้ระบุว่าการจะรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ทุกประเทศต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 43% ภายในปี 2573 และต้องปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 นั่นหมายถึง โลกต้องใช้ถ่านหินลดลง 95% น้ำมันลดลง 60% และก๊าซธรรมชาติลดลง 45% ซึ่งผมมองว่าเป็นประเด็นที่ท้าทายเป็นอย่างมากและทุกประเทศต้องลงมือทำอย่างเป็นรูปธรรมในทันทีจึงจะสามารถช่วยให้โลกก้าวพ้นจากวิกฤตโลกร้อน

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เปิดเผยว่า EXIM BANK ในฐานะธนาคารเฉพาะกิจของรัฐที่มีบทบาทสนับสนุนการพัฒนาประเทศและส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ ให้ความสำคัญกับการทำหน้าที่พลเมืองที่ดีของโลก จึงดำเนินธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลที่ดีและการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในกระบวนการทำงาน มุ่งตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สู่เป้าหมายการเป็นธนาคารที่รับผิดชอบและยั่งยืน โดยดำเนินภารกิจ “ซ่อม สร้าง เสริม และสานพลัง” การพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะในปัจจุบันซึ่งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว การเร่งสร้างอุตสาหกรรมสู่อนาคตจึงดำเนินไปเพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว นั่นคือการเปลี่ยน “แรงกดดันของปัญหาและมาตรฐานใหม่ด้านสิ่งแวดล้อม” เป็น “โอกาสทางธุรกิจ” ที่จะเติบโตไปด้วยกันกับสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน EXIM BANK จึงได้กำหนดและดำเนินนโยบายด้านการบริหารจัดการการเงินอย่างมีความรับผิดชอบ มุ่งสนับสนุนธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากความท้าทายในมิติสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลที่ดี (Environmental, Social, Governance : ESG) และธุรกิจที่มุ่งให้เกิดผลตอบแทนทางการเงินควบคู่กับผลตอบแทนด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม อาทิ ธุรกิจสีเขียว และพลังงานทดแทนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ ที่ผ่านมา EXIM BANK สนับสนุนทางการเงินให้แก่ธุรกิจพลังงานทดแทนมากกว่า 254 โครงการ กำลังการผลิต 6,528 MW โดยเป็นการสนับสนุนทางการเงินรวม 57,561 ล้านบาท สร้างมูลค่าการลงทุน 375,454 ล้านบาท ทำให้ปัจจุบัน EXIM BANK มีสัดส่วนการสนับสนุนทางการเงินแก่ธุรกิจสีเขียวประมาณ 1 ใน 3 ของยอดคงค้างสินเชื่อโดยรวม

EXIM BANK ได้ออกนวัตกรรมผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม อาทิ “สินเชื่อ Solar Orchestra Loan” โดยความร่วมมือระหว่าง EXIM BANK กับองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) บริษัท ผลิตไฟฟ้าและพลังงานร่วม จำกัด และบริษัท นีโอ คลีน เอนเนอร์ยี่ จำกัด เพื่อสนับสนุนการลงทุนติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา พร้อมขึ้นทะเบียนขายคาร์บอนเครดิตให้แก่ผู้ประกอบการไทย ภายใต้การสนับสนุนเงินทุนจาก EXIM BANK 100% ของมูลค่าการลงทุน อัตราดอกเบี้ยต่ำสุด 2.75% ต่อปี ระยะเวลาผ่อนสูงสุด 7 ปี

วันนี้ถนนทุกสายในประเทศไทยกำลังมุ่งสู่เป้าหมายตามประกาศเจตนารมณ์ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในเวที COP 26 เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 โดยมีเป้าหมายสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี 2593 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2608 นับเป็นการเข้าร่วมแก้ไขปัญหาวิกฤตโลกร้อนอย่างเป็นรูปธรรม โดยภาครัฐจะเดินหน้าปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้แข็งแกร่งภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ขณะที่จะเห็นได้ว่าภาคธุรกิจของไทยก็กระตือรือร้นในการเร่งปรับตัวในเชิงรุกเพื่อรองรับการดำเนินมาตรการลดการปล่อยคาร์บอนที่เข้มข้นขึ้นในทุกภาคส่วนของโลก โดย EXIM BANK พร้อมสนับสนุนเพื่อยกระดับมาตรฐานของธุรกิจไทยสู่การเป็นธุรกิจคาร์บอนต่ำเพื่อเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานของโลกการค้าการลงทุนยุคใหม่ ขณะเดียวกันก็พร้อมผลักดันเศรษฐกิจ BCG ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของ EXIM BANK ในบทบาทธนาคารเพื่อการพัฒนา (Development Bank) ของไทย ที่จะเป็นทัพหน้าขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะในมิติที่เชื่อมโยงการค้าการลงทุนระหว่างประเทศกับการเติบโตอย่างยั่งยืนของสังคมและสิ่งแวดล้อมของโลก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน