เปิดตัว ‘KOYORI หลอมรวม สืบสาน งานหัตถศิลป์ ปี 2023’ หนังสารคดีที่ถ่ายทอดความงดงามของผลิตภัณฑ์และมรดกทางวัฒนธรรมของงานหัตถศิลป์ล้านนา จากหัตถกรรมท้องถิ่นสู่ทุนวัฒนธรรมของแผ่นดิน เริ่มออนแอร์กลางปี 2567

ท่ามกลางการเชื่อมโยงของผู้คนและสังคมที่มีอย่างไร้ขีดจำกัด นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบเชิงการใช้ชีวิตในทุกมิติ เช่นเดียวกับงาน หัตถศิลป์ อันเป็นจิตวิญญาณอันเป็นรากเหง้าของภูมิปัญญาสุดล้ำค่าแม้มองว่าคือของเก่า คือมรดกทางวัฒนธรรม แต่ความเป็นจริงแล้ว วิถีชีวิตยุคใหม่ไม่จำเป็นต้องแยกขาดออกจากคุณค่าเดิมที่เคยมีมา เพราะไอเดียดีๆ ล้วนดำเนินตามกันมาบนสายธารของภูมิปัญญา ที่ประยุกต์และต่อยอดอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสายจากรุ่นสู่รุ่น

สิ่งเหล่านี้ คือ การปรับตัวเรียนรู้ที่จะก้าวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนของการขับเคลื่อนของโครงการ KOYORI PROJECT ที่มุ่งมั่นนำงานศิลป์ท้องถิ่นพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้เหมาะกับยุคสมัย โดยเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2019 ภายใต้แกนนำความร่วมมืออย่าง สมาคมวัฒนหัตถศิลป์ล้านนา (LCCA) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ตลอดจนภาคีเครือข่ายทำงานร่วมอื่นๆ จนสามารถสร้างการรับรู้ ดึงดูดความสนใจของคนยุคใหม่สนใจงาน ‘ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน’ มากขึ้น

ล่าสุดถือเป็นอีกหนึ่งความร่วมมือที่เครือข่ายยังคงเดินหน้าสานต่อ KOYORI PROJECT สู่ KOYORI PROJECT 2023 ผ่านการทอดหนังสารคดี KOYORI หลอมรวม สืบสาน งานหัตถศิลป์ ปี 2023 ที่ถ่ายทอดความงดงามของผลิตภัณฑ์และมรดกทางวัฒนธรรมของงานหัตถศิลป์ล้านนา จากหัตถกรรมท้องถิ่นสู่ทุนวัฒนธรรมของแผ่นดิน

คุณค่า ‘หัตถศิลป์’ สู่ทุนวัฒนธรรม

นางมรกต ยิบอินซอย กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยิบอินซอย จำกัด หนึ่งในพาร์ตเนอร์ที่ร่วมผลักดัน KOYORI PROJECT มาอย่างต่อเนื่อง กล่าวว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ‘ยิบอินซอย’ ได้ร่วมมือกับภาคีอย่าง LCCA และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มาอย่างต่อเนื่องถึง 7 ปี ด้วยมุมมองที่เห็นถึงความสำคัญเรื่องการสนับสนุน การดำรงรักษา และการพัฒนาด้านศิลปะ วัฒนธรรม และประเพณี

ขณะเดียวกันยังเล็งเห็นถึงคุณค่าของงานหัตถศิลป์อันเป็นมรดกที่อันล้ำค่า ผ่านแนวทางความยั่งยืนด้วยการพัฒนาศักยภาพครูช่างที่มีภูมิปัญญาหัตถศิลป์ท้องถิ่น ผสมผสานความคิดสร้างสรรค์ของนักออกแบบรุ่นใหม่ทั้งชาวไทยและญี่ปุ่น หรือแม้แต่การหลอมรวมของวัฒนธรรมไทยและญี่ปุ่นที่มีความแตกต่างกัน สามารถแทรกซึมเข้าไปอยู่ในผลิตภัณฑ์ชิ้นเดียวกันอย่างกลมกลืน

“เราภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของ KOYORI ทำให้ได้เห็นขีดความสามารถ ไอเดียสร้างสรรค์ที่จะสามารถต่อยอดหรือยกระดับหัตถกรรมท้องถิ่นสู่ทุนวัฒนธรรมของแผ่นดิน จนเกิดผลงานที่สร้างรายได้ สร้างความภูมิใจในงานช่างของไทย รวมถึงสร้างให้คนรุ่นใหม่ได้เห็นคุณค่า งานหัตถศิลป์ของไทยต่อไปอีกด้วย” นางมรกต กล่าวด้วยสีหน้าปลาบปลื้ม

ขณะที่ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า การเกิดขึ้นของโครงการฯ สะท้อนให้เห็นถึงคุณค่า ‘หัตถศิลป์ล้านนา’ ที่มีความพิเศษ โดดเด่น และความเป็นมืออาชีพของทีมนักวิจัย ครูช่าง รวมถึงนักออกแบบรุ่นใหม่ทั้งคนไทยและญี่ปุ่น

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมผลักดันการนำเทคนิคและกระบวนการพัฒนาทักษะ เสริมสร้างศักยภาพของผู้ประกอบการหัตถกรรมพื้นเมือง ผลิตภัณฑ์ วัฒนธรรม รวมถึงการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพสู่การยกระดับให้มากยิ่งขึ้น

“ถือเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนนโยบายที่ต้องการมุ่งเน้นเพื่อความเป็นเลิศ ความมั่นคงของชีวิตและเศรษฐกิจ ด้วยการประสานการดำเนินงาน ด้านงานวิจัย และนวัตกรรมในประเด็นสำคัญของประเทศ”

KOYORI 2023 เรื่องราวที่มีมากกว่าเรื่องเล่า

ผู้อำนวยการ วช. กล่าวอีกด้วยว่า วช. พร้อมและเล็งเห็นถึงความสำคัญของงานหัตถศิลป์สู่การพัฒนาเป็นสิ่งที่สร้างโอกาส สร้างเศรษฐกิจ และการยอมรับด้านทุนวัฒนธรรมของประเทศ โดยสนับสนุนโครงการการยกระดับผลิตภัณฑ์หัตถกรรมชุมชนในภาคเหนือตอนบนด้วยนวัตกรรมสร้างสรรค์และทุนทางวัฒนธรรมและทรัพยากรท้องถิ่นสู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในยุควิถีชีวิตใหม่ KOYORI Project

“เราจะร่วมผลักดัน และขับเคลื่อนให้เกิดการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับทุนทางวัฒนธรรมมากยิ่งขึ้น พร้อมกับสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ ได้สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเข้ากับเทรนด์ของโลกในอนาคต” ดร.วิภารัตน์ กล่าว

ด้าน อินทพันธุ์ บัวเขียว รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ในฐานะภาคีความร่วมมือ KOYIRI 2023 กล่าวว่า KOYORI 2023 มีการดำเนินการมาแล้ว 7 ปี ภายใต้การขับเคลื่อนของสองแกนหลักอย่าง LCCA และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีฯ ถือเป็นการผลักดันเพื่อต่อยอดทักษะที่เป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นให้เป็นสินค้าที่ออกแบบให้เข้ากับยุคสมัยได้ดียิ่งขึ้น

ส่วนตัวมองว่าตัวโครงการนี้มีปรัชญาการทำงานที่ลึกซึ้ง นำมาสู่ให้ตัวผลงานต่างๆ มีฟังก์ชันการใช้งานและความสวยงามร่วมสมัย ทุกปีจะมีสินค้าหัตถศิลป์และหัตถกรรมที่ถูกพัฒนาออกมาอย่างมากมาย นับเป็นโครงการที่ลึกซึ้งมากๆ และ CEA ก็มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เข้ามาร่วมทำงานกับสนับสนุนโครงการทุกปี และขยายผลต่อไปทำให้เป็นที่รู้จักด้านการประชาสัมพันธ์และการตลาด

“อันหนึ่งที่ประทับใจมากๆ คือ เครื่องทอผ้าสำหรับผู้พิการทางสายตา อาจไม่ใช่สินค้าที่ชักออกมาใช้งาน แต่ว่าเป็นความลึกซึ้งที่ผู้ที่ทำงานด้านนี้เข้าไปและเห็นปัญหาของคนที่ทำงานอยู่แล้วก็ช่วยทำให้เขาสามารถที่จะทำงานหัตถกรรมได้ดียิ่งขึ้น”

‘รองฯ’ กล่าวอีกด้วยว่า จากความร่วมมือเพื่อผลักดันงานหัตถศิลป์ล้านนาภายใต้โครงการ KOYORI PROJECT 2023 นำมาสู่การผลิตหนังสารคดี KOYORI หลอมรวม สืบสาน งานหัตถศิลป์ ปี 2023 ซึ่งนอกจากเป็นการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์พื้นบ้านแล้ว ยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของงานหัตถศิลป์ล้านนาอีกด้วย โดยประชาชนสามารถรับชมหนังสารคดีชุดนี้ได้ทาง ThaiPBS

ความพิเศษของ KOYORI 2023 คือ นักศึกษานักออกแบบทุกคนต้องไปใช้ชีวิตเรียนรู้ทุนวัฒนธรรมในชุมชนนั้นๆ อาทิ เรื่องของประเพณีชนเผ่า, อาหารที่ไม่เคยรู้จัก, ธรรมชาติที่สวยงาม, ประวัติศาสตร์ต่างๆ ที่นำเสนอควบคู่ไปกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกันของครูช่างและนักศึกษาต่างวัยที่อาจเต็มไปด้วยปัญหา แต่สุดท้ายก็ลงเองด้วยดี ซึ่งผู้ชมจะได้รู้ว่าที่หมู่บ้านเล็กๆ บางแห่งกลับมีเรื่องราวน่าสนใจ และสามารถปักหมุดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมได้อีกด้วย

‘อินทพันธุ์’ ยังกล่าวถึงความสำคัญของการผลักดัน KOYORI 2023 อีกด้วยว่า เป้าหมายเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ในชุมชนให้เป็นของใช้ ของตกแต่ง เครื่องประดับ และเครื่องแต่งกาย – เครื่องนุ่งห่มต่างๆ ที่เข้ากับความต้องการของคนในยุคดิจิทัลให้เป็นสากลมากขึ้น มีทั้งงานผ้าทอ งานจักสาน งานหัตถกรรม งานปั้น งานเซรามิก ฯลฯ ของ 8 จังหวัดภาคเหนือ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน เชียงราย แพร่ น่าน และพะเยา

“นอกจากหนังสารคดีแล้ว เราจะยังได้เห็นผลงานหัตถศิลป์แบบฉบับล้านนาในงาน เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2567 หรือ Bangkok Design Week 2024 ตั้งแต่วันนี้ ถึง 4 กุมภาพันธ์ 2567 ตั้งแต่เวลา 09.00 – 19.00 น. ณ ห้องขาว ชั้น 3 อาคารอนุรักษ์ บริษัท ยิบอินซอย จำกัด ย่านเจริญกรุง ถนนมหาพฤฒาราม กรุงเทพฯ” รองผู้อำนวยการ CEA ปิดท้าย

นับเป็นปีที่ 4 ของการนำเสนอสารคดี ‘KOYORI หลอมรวม สืบสาน งานหัตถศิลป์ ปี 2023’ ผ่านการเล่าเรื่อง ถ่ายทอด และฉายภาพให้เห็นถึงคุณค่า ความสำคัญ และความสวยงามของศิลปหัตถกรรมแบบฉบับล้านนา รอติดตามได้ผ่าน ThaiPBS กลางปี 2567


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน