รู้จัก “มาตรฐานยูโร 5” ที่เริ่มใช้แล้วในปี 67แนวทางลดฝุ่น PM2.5 เพื่ออนาคตคนไทย
คนไทยเริ่มรู้จักกับคำว่า “ฝุ่น PM 2.5” อย่างแพร่หลายมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2562 ถ้าเป็นสมัยก่อนเราอาจคิดว่าสิ่งเหล่านี้คือหมอก หรือฝุ่นผงทั่วไป จนกระทั่งเกิดปรากฎการณ์ที่ท้องฟ้าขมุกขมัวปกคลุมหลายจุดในเมืองใหญ่ ยอดตึกสูงระฟ้าถูกปกคลุมจนมิด เป็นเหตุให้ทุกภาคส่วนตั้งแต่หน่วยงานรัฐ สื่อมวลชน และประชาชนเองต้องออกมาหาคำตอบว่าเจ้าสิ่งเหล่านี้มันคืออะไรกันแน่? นี่คือครั้งแรกที่ทำให้ประเด็นเรื่องฝุ่น PM2.5 ปรากฎอยู่บนสื่อแทบทุกแขนง จนกลายป็น “วาระแห่งชาติ” Rocket Media Lab องค์กรที่ทำงานด้านข้อมูลเพื่อการสื่อสารมวลชน ได้เปิดเผยรายงานจากRichard A. Muller นักวิจัยชาวอเมริกัน สถาบันวิจัยสภาพอากาศ Berkeley Earth ระบุว่า หากนำค่าฝุ่นเฉลี่ยในแต่ละวันของปี 2565 มาคำนวณเปรียบเทียบ จะพบว่า ในปี 2565 คนกรุงเทพฯ สูดดมฝุ่นพิษ PM2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่ ทั้งหมดจำนวน 1,224.77 มวน! เป็นที่ชัดเจนว่า นับจากปี 2562 จนถึงปี 2565 หรือแม้กระทั่งในปัจจุบัน ปัญหาฝุ่น PM2.5 ยังมีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และหากไม่มีมาตรการแก้ไขอย่างชัดเจน ปัญหานี้จะกลายเป็น “วิกฤตประจำปี” สำหรับคนไทยอย่างแน่นอน
“ภาคการขนส่ง” กับฝุ่น PM 2.5
จากข้อมูลของ Greenpeace พบว่าปัญหา PM2.5 ได้ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจทั่วโลกกว่า 70 ล้านล้านบาท โดยแหล่งที่มาของฝุ่น PM2.5 มาจากการเผาในที่โล่ง 54% ภาคอุตสาหกรรม 17% ภาคขนส่ง 13% ภาคการผลิตไฟฟ้า 8% และอื่นๆ 8%
แต่หากตรวจสอบเฉพาะ “ในเขตเมือง” จะพบว่าฝุ่น PM2.5 จะเกิดจากภาคขนส่งมากถึง 72% โดยรถบรรทุกพบมากที่สุดที่ 28% รถกระบะ 21% รถยนต์นั่ง 10% รถประจำทาง 7% รถมอเตอร์ไซค์ 5% และรถตู้ 1% สำหรับสาเหตุสำคัญของการเกิดฝุ่น PM 2.5 จากภาคขนส่ง รศ.ดร.มาโนช โลหเตปานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่ามาจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ในเครื่องยนต์รถสันดาป โดยเฉพาะรถยนต์ดีเซลที่เป็นรถเก่าและไม่ได้รับการปรับปรุง
ซึ่งหลายท่านอาจสงสัยว่าการเดินทางและขนส่งก็มีปริมาณใกล้เดิมมาตลอดทั้งปี แต่ทำไมถึงมาเป็นปัญหาในช่วงนี้นั่นก็เพราะสภาพอากาศที่ปิดในช่วงเปลี่ยนฤดู ประกอบกับสภาพการพัฒนาเมืองที่มีตึกสูงอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดสภาพอากาศปิดที่ทำให้ฝุ่นขนาดเล็กเหล่านี้ไม่สามารถระบายออกไปได้เหมือนในช่วงเวลาอื่น ๆ ของปี ดังนั้นปัญหานี้ก็จะเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีถ้าต้นเหตุเหล่านี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข
ซึ่งการแก้ปัญหา PM2.5 ในภาคขนส่งในระยะยาวจึงต้องพุ่งไปที่การยกระดับมาตรฐานเครื่องยนต์และเชื้อเพลิงโดยประเทศในยุโรปมีผลการนำไปใช้ที่ชัดเจนว่ามาตรฐานเครื่องยนต์และเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น เช่น “มาตรฐานยูโร 5” หรือ “มาตรฐานยูโร 6” สามารถลดฝุ่น PM2.5 ได้อย่างชัดเจน เนื่องจากเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ
“มาตรฐานยูโร” คืออะไร?
มาตรฐานยูโร (Euro) หรือ “Euro Emissions Standards” คือ มาตรฐานกำหนดการปล่อยมลพิษของยานพาหนะที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในการสันดาป ไม่ให้เกินค่ามาตรฐานที่กำหนด ในประเทศแถบทวีปยุโรป กำหนดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2513 แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
- มาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ “ผู้ผลิตน้ำมันเชื้อเพลิง” จำเป็นต้องคิดค้น “สูตรน้ำมัน” ให้เป็นไปตามมาตรฐานยูโรนั้น ๆ
- มาตรฐานการปล่อยไอเสียจากรถยนต์ ที่ “ผู้ผลิตรถยนต์” จะต้องพัฒนา “เครื่องยนต์” ให้ปล่อยมลพิษออกมาน้อยที่สุด
ซึ่งในกรณีของ “มาตรฐานยูโรในน้ำมันเชื้อเพลิง” มีข้อกำหนดหลักในการควบคุมปริมาณ กำมะถัน สารอะโรเมติกส์ และสารประกอบไฮโดรคาร์บอน เพื่อลดมลพิษที่เป็นสารก่อมะเร็งในเนื้อน้ำมันเชื้อเพลิง ก่อนถูกเผาไหม้ในเครื่องยนต์และปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งมีส่วนช่วยลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนได้สำหรับประเทศไทย “มาตรฐานน้ำมันยูโร 1” ถูกประกาศใช้ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2535 ควบคู่ไปกับการควบคุมการปล่อยไอเสียของรถยนต์เพื่อควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ (CO) สารไฮโดรคาร์บอน (HC) สารไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) อนุภาคและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5)
และต่อมามีการประกาศยกระดับมาตรฐานน้ำมันยูโรมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันที่มาตรฐานน้ำมันยูโร 5 ในปี พ.ศ. 2567 (ตัวเลขยูโรยิ่งมาก ยิ่งปล่อยมลพิษน้อยลง)
ทั้งนี้ การบังคับใช้มาตรฐานยูโรนั้นไม่ได้มีแต่เฉพาะประเทศแถบยุโรป สหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงประเทศในเอชียอย่างจีน สิงคโปร์ หรือมาเลเซียก็มีการบังคับใช้เช่นกัน เพราะมลภาวะทางอากาศไม่ใช่แค่ปัญหาระดับประเทศ ทวีป หรือภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่ง แต่นี่คือปัญหาระดับโลก
โดยมีข้อมูลอ้างอิงในกลุ่มประเทศยุโรป อเมริกา หรือสิงคโปร์ ว่ามีคุณภาพอากาศที่ดีขึ้นหลังจากการบังคับใช้มาตรฐานการปล่อยมลภาวะอย่างเข้มงวด
“มาตรฐานยูโร” กับประเทศไทย
มาตรฐานยูโรนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ในประเทศไทย ประเทศเรานั้นมีการยกระดับมาตรฐานน้ำมันมาโดยตลอด โดยเริ่มบังคับใช้ “มาตรฐานน้ำมันยูโร 1” ตั้งแต่ปี 2539 และล่าสุดคือมาตรฐานน้ำมันยูโร 4 ที่มีการบังคับใช้เมื่อปี 2555 หรือ 10 กว่าปีที่แล้ว ดังตารางที่ 1
การบังคับใช้มาตรฐานน้ำมันยูโร 1 – 5 ในประเทศไทย
แต่จากปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตของผู้คนในวงกว้าง คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5)” เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2562 กำหนดมาตรการป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง รวมถึงแหล่งกำเนิดจากไอเสียของยานพาหนะ
โดยกำหนดมาตรการยกระดับ “มาตรฐานการระบายมลพิษจากรถยนต์ใหม่ และ “มาตรฐานคุณภาพน้ำมัน” กลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ ที่จำหน่ายหน้าสถานีบริการ จากระดับยูโร 4 ให้เป็นยูโร 5 โดยได้ออกประกาศตั้งแต่ปี 2562 เพื่อให้ผู้ผลิตน้ำมันและผู้จำหน่ายมีระยะเวลาเตรียมตัวสำหรับมาตรฐานน้ำมันใหม่
ข้อเปรียบเทียบ
น้ำมันยูโร 4 กับ ยูโร 5 ต่างกันอย่างไร?
หากสรุปโดยง่าย ตัวเลขมาตรฐานยูโรของน้ำมันเชื้อเพลิงที่มากขึ้น หมายถึง “ปริมาณกำมะถัน (ppm) ที่น้อยลง” ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วการปรับมาตรฐานยูโร 4 เป็น 5 นั้นทำให้ค่ากำมะถันน้อยลงถึง 5 เท่า สำหรับการปรับมาตรฐานคุณภาพน้ำมันกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ จากระดับยูโร 4 เป็นยูโร 5 จะลดปริมาณกำมะถันจากเดิมที่กำหนดให้ไม่สูงกว่า 50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เป็น “ไม่สูงกว่า 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (10 ppm)” ดังแสดงในตารางที่ 2 และในกรณีของน้ำมันกลุ่มดีเซลจะต้องยกระดับมาตรฐานคุณภาพเพิ่มเติม คือลดปริมาณสารโพลีไซคลิก อะโรมาติกส์ ไฮโดรคาร์บอน (PAHs) จากไม่ให้เกิน 11% เป็นไม่ให้เกิน 8% ดังแสดงในตารางที่ 3
ตารางที่ 2 : มาตรฐานคุณภาพน้ำมัน “กลุ่มเบนซิน-แก็สโซฮอล์” ระดับยูโร 4 เป็นยูโร 5
ตารางที่ 3: มาตรฐานคุณภาพน้ำมัน “กลุ่มดีเซล” จากระดับยูโร 4 เป็นยูโร 5
โดยข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษระบุว่า ในประเทศไทยนั้นมีสัดส่วนการใช้รถยนต์มาตรฐานยูโร 3 และรถยนต์มาตรฐานยูโร 4 มากที่สุด ซึ่งเมื่อใช้น้ำมันมาตรฐานยูโร 5 จะทำให้ฝุ่น PM 2.5 ลดลงถึง 20-24%
น้ำมันมาตรฐานยูโร 5
ใช้ได้กับรถยนต์อะไรได้บ้าง?
“น้ำมันมาตรฐานยูโร 5” สามารถใช้ได้กับรถยนต์ทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่โดยไม่เกิดปัญหาเครื่องยนต์อย่างแน่นอน
แต่ในรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ก็จะมีเครื่องยนต์ที่มีมาตรฐานสูงขึ้น เพราะค่ายรถยนต์ต้องติดตั้งตัวกรองฝุ่นละอองให้ได้ตามมาตรฐานนั่นเอง
แล้วถ้าในอนาคตถ้ารถยนต์พัฒนาเป็นมาตรฐานยูโร 6 สามารถใช้น้ำมันมาตรฐานยูโร 5 ได้หรือไม่?
คำตอบคือ สามารถใช้ได้ เนื่องจากน้ำมันมาตรฐานยูโร 5 เป็นมาตรฐานน้ำมันสูงสุดที่สามารถใช้ได้กับทั้งรถยนต์มาตรฐานยูโร 5 และยูโร 6 (ข้อมูล : กระทรวงพลังงาน)
ส่วนการบังคับใช้มาตรฐานยูโร 6 ในเบื้องต้น ทางสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) มีแผนจะบังคับใช้กับรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์เบนซิน วันที่ 1 ม.ค. 2568 สำหรับการบังคับใช้มาตรฐานยูโร 6 กับรถประเภทอื่นที่เหลือ จะต้องพิจารณาดูความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจกับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสมอีกครั้ง
ผู้ผลิตน้ำมันเตรียมพร้อม
ตามมาตรการภาครัฐ
กลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กลุ่มฯ โรงกลั่นฯ) ได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดการบังคับใช้มาตรฐานน้ำมันยูโร 5 โดยใช้ระยะเวลากว่า 4 ปี และเงินลงทุนกว่า 50,000 ล้านบาท ในการปรับปรุงระบบการกลั่นและเพิ่มประสิทธิภาพหน่วยผลิตน้ำมันให้ได้ตามมาตรฐานตามข้อกำหนดของภาครัฐ ท่ามกลางความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างมากมาย โดยเฉพาะ ความผันผวนด้านราคาน้ำมัน และการเปลี่ยนผ่านรูปแบบของการใช้พลังงาน เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น
ทำให้การผลิตน้ำมันมาตรฐานยูโร 5 จะมีต้นทุนในการผลิตสูงกว่าน้ำมันมาตรฐานยูโร 4 เดิมผู้ผลิตน้ำมันจึงจำเป็นต้องปรับราคาจำหน่ายให้สะท้อนมาตรฐานคุณภาพของน้ำมันเชื้อเพลิงที่ดีขึ้น และเป็นไปในแนวทางเดียวกับตลาดน้ำมันในภูมิภาคที่เชื่อมโยงกับตลาดโลก
ทั้งนี้ การเพิ่มความเข้มงวดในมาตรฐานการปลดปล่อยมลพิษเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ย่อมต้องแลกมาด้วยต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น แต่ก็เพื่อเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหา PM2.5 ในอากาศ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของทุกคนในระยะยาว ปัญหาสั่งสมที่เราสร้าง วันนี้เราต้องช่วยกันซ่อม เพื่อที่จะส่งต่อมรดกคุณภาพอากาศให้กับลูกหลานของเราต่อไป
รูปภาพใช้ประกอบ